ตัวอักษร ของ ภาษาชอง

เดิมทีภาษาชองไม่มีตัวอักษรสำหรับเขียน เนื่องจากเป็นภาษาที่ใช้พูดเท่านั้น แต่ในภายหลังก็มีการกำหนดให้ใช้อักษรไทยบางตัวเขียนภาษาชอง ซึ่งกำหนดโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล แล้วสะกดตามอักขรวิธีของภาษาไทย[4] (การอ่านตามที่เขียนอาจไม่ถูกสำเนียงตามต้นฉบับ)

ต่อมาเฉิน ผันผาย อดีตกำนันตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ที่มีความพยายามในการรักษาอัตลักษณ์ชอง ได้คิดค้นระบบการเขียนใหม่ โดยศึกษาจากอักษรไทย, มอญ, เขมร และโรมัน ซึ่งได้รับคำแนะนำจากนักภาษาศาสตร์แคนาดาที่ออกแบบอักษรให้ใช้งานง่าย มีระบบการเขียนบรรทัดเดียวแบบภาษาอังกฤษ ไม่มีสระและวรรณยุกต์อยู่เหนือหรือใต้บรรทัด และมีความพยายามที่จะทำเป็นชุดแบบอักษร ในปี พ.ศ. 2553 มีผู้สามารถใช้อักษรนี้ได้ระดับคล่องแคล่ว 20 คน[2]

พยัญชนะ

ตารางตัวอักษรชองที่ถูกทำมาขึ้นอย่างเป็นทางการ

พยัญชนะ (เรียกว่า ตัวนั่งซือ) แบ่งเป็นพยัญชนะต้น (ตัวต้น) และพยัญชนะสะกด (ตัวซะก็อด)

ตัวต้นมี 22 ตัว ตามลำดับดังนี้ ก ค ง จ ช ซ ญ ด ต ท น บ ป พ ฟ ม ย ร ล อ ว ฮ

ตัวสะกดมี 11 ตัว ตามลำดับดังนี้ -ก -ง -จ -ญ -ด -น -บ -ม -ย -ว -ฮ

สระ

สระ (เรียกว่า ซะระ) มี 24 เสียง ตามลำดับดังนี้ -ะ -า -ิ -ี เ-ะ เ- แ-ะ แ- -ึ -ือ เ-อะ เ-อ -ุ -ู โ-ะ โ- เ-าะ -อ เ-ีย เ-ือ -ัว -ำ ไ- เ-า และแปลงรูปสระเมื่อมีตัวสะกดอย่างภาษาไทย

วรรณยุกต์

วรรณยุกต์ (เรียกว่า วันนะยุก) มี 3 รูป 4 เสียงดังนี้

  1. เสียงกลางปกติ ไม่มีรูปวรรณยุกต์ เช่น กะวาญ = กระวาน, กะปาว = ควาย
  2. เสียงต่ำใหญ่ (เสียงก้องมีลม) ใช้รูป -่ (ไม้เอก) เช่น กะว่าย = เสือ, มะง่าม = ผึ้ง
  3. เสียงสูงบีบ (เสียงปกติตามด้วยการกักของเส้นเสียง) ใช้รูป -้ (ไม้โท) เช่น ค้อน = หนู, ซู้จ = มด
  4. เสียงต่ำกระตุก (เสียงก้องมีลมตามด้วยการกักของเส้นเสียง) ใช้รูป -์ (ทัณฑฆาต) เช่น ช์อง = ชอง, เม์ว = ปลา