อาชีพทางวรรณกรรม ของ ฟรันทซ์_คัฟคา

หลุมศพของคัฟคาที่ Žižkov

งานเขียนของคัฟคาไม่ได้รับความสนใจจนกระทั่งเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่เรื่องสั้นของคัฟคาเพียงสองสามเรื่องเท่านั้นที่ได้รับการตีพิมพ์ และนวนิยายที่เขียนก็เขียนไม่จบนอกจาก กลาย ซึ่งบางท่านก็ถือว่าเป็นนวนิยายขนาดสั้น ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิตคัฟคาเขียนจดหมายไปถึงเพื่อนและผู้จัดการสมบัติวรรณกรรม (literary executor) แม็กซ์ โบรด: “แม็กซ์ที่รักยิ่ง, คำขอสุดท้าย: ทุกอย่างที่ผมทิ้งไว้ข้างหลัง... ในกรณีของอนุทิน, งานเขียน, จดหมาย (ของผมเองและของผู้อื่น), ร่าง และ อื่น ๆ ขอให้เผาโดยไม่ให้อ่าน”[13] แต่โบรดก็มิได้ทำตามความประสงค์ของคัฟคา โดยเชื่อว่าคัฟคาสั่งไว้เพราะเชื่อว่าโบรดจะไม่ทำตามคำสั่ง—ซึ่งโบรดก็บอกคัฟคาดังว่า ดอรา ดิอามันท์คนรักของคัฟคาก็เช่นกันไม่สนใจความประสงค์ของคัฟคา โดยเก็บสมุดบันทึกไว้ 20 เล่ม และจดหมายอีก 35 ฉบับไว้อย่างลับ ๆ จนเมื่อถูกยึดโดยเกสตาโป (Gestapo) ในปี ค.ศ. 1933 ในปัจจุบันการพยายามหางานที่หายไปของคัฟคาก็คงดำเนินอยู่ต่อไปทั่วโลก นอกจากจะไม่ได้เผางานตามที่สั่งแล้วโบรดก็ยังเป็นผู้ควบคุมดูแลการตีพิมพ์งานของคัฟคาเกือบทุกชิ้นที่เป็นเจ้าของ ซึ่งไม่นานก็กลายเป็นที่สนใจกันอย่างจริงจัง และการวิพากษ์ที่ให้การสรรเสริญอย่างสูง

งานที่ตีพิมพ์ทั้งหมดนอกจากจดหมายที่เขียนเป็นภาษาเช็กถึง Milena Jesenská ก็เขียนเป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด

ลักษณะการเขียน

คัฟคามักจะใช้ลักษณะพิเศษของภาษาเยอรมันอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นในการใช้ประโยคที่ยาวที่บางครั้งประโยคเดียวก็อาจจะยาวทั้งหน้า และคัฟคาจะหยอดความคิดอันไม่คาดมาก่อนตอนในตอนสุดท้ายก่อนที่จะจบประโยค—ซึ่งเป็นความคิดสรุปและเป็นหัวใจของประโยค การที่สามารถทำเช่นนี้ได้ก็เพราะโครงสร้างของภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่วางคำกิริยาในตำแหน่งสุดท้ายของประโยค โครงสร้างของประโยคเช่นที่ว่านี้ไม่สามารถทำได้ในภาษาอังกฤษ ซึ่งทำให้ความหมายของประโยคขึ้นอยู่กับผู้แปลในการพยายามหาวิธีสร้างประโยคที่สื่อความหมายให้ใกล้เคียงกับประโยคต้นฉบับที่คัฟคาเขียนในภาษาเยอรมัน[14] การแปลงานของคัฟคาจึงมักจะทำได้แต่เนื้อหาบางส่วน แต่การถ่ายทอดในด้านอรรถรสของภาษาและลักษณะการเขียนของคัฟคาเป็นภาษาอื่นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

ปัญหาอีกปัญหาหนี่งที่ยากต่อการแก้ที่ผู้แปลต้องประสบคือการใช้คำหรือวลีของคัฟคาที่จงใจจะให้กำกวมที่มีความหมายหลายอย่าง เช่นในประโยคแรกของ กลาย

"Als Gregor Samsa eines Morgens aus unruhigen Träumen erwachte, fand er sich in seinem Bett zu einem ungeheueren Ungeziefer verwandelt.

ที่มาแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า

As Gregor Samsa awoke one morning from uneasy dreams he found himself transformed in his bed into a gigantic vermin.

ซึ่งนักวิพากษ์กล่าวว่าภาษาอังกฤษที่แปลมาไม่ตรงกับความหมายในภาษาเยอรมันเท่าใดนักเพราะคำว่า “Ungeziefer” ตามความเห็นของคัฟคามิได้มีความตรงตัวตามตัวอักษรในพจนานุกรม หรือการวางคำกิริยาสำคัญ “verwandelt” ไว้ท้ายประโยคซึ่งไม่สามารถจะทำได้ในภาษาอังกฤษ

อีกตัวอย่างหนึ่งของคำที่มีความหมายสองแง่คือการใช้คำนาม “Verkehr” ในประโยคสุดท้ายของ The Judgment คำว่า “Verkehr” ตามตัวอักษรในกรณีนี้แปลว่า “intercourse” (การร่วมเพศ) ซึ่งเช่นเดียวกับในภาษาอังกฤษอาจจะเป็นความหมายที่อาจจะใช้สำหรับทางเพศหรือไม่ใช่ทางเพศก็ได้ นอกจากนั้นก็ยังแปลว่าการจราจรได้ ประโยคนี้มาแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "At that moment an unending stream of traffic crossed over the bridge."[15] สิ่งที่ทำให้มีน้ำหนักว่าคำว่า “Verkehr” มีความหมายสองแง่มาจากคำสารภาพของคัฟคาเองกับโบรดว่าเมื่อเขียนประโยคสุดท้าย ตนเองกำลังคิดถึง "a violent ejaculation" (การหลั่งน้ำอสุจิอันรุนแรง)[16] ในการแปลเป็นภาษาอังกฤษก็มีทางเดียวที่จะแปล 'Verkehr' ได้ก็แต่แปลเป็น "การจราจร?"[17]

การตีความหมาย

อนุสาวรีย์สัมริดของคัฟคาในกรุงปราก

นักวิพากษ์วรรณกรรมได้ตีความหมายของงานของคัฟคาในบริบทของตระกูลวรรณกรรมหลายตระกูลเช่นสมัยใหม่นิยม (Modernism) สัจจะนิยมเวทมนตร์ (Magical realism) และอื่น ๆ [18] งานเขียนของคัฟคาแทรกซึมไปด้วยความสิ้นหวังและความเกินเลยอย่างเห็นได้ชัด และถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของอัตถิภาวนิยม (existentialism) นักวิพากษ์บางคนพบอิทธิพลของลัทธิมาร์กซในงานเขียนที่เสียดสีระบบงานเช่น In the Penal Colony, The Trial และ The Castle,[18] ขณะที่นักวิพากษ์อื่นชี้ให้เห็นถึงปรัชญาอนาธิปไตยที่เป็นบ่อเกิดของทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบบงาน (anti-bureaucratic viewpoint) ส่วนนักวิพากษ์บางคนก็ตีความหมายไปจากมุมมองของศาสนายูดาย หรือบ้างก็จากมุมมองจากปรัชญาฟรอยด์ (Freudianism)[18] จากการที่คัฟคามีความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งกับครอบครัว หรือบ้างก็จากมุมมองของอุปมานิทัศน์ของการแสวงหาพระเจ้า

อีกหัวเรื่องหนึ่งที่แทรกซึมในงานของคัฟคาอย่างสม่ำเสมอคือความเป็นคนนอก (alienation) และการเป็นเหยื่อของการถูกทำร้าย (persecution) และการเน้นคุณลักษณะนี้ในงานของมาร์ธ โรเบิร์ตทำให้การวิจารณ์โต้โดยกิลเลส เดอลูซ (Gilles Deleuze) และ ฟีลิกซ์ กัวต์ตารี (Felix Guattari) ผู้โต้ใน Kafka:Toward a Minor Literature ว่าคุณค่าของคัฟคามีมากกว่าการที่จะสรุปกันอย่างง่าย ๆ ว่าเป็นผู้ที่มีบุคคลิกเป็นคนโดดเดี่ยวที่สร้างผลงานจากความทรมานทางใจ เพราะเมื่อพิจารณาแล้วงานของคัฟคาเป็นงานที่จงใจ แฝงนัย และ มี “ความซุกซน” (joyful) มากกว่าที่มองเห็นกันอย่างเผิน ๆ ได้

นอกจากนั้นการอ่านงานของคัฟคาเพียงอย่างเดียว—ที่เน้นความขาดความสำเร็จของตัวละครในการต่อสู้ โดยไม่ทราบอิทธิจากงานศึกษาชีวิตของคัฟคา—ก็จะทำให้ผู้อ่านเห็นถึงอารมณ์ขันของคัฟคา งานของคัฟคาเมื่อมองอีกแง่หนึ่งจึงมิใช่งานเขียนที่สะท้อนภาวะการดิ้นรนของตนเองแต่เป็นการสะท้อนการคิดค้นการดิ้นรนต่อสู้ของมนุษย์โดยทั่วไป

นักเขียนชีวประวัติกล่าวว่าคัฟคามักจะอ่านบทจากงานที่กำลังเขียนให้เพื่อนสนิทฟัง และการอ่านก็มักจะเน้นด้านที่มีอารมณ์ขันของงานเขียน มิลาน คุนเดอรากล่าวถึงอารมณ์ขันเชิงเหนือจริงที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของงานของคัฟคาที่เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นต่อมาเช่นเฟเดอริโก เฟลลินี, กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, คาร์ลอส ฟวยเอนเทส และ ซัลมัน รัชดี สำหรับกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ผู้กล่าวว่าการอ่าน กลาย ทำให้เห็นว่าการเขียน “สามารถทำได้หลายวิธี”

งานเขียน

จดหมายถึงพ่อ

งานของคัฟคาส่วนใหญ่เป็นงานที่เขียนไม่เสร็จ หรือ เป็นงานที่มาทำให้พิมพ์ได้โดยโบรดหลังจากคัฟคาเสียชีวิตไปแล้ว นวนิยาย The Castle (ซึ่งหยุดเขียนกลางประโยคและมีเนื้อหาที่กำกวม), The Trial (บทมีได้เรียงลำดับและบางบทก็เขียนไม่เสร็จ) และ Amerika (ชื่อเดิมที่คัฟคาตั้ง The Man who Disappeared) ต่างก็เป็นงานเขียนที่โบรดมาเตรียมพิมพ์ภายหลัง ซึ่งโบรดก็ถือโอกาสในการจัดรูปแบบที่รวมทั้งการวางบทใหม่ การเปลี่ยนภาษา และการแก้เครื่องหมายวรรคตอน ฉะนั้นงานของคัฟคาในภาษาเยอรมันจึงเป็นงานที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะได้รับการตีพิมพ์ งานที่เตรียมโดยโบรดมักจะเรียกว่า “Definitive Editions”

จากบันทึกของสำนักพิมพ์[19]สำหรับ The Castle,[20] มาลคอล์ม เพสลีย์ (Malcolm Pasley) สามารถนำบทเขียนเดิมของคัฟคาได้เกือบทั้งหมดมายังหอสมุดบอดเลียน (Bodleian Library) ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้ในปี ค.ศ. 1961 ต่อมา The Trial ก็ซื้อจากการประมูลและเก็บไว้ที่หอสมุด[21] ที่มาร์บาคในเยอรมนี[22]

ต่อมาเพสลีย์เป็นผู้นำของคณะบรรณาธิการผู้สร้างนวนิยายในภาษาเยอรมันใหม่และได้รับการพิมพ์โดย S. Fischer Verlag[23] เพสลีย์เป็นบรรณาธิการของ Das Schloß (The Castle) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1982 และ Der Proceß (The Trial) ใน ค.ศ. 1990 โยสต์ ชิลเลอไมท์เป็นบรรณาธิการของ Der Verschollene (Amerika) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1983 งานที่เตรียมโดยบรรณาธิการชุดนี้เรียกว่า “Critical Editions” หรือ “Fischer Editions” งานเขียนในภาษาเยอรมันชุดนี้ และงานเขียนอื่นของคัฟคาสามารถพบออนไลน์ที่ “โครงการคัฟคา”[24]

โครงการคัฟคาอีกโครงการหนึ่งเป็นโครงการของมหาวิทยาลัยแซนดิเอโกสเตทที่เริ่มในปี ค.ศ. 1998 ที่มีจุดประสงค์ในการเสาะหางานเขียนสุดท้ายของคัฟคา ที่เป็นสมุดบันทึกไว้ 20 เล่ม และจดหมายอีก 35 ฉบับที่ดอรา ดิอามันท์ (ต่อมาดอรา ดิอามันท์-ลาสค์) เก็บไว้อย่างลับ ๆ ก่อนที่จะถูกยึดไปโดยเกสตาโปในปี ค.ศ. 1933 ภายในสี่เดือนโครงการคัฟคาก็พบคำสั่งยึดและเอกสารสำคัญอื่น ๆ ในหอเก็บเอกสารของรัฐบาลในปี ค.ศ. 1998 ในปี ค.ศ. 2003 โครงการคัฟคาก็พบจดหมายต้นฉบับของคัฟคาสามฉบับที่เขียนในปี ค.ศ. 1923 บนพื้นฐานของโครงการแสวงหางานเขียนของคัฟคาที่ก่อตั้งขึ้นโดยแม็กซ์ โบรดและเคลาส วาเก็นบาคในกลางคริสต์ทศวรรษ 1950 โครงการคัฟคามีคณะกรรมการ และ ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและนักค้นคว้าจากทั่วโลก และยังแสวงหาอาสาสมัครเพื่อช่วยในการแก้ปริศนา[25]

ในปี ค.ศ. 2008 นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญเรื่องคัฟคาเจมส์ ฮอว์สกล่าวหาว่านักวิชาการปิดบังรายละเอียดเกี่ยวกับนิตยสารทางเพศที่คัฟคาเป็นสมาชิกเพื่อพยายามรักษาภาพพจน์ของคัฟคาว่าเป็น ผู้อยู่ในวงนอกผู้บริสุทธิ์[26]

การแปลงานของคัฟคา

แหล่งข้อมูลของการแปลงานของคัฟคามีด้วยกันสองแห่งที่ใช้ภาษาเยอรมันสองฉบับ งานแปลเป็นภาษาอังกฤษในระยะแรกทำโดยเอ็ดวิน มิยัวร์ (Edwin Muir) และ วิลลา มิยัวร์และพิมพโดยสำนักพิมพ์อัลเฟรด เอ. คนอฟ หนังสือแปลฉบับนี้ตีพิมพ์กันอย่างแพร่หลายในการตอบรับความนิยมในงานของคัฟคาในปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 ในสหรัฐอเมริกา รุ่นต่อมา (โดยเฉพาะฉบับ ค.ศ. 1954) มีบทเขียนที่ถูกลบออกไปจากรุ่นแรกที่แปลเพิ่มเข้ามาด้วย รุ่นนี้แปลโดยไอท์เนอร์ วิลคินส (Eithne Wilkins) และ เอิร์นสท ไคเซอร์ (Ernst Kaiser) งานรุ่นนี้เรียกว่า “Definitive Editions” การแปลรุ่นนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ามีหลายจุดที่ไม่เป็นกลางและในการตีความหมายจะกำกัดวันเดือนปี

หลังจากมาลคอล์ม เพสลีย์และชิลเลอไมท์รวบรวมบทเขียนเป็นภาษาเยอรมันเสร็จและพิมพ์ การแปลรุ่นนี้เรียกว่า “Critical Editions” หรือ “Fischer Editions” รุ่นนี้แปลจากบทเขียนที่เรียบเรียงใหม่ที่ใกล้เคียงกับงานเขียนต้นฉบับของคัฟคาเอง

ใกล้เคียง

ฟรันทซ์ คัฟคา ฟรันทซ์ เบ็คเคินเบาเออร์ ฟรันทซ์ ชูเบิร์ท ฟรันทซ์ โวลฟาร์ท ฟรันท์เช็สคา ฟ็อน ทึสเซิน-โบร์แนมิสซอ ฟรันทซ์ มาร์ค ฟรันท์ซิสคา แพร์ ฟรันทซ์ ลิสท์ ฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน ฟรันทซ์ กริลพาร์ทเซอร์

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฟรันทซ์_คัฟคา http://www.alicewhittenburg.com/kafka_prague/kafka... http://www.atlegerhardsen.com/pages/lothar_hempel/... http://www.coskunfineart.com/details.asp?workID=40 http://victorian.fortunecity.com/vermeer/287/judai... http://www.haaretz.com/hasen/spages/1040561.html http://www.imdb.com/name/nm0434525/ http://www.imdb.com/title/tt0074561/ http://www.imdb.com/title/tt0076389/ http://www.imdb.com/title/tt0093530/ http://www.imdb.com/title/tt0120075/