เขตสายตาที่เกี่ยวข้อง ของ ภาวะไม่รู้ความเคลื่อนไหว

เขตสายตาสองเขตที่เกี่ยวข้องในการประมวลผลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวก็คือ เขตสายตา V5 และ เขตสายตา V1 เขตสองเขตนี้มีหน้าที่ต่างๆ กัน[10] ถ้าแบ่งเขตในสมองออกโดยกิจ เขตโดยกิจ ก็คือ นิวรอนเซตหนึ่งที่มีการกระตุ้นและการเลือกตัวกระตุ้นที่เหมือนกัน คือมีการตอบสนองต่อตัวกระตุ้นโดยพฤติกรรมแบบเดียวกันนั่นเอง[11] มีเขตที่มีกิจเฉพาะอย่างในคอร์เทกซ์สายตาถึง 30 เขตที่ค้นพบแล้ว[12]

เขตสายตา V5

เขตสายตา V5 หรือที่รู้จักกันว่า เขตสายตา MT อยู่ทางด้านข้างและด้านล่างของสมองกลีบขมับ ใกล้จุดเชื่อมของส่วนที่ยื่นขึ้นของร่องกลีบขมับด้านล่าง (inferior temporal sulcus) และ ร่องกลีบท้ายทอยด้านข้าง (lateral occipital sulcus) เซลล์ประสาททั้งหมดใน V5 เลือกตัวกระตุ้นโดยความเคลื่อนไหว และโดยมากเลือกความเคลื่อนไหวที่มีทิศทางเฉพาะ[1] หลักฐานของกิจเฉพาะของ V5 พบครั้งแรกในไพรเมต[2] รอยโรคหรือการระงับการทำงานของ V5 ทำให้เกิดภาวะบอดความเคลื่อนไหว

เขตสายตา V1

V1 หรือที่รู้จักกันว่าคอร์เทกซ์สายตาขั้นปฐม เป็นส่วนเดียวกับเขตบร็อดแมนน์ 17 ความสามารถในการประมวลข้อมูลทางสายตาของ V1 เป็นที่รู้จักกันดี แต่ว่า ในปัจจุบัน เป็นที่รู้กันว่า V1 ไม่ใช่เป็นทางเข้าทางประสาททางเดียวที่นำไปสู่การรับรู้คือการเห็นในคอร์เทกซ์[8] ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลทางตาที่เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวสามารถเดินทางไปถึง V5 ได้โดยไม่ต้องผ่าน V1 และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสัญญาณป้อนกลับจาก V5 ไปสู่ V1 เพื่อเห็นความเคลื่อนไหวแบบง่ายๆ[8] สัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเดินทางไปถึง V1 (60–70 มิลลิวินาที) and V5 (< 30 มิลลิวินาที) รวดเร็วไม่เท่ากัน โดยที่ V5 มีการทำงานที่เป็นอิสระจาก V1[8]

คนไข้ภาวะเห็นทั้งบอดมีความเสียหายใน V1 แต่เพราะว่า V5 ไม่มีความเสียหาย คนไข้ยังสามารถมีความรู้สึกต่อความเคลื่อนไหวทั้งๆ ที่ไม่มีการรับรู้[12](คือว่าคนไข้แจ้งว่าไม่เห็นอะไรแต่กลับมีพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวนั้น) นั่นก็คือ การระงับการทำงานของ V1 จำกัดการเห็นความเคลื่อนไหว แต่ไม่ได้ระงับโดยสิ้นเชิง[8]

ทางสัญญาณด้านล่างและด้านหลัง

ทฤษฎีอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการจัดระเบียบของสมองที่เอื้ออำนวยการเห็น ก็คือ สมมุติฐานทางสัญญาณสองทาง ซึ่งประกอบด้วยทางสัญญาณด้านล่างสำหรับการเห็น และทางสัญญาณด้านหลังสำหรับการการกระทำ (เช่นการหยิบจับหรือการคว้าจับ) มีการเสนอว่า เขตสายตา V5 ส่งสัญญาณให้กับทางสัญญาณทั้งสองคือเพื่อการเห็นและเพื่อการกระทำ[3][4]

ใกล้เคียง

ภาวะไม่รู้ใบหน้า ภาวะไม่รู้ความเคลื่อนไหว ภาวะไข้สูง ภาวะไม่ทนต่อแล็กโทส ภาวะไม่มีการสร้างของระบบท่อมุลเลอเรียน ภาวะไม่มีแกมมาโกลบูลินในเลือดที่ถ่ายทอดทางโครโมโซมเพศ ภาวะไม่ทนต่อฟรุกโทสกรรมพันธุ์ ภาวะไตเสื่อมมีน้ำคั่ง ภาวะไม่รู้ ภาวะไตวาย