อหิงสาในศาสนาเชน
อหิงสาในศาสนาเชน

อหิงสาในศาสนาเชน

ในศาสนาเชน อหิงสา (สันสกฤต: अहिंसा[1]) เป็นหลักการหลักสำคัญพื้นฐานของศาสนา คำว่า "อหิงสา" แปลว่า "การไม่รุนแรง" (nonviolence) การไม่ทำร้าย และปราศจากความคิดที่จะทำร้ายสิ่งมีชีวิตอื่นใด การปฏิบัติต่าง ๆ ในศาสนาเชน โดยเฉพาะการทานมังสวิรัติ ล้วนแล้วแต่มาจากหลักพื้นฐานของอหิงสาทั้งนั้น หลักอหิงสาในศาสนาเชนต่างจากในปรัชญาอินเดียอื่น ๆ มาก ความรุนแรง (หิงสา violence) ในศาสนาเชนไม่ได้หมายถึงแค่การทำร้ายผู้อื่น แต่หมายถึงการทำร้ายตนเองด้วย อันทำให้ออกห่างจากการเข้าถึงโมกษะ (การหลุดพ้นจากสังสารวัฒ).[2] นอกจากนี้ยังต้องถือหลักอหิงสาต่อสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ไม่เพียงแต่มนุษย์ สัตว์ แต่รวมถึงพืช ต้นไม้ จุลินทรีย์ แบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกว่าตาเปล่ามองเห็น และสิ่งที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีชีวิต ทุกชีวิตล้วนได้รับการเคารพและล้วนมีสิทธิ์ที่จะได้ดำรงชีวิตอยู่โดยปราศจากความกลัว สิ่งมีชีวิตทั้งปวงจะไม่ต้องกลัวผู้ที่ถือหลักอหิงสา การปกป้องชีวิตอื่นนั้นเรียกว่า "อภัยธานัม" (abhayadānam) ถือเป็นการทำบุญที่สูงสุดที่มนุษย์คนหนึ่งจะกระทำได้[3]อหิงสา นอกจากจะหมายถึงการไม่รุนแรงในเชิงกายภาพและการกระทำแล้ว ยังหมายถึงความคิดที่ปราศจากความอยากที่จะสร้างความรุนแรงใด ๆ ด้วย[4] ดังนั้นศาสนาเชนจึงยึดหลักการทานมังสวิรัติมาเป็นเวลาช้านานแล้ว[5]