ภาษาย่อยหรือต่างภาษา ของ ภาษาย่อย

ความเข้าใจซึ่งกันและกัน

เกณฑ์อย่างหนึ่งซึ่งมักถูกมองว่ามีความเป็นภาษาศาสตร์ล้วน ๆ คือความเข้าใจซึ่งกันและกัน วิธภาษาสองวิธภาษาจัดเป็นภาษาย่อยของภาษาเดียวกันหากการเป็นผู้พูดวิธภาษาหนึ่งส่งผลให้ผู้พูดวิธภาษานั้นมีความรู้เพียงพอที่จะเข้าใจและสื่อสารให้ผู้พูดอีกวิธภาษาหนึ่งเข้าใจได้ ไม่เช่นนั้น วิธภาษาทั้งสองจะจัดเป็นภาษาที่แตกต่างกัน[23] อย่างไรก็ตาม บทนิยามนี้ไม่สามารถกำหนดความเป็นภาษาได้เสมอไปในกรณีของแนวต่อเนื่องภาษาย่อย (หรือโซ่ภาษาย่อย) ซึ่งประกอบด้วยวิธภาษาต่าง ๆ เกี่ยวเนื่องกันไปเป็นลำดับ แต่ละวิธภาษามีความเข้าใจซึ่งกันและกันกับวิธภาษาที่อยู่ถัดไป แต่วิธภาษาที่อยู่ห่างกันมากอาจไม่สามารถเข้าใจซึ่งกันและกันเลยก็ได้[23] ปัญหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกณฑ์นี้คือความเข้าใจซึ่งกันและกันนั้นเกิดขึ้นในระดับที่แตกต่างกัน และเป็นการยากที่จะแยกความแตกต่างจากความคุ้นเคยที่มีอยู่ก่อนแล้วกับวิธภาษาอื่น ความเข้าใจซึ่งกันและกันที่มีการรายงานยังอาจได้รับผลกระทบจากทัศนคติของผู้พูดที่มีต่อชุมชนภาษาอื่น ๆ[24]

บทนิยามทางภาษาศาสตร์สังคม

วิธภาษาท้องถิ่นในแนวต่อเนื่องภาษาย่อยเจอร์แมนิกตะวันตกจะลู่เข้าหาภาษามาตรฐานใด (ระหว่างภาษาดัตช์มาตรฐานกับภาษาเยอรมันมาตรฐาน) ก็ขึ้นอยู่กับว่าวิธภาษานั้นมีผู้พูดอยู่ฝั่งใดของพรมแดนเนเธอร์แลนด์–เยอรมนี[25]

อีกเกณฑ์หนึ่งที่มีการใช้เป็นครั้งคราวในการคัดจำแนกภาษาย่อยออกจากภาษาต่างหากคือหัวเรื่องทางภาษาศาสตร์สังคมว่าด้วยอำนาจของภาษา ตามบทนิยามนี้ วิธภาษาสองวิธภาษาถือเป็นภาษาย่อยของภาษาเดียวกันหากวิธภาษาเหล่านั้นคล้อยตามอำนาจเดียวกันในบางประเด็น (อย่างน้อยก็ในบางสถานการณ์) ตัวอย่างเช่น หากต้องการทราบชื่อสิ่งประดิษฐ์ใหม่หรือชื่อพรรณไม้ต่างถิ่นที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ผู้พูดภาษาเว็สท์ฟาเลินและภาษาเยอรมันฟรังโคเนียตะวันออกอาจค้นในพจนานุกรมภาษาเยอรมันหรือสอบถามผู้เชี่ยวชาญที่พูดภาษาเยอรมัน จึงกล่าวได้ว่าวิธภาษาเหล่านี้ขึ้นกับภาษาเยอรมันมาตรฐานซึ่งกล่าวได้ว่ามีสถานะเอกเทศ[25] ในทางตรงกันข้าม ผู้พูดวิธภาษาแซกซันต่ำในเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษาเว็สท์ฟาเลินจะค้นในพจนานุกรมภาษาดัตช์มาตรฐานแทน ในทำนองเดียวกัน แม้ว่านักภาษาศาสตร์จะจัดภาษายิดดิชเป็นภาษาในกลุ่มภาษาเยอรมันสูงกลาง แต่ผู้พูดภาษายิดดิชจะค้นในพจนานุกรมอื่น ๆ ในกรณีเช่นนี้

ภายในกรอบนี้ วิลเลียม อเล็กซานเดอร์ สจวร์ต นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน นิยาม ภาษา ว่าเป็นวิธภาษาที่มีความเป็นเอกเทศร่วมกับวิธภาษาทั้งหมดที่ขึ้นกับมัน โดยให้ข้อสังเกตว่าชาลส์ แอลเบิร์ต เฟอร์กัสสัน และจอห์น โจเซฟ กัมเพิร์ซ นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้เคยให้บทนิยามที่มีสาระสำคัญเท่าเทียมกันไว้แล้วเมื่อ ค.ศ. 1960[26][27] ในทำนองเดียวกัน อาจถือได้ว่าวิธภาษาที่ไม่มีความเป็นเอกเทศเป็น ภาษาย่อย ของภาษาที่ได้รับการนิยามในลักษณะนี้[26] ตามเงื่อนไขเหล่านี้ แม้ว่าภาษาเดนมาร์กและภาษานอร์เวย์จะสามารถเข้าใจซึ่งกันและกันได้ในระดับสูง แต่ก็ถือว่าทั้งสองเป็นภาษาแยกกันต่างหาก[28] ในกรอบของไฮนทซ์ โคลส นักภาษาศาสตร์ชาวเยอรมัน ภาษาทั้งสองได้รับการอธิบายว่าเป็นภาษาตามเกณฑ์ เอาส์เบา ("การเจริญ", "การขยาย") มากกว่าจะเป็นภาษาตามเกณฑ์ อัพชตันท์ ("การแยกออก", "ระยะห่าง")[29]

ในสถานการณ์อื่น ๆ กลุ่มของวิธภาษาที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดจะมีความเข้าใจซึ่งกันและกันในระดับสูง (แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ก็ตาม) แต่จะไม่มีวิธภาษาใดครอบงำวิธภาษาอื่น เพื่ออธิบายสถานการณ์เช่นนี้ บรรณาธิการบทความ Handbook of African Languages ได้เริ่มใช้ศัพท์ กลุ่มของภาษาย่อย (dialect cluster) เป็นหน่วยจำแนกในระดับเดียวกันกับภาษา[30] ส่วนสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันแต่มีระดับความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น ถูกเรียกว่า กลุ่มของภาษา (language cluster)[31]

ปัจจัยทางการเมือง

บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด กรุณาช่วยปรับปรุงบทความนี้ โดยเพิ่มการอ้างอิงแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ เนื้อความที่ไม่มีแหล่งที่มาอาจถูกคัดค้านหรือลบออก

อย่างไรก็ตาม ในหลายสังคม ภาษาย่อยภาษาใดภาษาหนึ่ง (ซึ่งมักเป็นสังคมภาษณ์ของอติชน) จะได้รับการกำหนดให้เป็นรูปแบบ "มาตรฐาน" หรือ "เหมาะสม" ของภาษาหนึ่ง ๆ โดยผู้ที่ต้องการสร้างความแตกต่างทางสังคม และมีการเปรียบต่างกับวิธภาษาอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ ศัพท์ ภาษาย่อย ในบางบริบทจึงหมายถึงวิธภาษาที่มีสถานภาพทางสังคมต่ำอย่างเจาะจง ในความหมายรองของ "ภาษาย่อย" นี้ วิธภาษาต่าง ๆ มักถูกจัดให้เป็น ภาษาย่อย แทนที่จะเป็น ภาษา หาก:

  • วิธภาษาเหล่านั้นไม่มีรูปแบบมาตรฐานหรือรูปแบบที่ผ่านกระบวนการจัดประมวล
  • วิธภาษาเหล่านั้นไม่ค่อยหรือไม่เคยมีการใช้ในภาษาเขียน (นอกเหนือจากภาษาพูดที่มีการรายงาน)
  • ผู้พูดวิธภาษาเหล่านั้นไม่มีรัฐเป็นของตนเอง
  • วิธภาษาเหล่านั้นมีเกียรติภูมิน้อยเมื่อเทียบกับวิธภาษาอื่นซึ่งมักเป็นวิธภาษามาตรฐาน

สถานะความเป็น "ภาษา" ไม่ได้ถูกกำหนดโดยเกณฑ์ทางภาษาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลมาจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการเมืองด้วย ภาษาโรมานช์ได้กลายมาเป็นภาษาเขียนภาษาหนึ่ง ดังนั้นจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาแม้จะมีความใกล้เคียงกับกลุ่มภาษาย่อยแอลป์ลอมบาร์ดมากก็ตาม ตัวอย่างที่ตรงกันข้ามคือกรณีของภาษาจีน วิธภาษาของภาษานี้อย่างภาษาจีนกลางและภาษาจีนกวางตุ้งมักถูกจัดว่าเป็นภาษาย่อยและไม่ใช่ภาษาต่างหากในจีน แม้ว่าจะไม่มีความเข้าใจซึ่งกันและกันก็ตาม

ศัพท์เฉพาะ

ตามบทนิยามที่นักภาษาศาสตร์ใช้กันมากที่สุด วิธภาษาใด ๆ ก็ตามถือว่าเป็น "ภาษาย่อย" ของบางภาษา กล่าวคือ "ทุกคนล้วนพูดภาษาย่อยภาษาใดภาษาหนึ่ง" จากการตีความดังกล่าว เกณฑ์ต่าง ๆ ข้างต้นจึงเป็นเพียงการจำแนกว่า วิธภาษาสองวิธภาษาเป็นภาษาย่อยของภาษาเดียวกัน หรือเป็นภาษาย่อยของภาษาที่แตกต่างกัน

ศัพท์ ภาษา และศัพท์ ภาษาย่อย ไม่จำเป็นต้องปรากฏในลักษณะสับหลีกกัน แม้จะเป็นที่รับรู้กันเช่นนั้นบ่อยครั้งก็ตาม[32] ดังนั้นจึงไม่มีอะไรขัดแย้งในข้อความ "ภาษาของชาวเยอรมันเพนซิลเวเนียเป็นภาษาย่อยภาษาหนึ่งของภาษาเยอรมัน"

มีศัพท์หลายศัพท์ที่นักภาษาศาสตร์อาจใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงจุดยืนว่าการพูดของชุมชนหนึ่ง ๆ นั้นเป็นภาษาเอกเทศหรือเป็นภาษาย่อยของภาษาอื่น ศัพท์ที่พบบ่อยที่สุดอาจจะเป็น วิธภาษา (variety)[33] ส่วน ภาษณ์ (lect) ก็เป็นอีกศัพท์หนึ่ง ศัพท์ที่มีนัยทั่วไปกว่าคือ หน่วยคล้ายภาษา (languoid) ซึ่งไม่จำแนกความแตกต่างระหว่างภาษาย่อย ภาษา และกลุ่มภาษา ไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์กันทางเชื้อสายหรือไม่ก็ตาม[34]