สำเนียง ของ ภาษาเบงกอล

มีความผันแปรในแต่ละท้องถิ่นที่พูดภาษาเบงกอล โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้สี่กลุ่มคือ ราธ พังคะ กามรูป และวเรนทระ สำเนียงทางตะวันตกเฉียงใต้หรือราธเป็นพื้นฐานของภาษาเบงกอลมาตรฐาน ส่วนสำเนียงทางตะวันออกจะได้รับอิทธิพลจากกลุ่มภาษาทิเบต-พม่ามาก ทำให้บางสำเนียงมีความแตกต่างของเสียงวรรณยุกต์ในสำเนียงในบริเวณจิตตะกองและจักมา บางสำเนียงถูกจัดเป็นภาษาเอกเทศต่างหากเช่นภาษาฮาชอง แม้จะคล้ายกับภาษาเบงกอลสำเนียงทางเหนือ[7]

ระหว่างการจัดมาตรฐานภาษาเบงกอลในพุทธศตวรรษ 24-25 ศูนย์กลางของวัฒนธรรมเบงกอลอยู่ที่กัลกัตตา ทำให้สำเนียงทางตะวันตกตอนกลางกลายเป็นสำเนียงมาตรฐานทั้งในเบงกอลตะวันตกและบังกลาเทศ แต่ภาษาเบงกอลในสองบริเวณนี้ก็มีการใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นคำศัพท์ในภาษาเบงกอลเดิมเหมือนกัน เช่น คำว่าเกลือ ทางตะวันตกใช้ noon ส่วนทางตะวันออกใช้ lôbon[8]