ไวยากรณ์ ของ ภาษาเบงกอล

ดูบทความหลักที่: ไวยากรณ์ภาษาเบงกอล

คำนามในภาษาเบงกอลไม่มีการกำหนดเพศ ทำให้มีการผันคำน้อย คำคุณศัพท์ คำนาม และสรรพนามมี 4 การก คำกริยามีรูปแบบการผันมาก แต่ต่างจากภาษาฮินดีที่ไม่มีการผันคำกริยาตามเพศ

การเรียงลำดับคำ

ภาษาเบงกอลเรียงประโยคแบบประธาน-กรรม-กริยา เชื่อมคำในประโยคด้วยปรบท คำคุณศัพท์ จำนวนและการกแสดงความเป็นเจ้าของนำหน้าคำนาม คำถามแบบใช่/ไม่ใช่ ไม่ต้องมีการเปลี่ยนลำดับคำในประโยค

คำนาม

คำนามและคำสรรพนามมีการผันตามการกจำนวน 4 การกคือ ประธาน กรรม ความเป็นเจ้าของและแสดงตำแหน่ง มีการเติมคำนำหน้านามชี้เฉพาะได้แก่ -টা -ţa (เอกพจน์) หรือ -গুলা -gula (พหูพจน์) นามมีการผันตามจำนวนด้วย ภาษาเบงกอลมีลักษณนามเช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีนและภาษาไทย ลักษณนามที่ใช้โดยทั่วไปคือ -টা –ţa แต่มีลักษณนามบางคำใช้กับนามเฉพาะ เช่น -জন –jon ใช้กับคน

คำกริยา

คำกริยาแบ่งได้เป็นสองระดับคือคือกริยาแท้และกริยาไม่แท้ กริยาไม่แท้ไม่มีการผันตามกาลของบุคคล ในขณะที่กริยาแท้มีการผันตามจุดมุ่งหมาย กาล และบุคคลแต่ไม่ผันตามจำนวน นอกจากนั้น ภาษาเบงกอลมีความต่างจากภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-อารยันอื่น ๆ คือสามารถละกริยาที่เป็น verb to be แบบที่พบในภาษารัสเซียและภาษาฮังการี