จุดเริ่มต้น ของ ภาษามณีปุระพิษณุปุระ

ผู้พูดภาษานี้เรียกภาษาของตนว่า อิมัรทาร์ หมายถึงภาษาของแม่ เขาเรียกตนเองว่าชาวมณีปุระ และใช้คำว่า "ชาวพิษณุปุระ" หรือ "พิษณุปริยา" เพื่อแยกตนเองออกจากกลุ่มอื่น ๆ ในมณีปุระ คำว่า "พิษณุปริยา" อาจมาจากคำว่าพิษณุปุระ โดยเติมปัจจัย –อิยา เพื่อให้หมายความว่าประชาชนของพิษณุปุระ ชาวพิษณุปุระดั้งเดิมเชื่อว่าพวกเขาเข้าสู่มณีปุระโดยอพยพมาจากทวารกะและหัสตินาปุระ หลังจากเกิดสงครามมหาภารตะ มีการกล่าวกันว่าการอพยพครั้งนี้นำโดยพภรุวาหนะ บุตรของอรชุนกับจิตรางคทา นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์บางคนสนับสนุนทฤษฎีนี้ จากการสังเกตลักษณะของภาษา ภาษานี้ได้รับอิทธิพลจากภาษาสันสกฤตและภาษามหาราษฏรี เช่นเดียวกับภาษาปรากฤต เช่น ภาษาเสาราเสนี ภาษาเสาราเสนีนี้เป็นภาษาของทหารและประชาชนในทุ่งกุรุเกษตร มัธยเทศ อินทรปรัศถ์และหัสตินาปุระ อย่างไรก็ตาม K.P. Sinha ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีนี้และเห็นว่าภาษามณีปุระพิษณุปุระมาจากภาษามคธี

ภาษามณีปุระพิษณุปุระไม่ใช่ตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า แต่ใกล้เคียงกับภาษากลุ่มอินโด-อารยัน โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาไมไตทั้งทางด้านไวยากรณ์และการออกเสียง ในแต่ละช่วงของพัฒนาการ ภาษาเสาราเสนี ภาษามคธี ภาษามหาราษฏรีและตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่าเข้ามามีอิทธิพลมาก ภาษานี้อาจจะพัฒนามาจากภาษาสันสกฤต ภาษาเสาราเสนี และภาษามหาราษฏรีเช่นเดียวกับภาษาฮินดี ภาษาอัสสัม ภาษาเบงกอล และภาษาโอริยา อิทธิพลจากภาษาเสาราเสนีและภาษามหาราษฏรีเห็นได้จากคำสรรพนาม การเชื่อมต่อ และการลงท้ายการก และมีลักษณะบางอย่างจากภาษามคธีปนอยู่ด้วย ภาษานี้คำศัพท์จากภาษาไมไตที่ออกเสียงแบบเก่าในช่วงพ.ศ. 2000 – 2200 ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้พูดส่วนใหญ่อพยพออกจากมณีปุระในพุทธศตวรรษที่ 24