ประวัติ ของ ฟรันทซ์_คัฟคา

คัฟคาเมื่ออายุได้ห้าขวบ

คัฟคาเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางชาวยิวในกรุงปรากซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรโบฮีเมียในขณะนั้น เฮอร์มันน์ บิดาของคัฟคา (ค.ศ. 1852-ค.ศ. 1931) ได้รับการบรรยายว่มี “ร่างใหญ่ เห็นแก่ตัว และเป็นนักธุรกิจผู้มีบุคลิกที่ชอบยกตนข่มท่าน”[2] คัฟคาเองบรรยายบิดาว่า “เป็นคัฟคาแท้ ผู้แข็งแกร่ง สุขภาพดี เสียงดัง สง่า หลงตัว มีอิทธิพลต่อโลก อดทน มีความรู้ดีเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์” เฮอร์มันน์เป็นบุตรชายคนที่สี่ของยาคอป คัฟคาผู้มีอาชีพเป็น “shochet” หรือคนฆ่าสัตว์ตามธรรมเนียมของยิวที่กำหนดไว้ ผู้ย้ายมาอยู่ปรากจากโอเซ็คที่เป็นหมู่บ้านที่พูดภาษาเช็กไม่ไกลจาก Písek ทางตอนใต้ของโบฮีเมีย หลังจากทำงานเป็นพนักงานเดินทางค้าขายแล้ว ยาคอปก็ตั้งร้านค้าของตนเองขายสิ่งตกแต่งฟุ่มเฟือยสำหรับบุรุษและสตรี ที่มีลูกจ้างถึง 15 คน และใช้นกแจ็คดอว์ (“jackdaw” หรือ “kavka” ในภาษาเช็ก) เป็นสัญลักษณ์ของธุรกิจ มารดาของคัฟคา จูลี (ค.ศ. 1856—ค.ศ. 1934) เป็นลูกสาวของยาคอป เลิวรีย์ผู้มีอาชีพกลั่นเบียร์ผู้มีฐานะดีใน Poděbrady และมีการศึกษาดีกว่าสามี[3]

คัฟคาเป็นลูกชายคนโตในบรรดาพี่น้องหกคน[4] โดยมีน้องชายสองคนจอร์จและไฮน์ริคผู้ที่เสียชีวิตเมื่ออายุปีครึ่งและหกเดือนตามลำดับก่อนที่คัฟคาจะอายุได้เจ็ดขวบ คัฟคามีน้องสาวสามคน กาเบรียล (“เอลลี”) (ค.ศ. 1889–ค.ศ. 1941), วาเลอรี (“วาลลิ”) (ค.ศ. 1890–ค.ศ. 1942) และ ออตติลี (“ออตลา”) (ค.ศ. 1891–ค.ศ. 1943) ระหว่างวันทำงานทั้งบิดาและมารดาต่างก็ไปทำธุรกิจ จูลีช่วยสามีบริหารธุรกิจและบางครั้งก็ทำงานถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน ทิ้งลูก ๆ ไว้ให้อยู่ในการเลี้ยงดูของครูและคนรับใช้ต่อเนื่องกันหลายคน ความสัมพันธ์ระหว่างคัฟคาและบิดาเป็นความสัมพันธ์ที่คับแค้นและกดดันที่เป็นปัญหา คัฟคาอธิบายถึงความสัมพันธ์ที่ว่านี้ในใน Letter to His Father (ไทย: จดหมายถึงพ่อ) ที่กล่าวถึงความทารุณทางจิตใจที่ได้รับจากบิดามาตั้งแต่เด็ก[ต้องการอ้างอิง]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองน้องสาวของคัฟคาพร้อมกับครอบครัวถูกส่งไปบริเวณกักกันโลดซ์ (Łódź Ghetto) และไปเสียชีวิตที่นั่นหรือในค่ายกักกัน ออตลาถูกส่งไปยังค่ายกักกันเทอเรเซียนชตัดท์ (Concentration camp Theresienstadt) แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1943 ก็ถูกส่งต่อไปยังค่ายมรณะที่เอาสชวิทซ์ ที่ออตลาพร้อมด้วยเด็กอีก 1,267 คนและผู้ดูแลอีก 51 คนถูกรมแก๊สจนเสียชีวิตในวันที่ถูกส่งตัวไปถึง[5]

การศึกษา

วังคินสคีที่คัฟคาได้รับการศึกษาขั้นมัธยม

คัฟคาเรียนภาษาเยอรมันเป็นภาษาเอก แต่ก็สามารถพูดภาษาเช็กได้อย่างคล่องแคล่ว ต่อมาคัฟคาก็เรียนภาษาฝรั่งเศสและวัฒนธรรม นักเขียนที่คัฟคาชื่นชมขณะนั้นคือกุสตาฟ ฟลอแบรต์ ระหว่างปี ค.ศ. 1889 ถึง ค.ศ. 1893 คัฟคาก็เข้าศึกษาในโรงเรียนประถมเยอรมันสำหรับเด็กชายที่ตลาดขายเนื้อที่ปัจจุบันคือถนนมาสนา การศึกษาทางด้านศาสนายูดายจำกัดอยู่แต่เพียงการทำพิธี “พิธีบาร์มิทซาห์” (Bar and Bat Mitzvah) ซึ่งเป็นพิธีฉลองเมื่ออายุครบ 13 ปี และการไปซินากอกปีละสี่ครั้งกับพ่อซึ่งคัฟคาก็ไม่ชอบทำ[6] หลังจากการศึกษาขั้นประถมแล้วคัฟคาก็เข้าศึกษาขั้นมัธยมต่อที่ Altstädter Deutsches Gymnasium (โรงเรียนเตรียมอุดมเยอรมันในเมืองเก่า) ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับแปดซึ่งใช้ภาษาเยอรมันในการสอน และเข้าสอบในปี ค.ศ. 1901

หลังจากนั้นคัฟคาก็เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยชาร์ลส์-เฟอร์ดินานด์ในกรุงปรากโดยเริ่มด้วยการศึกษาวิชาเคมี แต่ก็มาเปลี่ยนสาขาเป็นกฎหมาย ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่มีทางหากินได้หลายอาชีพ และนำความพอใจให้แก่บิดา นอกจากนั้นก็ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ศึกษาภาษาเยอรมันและประวัติศาสตร์ศิลปะเพิ่มขึ้น ระหว่างที่เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยคัฟคาก็เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม Lese- und Redehalle der Deutschen Studenten (สมาคมการอ่านและการพูดของนักศึกษาเยอรมัน) ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดกิจกรรมเกี่ยวกับวรรณกรรม การอ่าน และอื่น ๆ ในปลายปีแรกของการศึกษาคัฟคาก็พบแม็กซ์ โบรด (Max Brod) ผู้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทของคัฟคาต่อมาจนตลอดชีวิต และนักหนังสือพิมพ์ฟีลิกซ์ เวลท์ช (Felix Weltsch) ผู้ก็ศึกษากฎหมายเช่นเดียวกับคัฟคา ในที่สุดคัฟคาก็ได้ปริญญาทางกฎหมายเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1906 หลังจากนั้นก็รับหน้าที่เป็นทนายฝึกในศาลแพ่งและศาลอาญาโดยไม่มีเงินเดือนอยู่ปีหนึ่งตามระเบียบ[1]

งานอาชีพ

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1907 คัฟคาก็ได้รับการจ้างโดยบริษัทประกันภัยอิตาลีใหญ่อัสซิคูราซิโอนิ เจเนราลิ (Assicurazioni Generali) ให้ทำงานอยู่ปีหนึ่ง การติดต่อทางจดหมายในช่วงระยะเวลานี้แสดงให้เห็นถึงความไม่มีความสุขเกี่ยวกับเวลาทำงาน—ระหว่าง 8 นาฬิกาในตอนเช้าไปจนถึงหกนาฬิกาในตอนเย็น—ซึ่งคัฟคากล่าวว่าเป็นช่วงที่ยากต่อการมีสมาธิในการทำงาน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1908 คัฟคาก็ลาออก สองอาทิตย์ต่อมาก็ได้งานใหม่ที่เหมาะสมกว่ากับสถาบันประกันอุบัติเหตุสำหรับคนงานแห่งราชอาณาจักรโบฮีเมีย บิดามักจะกล่าวถึงงานในฐานะเจ้าหน้าที่ประกันภัยว่าเป็น “Brotberuf” (“งานขนมปัง”) ที่หมายถึงงานที่ทำเพื่อชำระหนี้ แม้ว่าจะอ้างว่าเกลียดงานที่ทำแต่คัฟคาก็เป็นพนักงานผู้มีความอุตาสาหะและมีความสามารถ นอกจากนั้นก็ยังได้รับหน้าที่ให้รวบรวมรายงานประจำปี เท่าที่ทราบก็ดูจะมีความภูมิใจในผลงานพอที่จะส่งไปให้เพื่อนและญาติพี่น้องชื่นชม ในขณะเดียวกันคัฟคาก็เริ่มงานเขียนวรรณกรรม คัฟคาและเพื่อนสนิทอีกสองคนแม็กซ์ โบรด และ ฟีลิกซ์ เวลท์ช เรียกตัวเองว่า “Der enge Prager Kreis” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชมรม “ชมรมปราก” (Prague Circle) ซึ่งเป็น “ชมรมนักเขียนชาวยิว-เยอรมันผู้มีความใกล้ชิดกันที่รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ เพื่อสร้างงานทางศิลปะบนแผ่นดินอันรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของปราก ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1880 จนกระทั่งถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง”[7]

ในปี ค.ศ. 1911 คาร์ล เฮอร์มันน์สามีของเอลลิน้องสาวก็เสนอให้คัฟคาเข้าร่วมในการบริหารโรงงานแอสเบสโทส ที่เรียกว่าบริษัทงานแอสเบสโทสเฮอร์มันน์ ในระยะแรกคัฟคาก็ดูท่าว่าจะมีทัศนคติดีต่องานและอุทิศเวลาว่างให้กับธุรกิจ ในช่วงเดียวกันนั้นก็เริ่มมีความสนใจการเป็นนักแสดงในโรงละครยิดดิชแม้ว่าแม็กซ์ โบรดผู้ตามปกติแล้วสนับสนุนทุกอย่างที่คัฟคาทำจะไม่เห็นด้วย นอกจากนั้นการแสดงก็ยังเป็นจุดเริ่มของความสัมพันธ์กับศาสนายูดายของคัฟคาที่เพิ่มมากขึ้น[8]

ปีต่อ ๆ มา

ก่อน ค.ศ. 1924

ในปี ค.ศ. 1912 คัฟคาพบเฟลิส เบาเออร์ผู้พำนักอยู่ที่เบอร์ลินและทำงานเป็นผู้แทนของบริษัทเครื่องบันทึกคำบอก (dictaphone) ที่บ้านของแม็กซ์ โบรด ในช่วงห้าปีต่อมาคัฟคาและเฟลิสก็เขียนจดหมายติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ และหมั้นกันสองครั้ง แต่ความสัมพันธ์ก็มาสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1917

ในปี ค.ศ. 1917 คัฟคาก็เริ่มป่วยด้วยวัณโรคซึ่งทำให้ต้องได้รับการรักษาตัวบ่อยครั้งโดยการสนับสนุนของครอบครัว โดยเฉพาะจากน้องสาวออตลา แม้ว่าจะหวาดระแวงว่าผู้คนจะรู้สึกว่าเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจทางสุขภาพและทางจิตใจ แต่คัฟคาก็สร้างความประทับใจให้แก่ผู้อื่นในความเยาว์ ความเรียบร้อย หน้าตาที่คมขำ สุขุมและท่าทางใจเย็น เฉลียวฉลาดอย่างเห็นได้ชัด และอารมณ์ขันแบบหน้าตาย[9]

ในปี ค.ศ. 1921 คัฟคาก็มีความสัมพันธ์อย่างจริงจังกับนักวรสารนักเขียนชาวเช็กเมลินา เยเซนสคา (Milena Jesenská) ในเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 1923 เมื่อไปพักร้อนที่ Graal-Müritz บนฝั่งทะเลบอลติคคัฟคาก็พบดอรา ดิอามันท์ (Dora Diamant) และย้ายไปเบอร์ลินอยู่ชั่วระยะหนึ่ง โดยหวังที่จะไปอยู่ห่างจากครอบครัวที่มีอิทธิพลต่องานเขียนที่ทำ ในเบอร์ลินคัฟคาก็อาศัยอยู่กับดิอามันท์ ครูโรงเรียนอนุบาลอายุ 25 ปีที่มาจากครอบครัวยิวออร์โธด็อกซ์ ผู้มีเสรีภาพพอที่หนีจากอดีตของเขตเก็ตโต (ghetto) ได้ ดิอามันท์กลายมาเป็นคนรักและผู้มีอิทธิพลต่อความสนใจในคัมภีร์ทาลมุด (Talmud) ของคัฟคา[10]

โดยทั่วไปแล้วก็เชื่อกันว่าคัฟคาได้รับความทรมานจากโรคซึมเศร้าและ ความกังวลต่อความคิดของสังคม (social anxiety) ตลอดชีวิต[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนั้นแล้วก็ยังได้รับความทรมานจากไมเกรน (migraine), โรคนอนไม่หลับ (insomnia), ท้องผูก, เป็นหนอง และ โรคภัยอื่น ๆ ซึ่งเกิดจากความกดดันในชีวิต คัฟคาพยายามแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด แต่อาการวัณโรคกลับร้ายแรงขึ้นอีก เมื่อกลับมาถึงปรากคัฟคาก็เดินทางไปรักษาที่สถานบำบัด (sanatorium) ของนายแพทย์ฮอฟฟ์มันน์ในเคียร์ลิงไม่ไกลจากเวียนนาเพื่อรับการรักษา ซึ่งเป็นที่ที่คัฟคาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1924 จากความอดอยาก เพราะอาการของวัณโรคมีผลต่อคอหอยและทำให้มีความเจ็บปวดเกินกว่าที่จะกินอะไรลง ในสมัยนั้นยังไม่มีการใช้โภชนาบำบัด (parenteral nutrition) ฉะนั้นจึงไม่มีวิธีใดที่จะให้อาหารคัฟคาได้ ร่างของคัฟคาถูกนำกลับมายังกรุงปรากและได้รับการฝังเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1924 ในสุสานชาวยิวใหม่ (บริเวณ 21, แถวที่ 14, หมายเลข 33) ใน Prague-Žižkov

ใกล้เคียง

ฟรันทซ์ คัฟคา ฟรันทซ์ เบ็คเคินเบาเออร์ ฟรันทซ์ ชูเบิร์ท ฟรันทซ์ โวลฟาร์ท ฟรันท์เช็สคา ฟ็อน ทึสเซิน-โบร์แนมิสซอ ฟรันทซ์ มาร์ค ฟรันท์ซิสคา แพร์ ฟรันทซ์ ลิสท์ ฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน ฟรันทซ์ กริลพาร์ทเซอร์

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฟรันทซ์_คัฟคา http://www.alicewhittenburg.com/kafka_prague/kafka... http://www.atlegerhardsen.com/pages/lothar_hempel/... http://www.coskunfineart.com/details.asp?workID=40 http://victorian.fortunecity.com/vermeer/287/judai... http://www.haaretz.com/hasen/spages/1040561.html http://www.imdb.com/name/nm0434525/ http://www.imdb.com/title/tt0074561/ http://www.imdb.com/title/tt0076389/ http://www.imdb.com/title/tt0093530/ http://www.imdb.com/title/tt0120075/