ประวัติ ของ ภาษาคุชราต

ภาษาคุชราตเป็นภาษากลุ่มอินโด-อารยันสมัยใหม่ที่พัฒนามาจากภาษาสันสกฤตโดยทั่วไปแบ่งภาษาในกลุ่มนี้ออกเป็น 3 กลุ่มตามระยะเวลาคือ

  1. ภาษากลุ่มอินโด-อารยันโบราณ ได้แก่ภาษาพระเวทและภาษาสันสกฤตคลาสสิก
  2. ภาษากลุ่มอินโด-อารยันยุคกลางได้แก่ภาษาปรากฤตสำเนียงต่างๆ และภาษาอปพราหมศัส
  3. ภาษากลุ่มอินโด-อารยันสมัยใหม่ เช่น ภาษาฮินดี ภาษาปัญจาบ ภาษาเบงกอล

จากทั้งสามกลุ่มที่กล่าวมา ภาษาคุชราตมีพัฒนาการแยกจากภาษากลุ่มอินโด-อารยันอื่นๆเป็น 4 ขั้นตอนด้วยกันคือ

  1. ภาษากลุ่มอินโด-อารยันแยกเป็นกลุ่มเหนือ กลุ่มตะวันออกและตะวันตกขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงลักษณะ เช่นเปลี่ยนเสียงกักเป็นเสียงก้องในกลุ่มเหนือ (ภาษาสันสกฤต ทันตะ เป็นภาษาปัญจาบ ทานต์) และเสียงจากฟันและเสียงม้วนลิ้นรวมกับเสียงเพดานแข็ง (เช่น ภาษาสันสกฤต สันธยา เป็น ภาษาเบงกอล สาฌ)
  2. กลุ่มตะวันตกแยกเป็นกลุ่มกลางและกลุ่มใต้
  3. กลุ่มกลางแยกเป็นภาษาคุชราต/ราชสถาน ภาษาฮินดีตะวันตก และภาษาปัญจาบ/ลหันทะ/สินธี ตามลักษณะการเปลี่ยนกริยาช่วยและปรบทในภาษาคุชราต/ราชสถาน
  4. ภาษาคุชราต/ราชสถาน แยกเป็นภาษาคุชราตและภาษาราชสถานโดยการพัฒนาของลักษณะบางอย่าง เช่นเครื่องหมายความเป็นเจ้าของ -n- ในพุทธศตวรรษที่ 20

การเปลี่ยนแปลงจากภาษาสันสกฤตที่สำคัญที่พบในภาษาคุชราตได้แก่

  • สัทวิทยา ได้แก่ ตัดเสียงสระที่ตัวสุดท้ายออก เปลี่ยนกลุ่มพยัญชนะเป็นพยัญชนะตัวเดียวที่มีเสียงสระยาวขึ้น
  • ด้านลักษณะคำ ได้แก่ ลดจำนวนคำประสม รวมทวิพจน์ เข้ากับพหูพจน์ เปลี่ยนปัจจัยแบบการกเป็นแบบปรบท พัฒนาโครงสร้างของกาล การกระทำ มาลาที่อ้อมค้อม
  • การเรียงประโยค ได้แก่ตัดสัมพันธการก มีระบบการตกลงที่ซับซ้อน

ภาษาคุชราตเองแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ภาษาคุชราตโบราณ (พ.ศ. 1643 - 2043) บรรพบุรุษของภาษาคุชราตและภาษาราชสถานใช้พูดโดยคุรชารส์ในคุชราตเหนือและราชสถานตะวันตก เอกสารในยุคนี้แสดงลักษณะของภาษาคุชราต เช่นรูปแบบของนามแบบกรรมตรง ปรบทและกริยาช่วย มี 3 เพศ เช่นเดียวกับภาษาคุชราตในปัจจุบัน และในราว พ.ศ. 1843 มีการจัดมาตรฐานภาษาขึ้น ในขณะที่ภาษานี้เป็นที่รู้จักในชื่อภาษาคุชราตโบราณ แต่มีนักวิชาการบางคนเรียกภาษาราชสถานตะวันตกโบราณ โดยถือว่าภาษาคุชราตและภาษาราชสถานไม่แยกออกจากกันในเวลานั้น ไวยากรณ์ที่เป็นทางการของภาษาเริ่มต้นของภาษานี้เขียนโดยนักบวชในศาสนาเชนและนักวิชาการ เหมาจันทระ สุรี ในสมัยกษัตริย์ราชบุตร สิทธราช ชยสิญแห่งฮัญ อญิลลวธะ (ปาตาน) งานเขียนที่สำคัญในยุคนี้ได้แก่
    • ราสะ เป็นเรื่องเล่าที่เป็นคำสอน
    • ผาคุ
    • พัรมาสี อธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติทั้ง 12 เดือน
    • อาขยานะ เป็นบทร้อยกรอง
  • ภาษาคุชราตยุคกลาง (พุทธศตวรรษ 20 -23)แยกออกจากภาษาราชสถาน ปรากฏเสียง ɛ และ ɔ ตัวช่วย -ch และเครื่องหมายความเป็นเจ้าของ -h- ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างภาษาคุชราตยุคโบราณกับยุคปัจจุบันได้แก่
    • u เป็น ə ในพยางค์เปิด
    • เสียงกล้ำ əi, əu เปลี่ยนเป็น ɛ และ ɔ ในพยางค์แรกและเป็น e และ o ในที่อื่น
    • əũ เป็น ɔ̃ ในพยางค์แรกและเป็น ű ในพยางค์สุดท้าย

การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลต่อไวยากรณ์ในลำดับต่อมา ตัวอย่างเช่น ภาคุชราตโบราณมีรูปการกเครื่องมือ-สถานที่ เอกพจน์เป็น -i กลายมาซ้ำกับ การกประธาน-กรรมตรง เอกพจน์ ซึ่งเป็น -ə

  • ภาษาคุชราตสมัยใหม่ (ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 เป็นต้นมา) ความเปลี่ยนแปลงทางด้านสัทวิทยาที่สำคัญตัดเสียงท้าย ə's มีคำที่ลงท้ายด้วยเสียงพยัญชนะ มีเครื่องหมายพหูพจน์ใหม่ ลงท้ายด้วย-o