ภาษาถิ่นตากใบ

ภาษาถิ่นตากใบ บ้างเรียก ภาษาถิ่นเจ๊ะเห[1] หรือ ภาษาถิ่นนาเระ[2] เป็นภาษาไทกลุ่มหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้[3][4] มีผู้ใช้ภาษาราวหนึ่งแสนคนเศษ กระจายตัวตั้งแต่อำเภอยะหริ่ง อำเภอปานาเระ อำเภอสายบุรีของจังหวัดปัตตานี ลงไปจนถึงอำเภอตากใบและอำเภออื่น ๆ ของจังหวัดนราธิวาส[5] รวมถึงกลุ่มคนมาเลเซียเชื้อสายไทยในรัฐกลันตันและรัฐตรังกานูของประเทศมาเลเซีย จะเรียกว่า ภาษาตุมปัต[6] มีคำศัพท์และสำเนียงภาษาเป็นเอกลักษณ์ของตนเองแตกต่างไปจากภาษาไทยถิ่นใต้และภาษามลายูปัตตานี[7] เพราะออกเสียงเอื้อนยาว เนิบช้า ผิดกับภาษาไทยถิ่นใต้ที่ออกเสียงห้วนสั้น[8] เป็นที่พึงสังเกตว่ามีการใช้ราชาศัพท์สำหรับเรียกชื่อสิ่งของเครื่องใช้บางอย่าง[8] รวมทั้งมีลักษณะทางภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาผู้ไทมากที่สุด[3][9] ทั้งนี้ภาษาตากใบมีภาษาย่อย คือ ภาษาสะกอมในจังหวัดสงขลา[10]ในประโยคคำถามของภาษาถิ่นตากใบลงท้ายด้วยคำว่า หมี หรือ หมิ แทนการลงท้ายด้วยคำว่า ไหม เช่น ช่ายหมี แปลว่า "ใช่ไหม", กินข้าวแล้วหมี แปลว่า "กินข้าวหรือยัง" และ มึงมานานแล้วหมี แปลว่า "คุณมานานแล้วหรือยัง"[11][12]ปัจจุบันมีการจัดรายการวิทยุด้วยภาษาถิ่นตากใบเพื่ออนุรักษ์เป็นมรดกสำคัญของท้องถิ่น และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศขึ้นทะเบียนภาษาถิ่นตากใบขึ้นเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไทย สาขาภาษา เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556 ประเภทภาษาท้องถิ่น[11]