ประวัติ ของ ฟอง_สิทธิธรรม

ฟอง สิทธิธรรม เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จากนั้นไปเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจนจบชั้น ม.8 จากนั้นได้เรียนต่อจนจบวิชาครู ป.ม. หลังจบการศึกษานายฟอง ได้เข้ารับราชการครูที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นครูใหญ่โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ในระหว่างปี พ.ศ. 2478 - 2479[2] และในปีนั้นเองเขาได้เปลี่ยนเส้นทางการทำงานโดยการสอบเป็นจ่าศาลสวรรคโลก ได้เพียงปีเดียวก็ลาออกจากราชการ เพื่อทำงานการเมือง[3]

ฟอง สิทธิธรรม ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีครั้งแรก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2480 และได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องในการเลือกตั้งอีก 3 ครั้งต่อมา คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2481 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มกราคม พ.ศ. 2489 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2491

ในปี พ.ศ. 2489 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์[4] และเป็นรัฐมนตรีอีกครั้งในปี พ.ศ. 2491

ในปี พ.ศ. 2491 เขาถูกกล่าวหาว่ารวมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย พร้อมกับ ส.ส.อีสานหลายคน เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ แต่ทั้งหมดไม่ถูกดำเนินคดี เนื่องจากไม่มีหลักฐาน ซึ่งนำไปสู่คดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492[5]

ฟอง สิทธิธรรม กลับมาได้รับเลือกตั้งอีก 3 ครั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ธันวาคม พ.ศ. 2500 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2512 สังกัดพรรคแนวประชาธิปไตย

ฟอง สิทธิธรรม เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสิทธิธรรมศาสตร์ศิลป์[3] ซึ่งในปี พ.ศ. 2517 มีการจัดตั้งพรรคสังคมประชาธรรม ขึ้น และใช้โรงเรียนแห่งนี้เป็นสำนักงานของพรรค[6]

บั้นปลายชีวิตนายฟอง ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา โดยมีฉายาว่า "ชินภูมิปตฺถโน ภิกขุ" และมรณภาพในปี พ.ศ. 2524[3][7]