ประวัติ ของ ภาษาถิ่นตากใบ

มุขปาฐะของชาวตากใบรุ่นเก่าจะบอกเพียงว่าบรรพบุรุษของพวกตน อพยพมาจากทางทิศตะวันตก คือมาจากทางตอนบนของคาบสมุทร แต่มิได้ชี้ชัดว่ามาจากที่ใด[13] นอกจากมีภาษาเป็นของตนเอง พวกเขายังมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและมักแสดงความเคารพพระภิกษุและสามเณรอย่างสูง เรียกชายที่ผ่านการบวชพระมาแล้วว่า เจ้า ไม่เรียก ทิด นับถือรูปหงส์แกะสลัก ผู้ชายสูงอายุนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าขาวม้าเหมือนคนทางเหนือ และผู้หญิงสูงวัยมักเกล้ามวยผม เรียกว่า เกล้ามวยดากแตแหร และห่มสไบ[8] มีประเพณีสำคัญอีกอย่าง คือประเพณีลาซัง[5] มุขปาฐะชั้นหลังจากหลายชุมชน มีการบอกเล่าแตกแขนงเนื้อหาต่างกันไป บางแห่งอธิบายว่า มีนายทหารสุโขทัยชื่อลัง คุมสำเภาหลวงจะไปค้าขายที่เมืองจีน แต่เรือกลับล่มที่แหลมญวน นายลังและบริวารบางส่วนขึ้นฝั่งที่ปะนาเระ อีกส่วนขึ้นฝั่งที่จันทบุรี ระยอง และตราด[2] และอีกสำนวนหนึ่งอธิบายว่า กษัตริย์อยุธยาเสด็จมายังหัวเมืองภาคใต้ แต่ช้างเผือกสำคัญกลับเตลิดหายไป พระองค์มีพระราชโองการให้ไพร่พลออกตามหาช้าง และทรงคาดโทษด้วยว่าหากตามช้างสำคัญไม่ได้จะประหารชีวิตพวกเขาทั้งหมด แต่ก็ยังหาช้างสำคัญไม่พบ ด้วยเหตุนี้เหล่าทหารจึงตั้งถิ่นฐานอยู่แถบนี้เรื่อยมาเพื่อเลี่ยงโทษประหาร[14]

มาร์วิน เจ. บราวน์ (Marvin J. Brown) นักภาษาศาสตร์ได้แสดงความเห็นว่าภาษาถิ่นตากใบนี้แยกตัวออกมาจากภาษาไทยสุโขทัยโดยตรงเมื่อราว พ.ศ. 2293[15]

ชัยเลิศ กิจประเสริฐ อ้างความเห็นของแอนโทนี ดิลเลอร์ (Anthony Van Nostrand Diller) ว่าภาษาตากใบนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กับภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลุ่มลาว ไทดำ ไทขาว หรืออื่น ๆ โดยอ้างถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องเมืองปัตตานี (Hikayat Patani) กรณีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิส่งเชลยลาวล้านช้างไปปัตตานีเมื่อ พ.ศ. 2107 ก่อนเสียกรุงแก่พม่าในปีถัดมา เชลยเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านปาดังเปอริต (Padang Perit) แวดล้อมด้วยสังคมชาวมลายูและไม่ได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยถิ่นใต้ ทำให้ภาษาถิ่นตากใบยังคงรักษาระบบวรรณยุกต์แบบเก่าไว้ได้[16]

ส่วนงานวิจัยของพุทธชาติ โปธิบาล และธนานันท์ ตรงดี (2541) ซึ่งศึกษาการออกเสียงพยัญชนะต้น วรรณยุกต์ การยืดเสียง และศัพท์เฉพาะของภาษาถิ่นตากใบ พบว่ามีความใกล้เคียงกับภาษาผู้ไทมากที่สุด[3][9]