ประวัติ ของ ภาษาอาหม

พัฒนาการและการจัดจำแนกภาษายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บรรพบุรุษน่าจะเป็นภาษาไทดั้งเดิมเมื่อราว 2,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาษาจีนแต่อาจจะเกี่ยวข้องกับตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ชาวอาหมเดิมอยู่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและเวียดนาม ต่อมาได้อพยพเข้ามณฑลยูนนาน รัฐชาน จนถึงลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรในที่สุด

ชาวอาหมได้พัฒนาอาณาจักรของตนเองในช่วง พ.ศ. 1771-2386 ภาษาอาหมเป็นภาษาทางการของอาณาจักรตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-21 จนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยภาษาอัสสัมที่เป็นภาษากลุ่มอินโด-อารยัน ซึ่งเป็นผลมาจากการรับวัฒนธรรมฮินดู

ยุคเสื่อม

ชาวอาหมไม่เคยคิดว่าตัวเองต่ำต้อย จนกระทั่งกษัตริย์อาหมยอมรับวัฒนธรรมฮินดู นำระบบวรรณะมาใช้ เพราะถูกพราหมณ์ยกยอ และนำพิธีกรรมมารองรับสถานะให้กษัตริย์มีฐานะที่สูงขึ้น เมื่อนำพิธีกรรมต่าง ๆ มาใช้ ภาษาก็เปลี่ยนไปตามพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรม ทั้งที่ชาวอาหมแท้ ๆ นั้นมีจำนวนไม่มากนัก และภาษาอัสสัมก็ครอบงำสังคม รวมไปถึงราชสำนักเพื่อเข้าถึงฮินดู จนลามไปยังขุนนางและราษฎรต่าง ๆ ครั้นตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ อังกฤษก็ถอดกษัตริย์อาหมออก และให้อำนาจแก่พราหมณ์และขุนนางฮินดูแทน ภาษาอาหมจึงใช้กันจำกัดลงเรื่อย ๆ จนเป็นภาษาตายไม่มีใครใช้ในชีวิตประจำวัน กลุ่มนักบวชเทวไท (Deotai) ซึ่งเป็นนักบวชตามความเชื่อลัทธิฟ้าหลวง แม้จะพยายามรักษาประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ แต่ก็ทำได้จำกัด และนักบวชก็ขาดคนพูดอาหมด้วย และไม่มีใครเข้าใจได้ชัดเจน

การฟื้นฟูในปัจจุบัน

แม้ว่าภาษาอาหมจะมีการฟื้นฟูอย่างน้อย 3 ช่วงเวลา ช่วงที่ 1 ในสมัยพระเจ้าจักรธวัช สิงห์ในช่วงปี ค.ศ. 1663 -1663 ช่วงที่ 2 ในยุคหลังจากอังกฤษเข้าปกครองในรัฐอัสสัมราวปี ค.ศ. 1826 และช่วงที่ 3 ตั้งแต่ ค.ศ. 1980 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการฟื้นฟูภาษาไทและตั้ง สมาคมวรรณกรรมไทตะวันออก (Eastern Tai Literary Association) ที่เมืองกูวาฮาติ โดยมุ่งมั่นปฏิบัติให้พัฒนาการเรียน เขียนอ่านภาษาอาหม พร้อมกันนี้ให้สนับสนุนให้ค้นคว้าศึกษาเอกสารโบราณของชาวอาหมอย่างจริงจัง การฟื้นฟูภาษาอาหมนั้นอาศัยสัทวิทยาของภาษาพี่น้อง เช่น ภาษาอ่ายตนและภาษาพ่าเก โดยภาษาดังกล่าวจะถูกเรียกว่า ภาษาไทในอัสสัม เนื่องจากประกอบไปด้วยคำไททุกกลุ่มในรัฐอัสสัม หากการฟื้นฟูดังกล่าวได้ผล ภาษาเขียนในรัฐอัสสัมจะใช้อักษรอาหมเป็นหลักแทนอักษรไทอื่น ๆ ในรัฐอัสสัม[1] โดยอาศัยพื้นฐานภาษาอ่ายตนในรัฐอัสสัม เนื่องจากใกล้เคียงกับภาษาอาหมมากที่สุด ชาวอาหมอาจอาศัยชาวอ่ายตนในการรื้อฟื้นภาษา[2]