ศาสนาเชน
ศาสนาเชน

ศาสนาเชน

ศาสนาเชน, ไชนะ หรือ ชินะ (แปลว่า ผู้ชนะ) (อังกฤษ: Jainism) เป็นศาสนาเก่าแก่ของอินเดีย เป็นหนึ่งในลัทธิสำคัญทั้งหก ที่เกิดร่วมสมัยกับพระโคตมพุทธเจ้า[1][2][3] คำว่า เชน หรือ ไชนะ มาจากภาษาสันสกฤต "ไชนะ" อันแปลว่าผู้ชนะ และสามารถลุยข้ามสายน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้[4] ศาสนาเชนเชื่อว่าเป็นศาสนาที่เป็นนิรันดร์ ("sanatan") มีประวัติศาสตร์มายาวนานตั้งแต่สมัยตีรถังกรทั้ง 24 องค์ที่ผ่านมา ซึ่งมี "พระอาทินาถ" เป็นองค์แรกในวงจรจักรวาลนี้ (อวสานปิณี) เมื่อราวหลายล้านล้านล้านปีมาแล้ว ตีรถังกรองค์ที่ 23 คือ "พระปารศวนาถ" มีชีวิตอยู่ราว 800 ปีก่อนคริสตกาล และตีรถังกรองค์สุดท้ายและองค์ปัจจุบันในจักรวาลนี้ "พระมหาวีระ"[5] เป็นองค์ที่ 24 มีชีวิตอยู่ราว 500 ปีก่อนคริสตกาลหลักการสำคัญของศาสนาเชนคือหลัก อหิงสา (ahiṃsā; ไม่ใช้ความรุนแรง), อเนกานตวาท (anekāntavāda; many-sidedness), อปริเคราะห์ (aparigraha; ความไม่ยึดติด) และการถือพรตนิยม (asceticism) ศาสนิกชนที่เคร่งจะถือปฏิญญา 5 ประการ คือ อหิงสา (ahiṃsā ไม่รุนแรง), สัตยะ (satya ความจริง), อสตียะ (asteya ไม่ลักขโมย), พรหมจรรย์ (brahmacharya การถือพรหมจรรย์) และอปริเคราะห์ (aparigraha; ความไม่ยึดติด) หลักการเหล่านี้นำไปสู่วัฒนธรรมเชนที่มีลักษณะเฉพาะหลายประการ โดยเฉพาะการทานมังสวิรัติ เพื่อป้องกันการทำลายสัตว์ต่าง ๆ และรบกวนวงจรชีวิตของมัน ศาสนาเชนมีคติพจน์ว่า "ปรัสปโรปัครโห ชีวานาม" (Parasparopagraho Jīvānām) อันแปลว่า หน้าที่ของสิ่งมีชีวิตหนึ่งคือการช่วยเหลือกันและกัน (the function of souls is to help one another) และมีบทสวดมนต์พื้นฐานที่สุดคือ "ณโมการมนตร์" (Ṇamōkāra mantra)[6] ศาสนาเชนแบ่งออกเป็นสองสาขาเก่าแก่หลัก ๆ คือ ทิคัมพร และ เศวตามพร และยังมีสาขาย่อยแตกออกไปอีกมากมายในช่วงคริสต์สหัสวรรษที่ 2 ทั้งสองนิกายนี้มีมุมมองที่ต่างกันหลายประเด็น โดยเฉพาะ การบำเพ็ญทุกรกิริยา, เพศ และ คัมภีร์เล่มใดที่จะยึดเป็นคัมภีร์หลักกลางศาสนาเชนมีศาสนิกชนประมาณ 4-5 ล้านคน ส่วนมากอยู่ในประเทศอินเดีย[7] ส่วนน้อยนอกอินเดีย ได้แก่ แคนาดา ยุโรป เคนยา สหราชอาณาจักร ฮ่องกง ซูรินาเม ฟิจิ และ สหรัฐอเมริกา เทศกาลสำคัญ ๆ ในศาสนาเชน เช่น Paryushana และ Daslakshana, มหาวีรชยันตี และ ทีปาวลีแบบเชน