ประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

การชุมนุม พ.ศ. 2549

การประท้วงขับทักษิณ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุการณ์ในประเทศไทยที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2547 ในช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ 1 เมื่อมีการรวมตัวของกลุ่มคนในนาม กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์ และมีการชุมนุมปราศรัยเพื่อขับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2547 เป็นครั้งแรก และเริ่มขยายเป็นวงกว้างขึ้นเมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2548 ส่วนหนึ่งจากการนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี และขยายตัวในวงกว้างไปยังบุคคลในหลายสาขาอาชีพในเวลาต่อมา

ในการรณรงค์ขับนี้ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ในกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีลาออกก็มีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นหลาย ๆ กลุ่ม ในเรื่องกระบวนการและประเด็นในการขับ ส่วนในกลุ่มที่สนับสนุน ซึ่งประกอบด้วยประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมไปถึงกลุ่มคาราวานคนจน และขบวนรถอีแต๋นเดินทางมาจากต่างจังหวัด ก็ได้รวมตัวชุมนุมเพื่อสนับสนุนให้นายทักษิณ ชินวัตรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยปักหลักอยู่ที่สวนจตุจักร และตามจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย

ผลจากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่อดีตพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชนและพรรคชาติไทยไม่ได้ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทย ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ยังคงได้รับคะแนนเสียงข้างมาก (56.45% ในผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ[ต้องการอ้างอิง]) แต่ในหลายพื้นที่ได้เกิดปรากฏการณ์ "ไม่เอาทักษิณ" ด้วยการที่ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยได้คะแนนน้อยกว่าผู้ไม่ออกเสียงและบัตรเสีย แต่ในท้ายที่สุดการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้เป็นโมฆะ และได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549

ในวันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้มีกลุ่มเครือข่ายแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และอาจารย์มหาวิทยาลัย 43 องค์กร 11 มหาวิทยาลัย ล่าชื่อกว่า 92 คน ปลุกกระแส "ต้านทักษิณ" และออกแถลงการณ์ให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ยุติบทบาทจากการดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีทันที ซึ่งในการเสวนาโต๊ะกลมเรื่องการร่วมกันแก้ไขวิกฤตปัญหาของบ้านเมือง ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของแกนนำเครือข่ายการต่อต้าน

การประท้วงขับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สิ้นสุดลง ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากการก่อรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก่อนวันที่จะมีการชุมนุมอย่างยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายในวันที่ 20 กันยายน

การชุมนุม พ.ศ. 2551

วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 เป็นการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านพรรคพลังประชาชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2553 ซึ่งการชุมนุมยังคงมีเป้าหมายที่จะต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

หลังจากรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำรัฐบาลบริหารประเทศมาระยะเวลาหนึ่ง กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เริ่มชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม โดยการจัดสัมมนาที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และได้ประกาศชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม โดยเป็นการรวมตัวจากหลายองค์กรทั่วประเทศ ซึ่งมีจุดประสงค์ในการขับสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐบาลทั้งสองชุดถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เข้าปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อต่อรองกับนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งส่งผลให้เที่ยวบินทุกเที่ยวหยุดทำการ[35] โดยนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กล่าว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสูญเสียรายได้ไปกว่า 350 ล้านบาท นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศยังสูญเสียรายได้กว่า 25,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมความเสียหายของสายการบินต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ก่อนหน้านี้ ในเดือนสิงหาคม ผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ปิดท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานกระบี่ รวมทั้งปิดการเดินทางทางรถไฟสายใต้เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ลาออกมาแล้ว[36]

ต่อมาสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกไปจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองอย่างสงบ และกล่าวว่าการชุมนุมประท้วงกำลังทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายอย่างมาก แถลงการณ์จากเอกอัครราชทูตอียูประจำประเทศไทยยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมแก้ไข วิกฤตการณ์ทางการเมืองในไทยอย่างสันติ เคารพในกฎหมาย และสถาบันประชาธิปไตยของประเทศ และอียูเคารพสิทธิในการประท้วงและปราศจากการแทรกแซงปัญหาการเมืองภายในของไทย แต่เห็นว่าการกระทำของกลุ่มผู้ประท้วงในครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของนานาประเทศ

ภายหลังจากมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ในวันรุ่งขึ้นแกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง[37]

พ.ศ. 2553

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ อ่านแถลงการณ์จุดยืนชัดเจนต่อต้านการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง และให้พันธมิตรฯ ทั่วประเทศออกมาเคลื่อนไหวด้วย[38] ส่วนที่รัฐสภา กลุ่ม 40 ส.ว. เสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้เร่งปฏิรูปประเทศและจัดการกลุ่มเสื้อแดงอย่างเด็ดขาด[39] ต่อมาวันที่ 29 เมษายน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ พร้อมทั้งแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล และ พล.ต.จิรเดช สิทธิประณีต เลขานุการกองทัพบก ในฐานะตัวแทนผู้บัญชาการทหารบก ณ บริเวณด้านหน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งการยื่นหนังสือเพื่อต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาบ้านเมือง และเร่งรัดให้ทหารออกมาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว ส่วนในภูมิภาคจะให้เครือข่ายพันธมิตรฯ ยื่นหนังสือกดดันทหารตามหน่วยที่ตั้งพร้อมกันวันนี้ด้วย[40]

หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงแนวทางกระบวนการปรองดองแห่งชาตินั้น ทางกลุ่มพันธมิตรฯได้ออกแถลงการณ์ว่า นายกรัฐมนตรียังขาดความชัดเจน การประกาศการเลือกตั้งใหม่ถือว่าเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมหลัก นิติรัฐอย่างย่อยยับ ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้ผู้ที่สามารถจัดการกับปัญหาเข้ามาแก้ไขปัญหาต่อไป[41]

ใกล้เคียง

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พันธมิตรฟื้นฟูสาธารณรัฐ พันธมิตรหลักนอกเนโท พันธมิตรชานม พันธมิตรสายการบิน พันธมิตรแปดชาติ พันธมิตรกองทหารอิสลามต่อต้านการก่อการร้าย พันธมิตรระหว่างพรรคเสรีนิยมและพรรคชาติ พันธมิตรทางการทหารอังกฤษ-โปแลนด์ พันธมิตรการสถาปนาราชวงศ์แห่งเวียดนาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย http://www.radioaustralia.net.au/news/stories/2008... http://www.212cafe.com/boardvip/viewcomment.php?aI... http://www.bangkapi.com http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/news/655... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/618025 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/653928 http://www.bangkokpost.com/News/07Jun2008_news15.p... http://www.bangkokpost.com/breaking_news/breakingn...