แนวทางการจัดการภูมิทัศน์เมือง ของ ภูมิทัศน์เมือง

แนวทางการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ควรคำนึงถึงเอกลักษณ์ของเมือง ทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจรวมเข้าด้วยกัน โครงการก่อสร้างที่ส่งผลกระทบในทางลบที่มีต่อภูมิทัศน์เมือง โดยไม่ได้คำนึงเอกลักษณ์เฉพาะและวิถีชีวิตของเมือง ได้ทำลายบรรยากาศการรับรู้ทางสุนทรียภาพที่ส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์เมือง ทั้งนี้แนวทางการจัดการภูมิทัศน์เมืองที่เสริมสร้างการพัฒนาและการอนุรักษ์อย่างสอดคล้องกัน ควรยึดถือปฏิบัติ ดังนี้ (เกริก กิตติคุณ, ภูมิทัศน์เมือง,หน้า 82 – 93)

1.การบริหารจัดการในเชิงแผนและนโยบายของหน่วยงานในท้องถิ่น

การวางแผนเพื่อพัฒนาและอนุรักษ์ทัศนียภาพเมือง ควรเป็นแผนในระดับแผนปฏิบัติการที่มีความชัดเจนในการดำเนินงาน มีการกำหนดวัตถุประสงค์ ขั้นตอนกระบวนการดำเนินงาน ระยะเวลาของโครงการต่าง ๆ และการจัดตั้งงบประมาณ โดยมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามามีบทบาทในการดำเนินงาน อันจะทำให้การจัดเตรียมงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินงานทั้งหมดจากรัฐบาล รวมทั้งแหล่งเงินทุนภายในและจากต่างประเทศ จากกองทุนเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยควรเน้นที่การศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อเสนอแนะวิธีการการพัฒนาสภาพภูมิทัศน์เมือง มากกว่านำมาใช้ในการของบประมาณเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ

2.การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนที่มีต่อสภาพภูมิทัศน์เมือง

เพื่อบรรลุผลที่ได้จากการการวางแผน ควรได้รับการสนองตอบจากชุมชน และสังคมท้องถิ่น โดยไม่ทำให้ขีดความสามารถที่จะสนองตอบต่อความจำเป็นต้องการในอนาคตเสียไป โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพภูมิทัศน์เมืองให้เกิดขึ้น แนวทางการจัดการสภาพภูมิทัศน์เมือง ควรให้ความสำคัญต่อสิทธิของประชาชนในท้องถิ่น และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานที่ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์แก่ประชาชน ทำได้โดยให้ความรู้และการศึกษาทั้งในโรงเรียน และนอกระบบ มีการฝึกอบรม รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์การจัดทำแนวทางหรือคู่มือการพัฒนาภูมิทัศน์เมือง ทั้งนี้กระบวนการมีส่วนร่วมนับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาในทุกระดับตั้งแต่ระดับองค์กรหน่วยงานของรัฐ จนถึงในระดับชุมชนขนาดเล็ก การพัฒนาสภาพภูมิทัศน์เมือง ต้องใช้มิติของภาคประชาชนในการจัดการและการแก้ปัญหาร่วมกัน กระบวนการมีส่วนร่วมก่อให้เกิดพลังของทุกฝ่ายในการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และผลจากการมีส่วนร่วมของประชาชน สามารถนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่มีประสิทธิภาพ

3.การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นกลไกของรัฐเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสภาพภูมิทัศน์เมือง

มาตรการทางกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อควบคุมภูมิทัศน์เมืองที่มีคุณค่าให้คู่ควรแก่การอนุรักษ์ และส่งเสริมการพัฒนาภูมิทัศน์เมืองให้เป็นไปตามหลักการสุนทรียภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นทั้งของหน่วยงานของรัฐและเอกชน การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นกลไกของรัฐ ที่ออกตามพระราชบัญญัติ และกฎกระทรวง รวมทั้งข้อบัญญัติของท้องถิ่น ที่บังคับใช้เฉพาะในขอบเขตพื้นที่การปกครองตามลักษณะความต้องการบังคับใช้ของท้องถิ่น การควบคุมเมืองเป็นไปตามผังที่ได้กำหนดไว้ในอนาคตของเมือง การวางและจัดทำผังเมือง ของกรมโยธาธิการและผังเมืองจะให้ความสำคัญกับมาตรการควบคุมทางกฎหมายผังเมืองที่ออกตามพระราชบัญญัติ และกฎกระทรวง รวมทั้งข้อบัญญัติของท้องถิ่น ที่บังคับใช้เฉพาะในขอบเขตพื้นที่การปกครองตามลักษณะความต้องการบังคับใช้ของท้องถิ่น รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมทางผังเมือง ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 เป็นต้น และการใช้มาตรการควบคุมการบังคับใช้ทางกฎหมายทั้งในส่วนเทศบัญญัติ และข้อบังคับของท้องถิ่น เพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานของสภาพภูมิทัศน์ที่ได้กำหนดไว้

ใกล้เคียง

ภูมิทัศน์วัฒนธรรม ภูมิทัศน์เมือง ภูมิทัศน์และอิคารัสปีกหัก ภูมิทัศน์ ภูมิทัศน์ประหยัดพลังงาน ภูมิทัศน์วัฒนธรรมหุบเขาออร์ค็อง ภูมิทัศน์วัฒนธรรมนาขั้นบันไดหงเหอฮาหนี่ ภูมิทัศน์และโบราณสถานแห่งหุบผาบามิยัน ภูมิทัศน์วัฒนธรรมทะเลสาบตะวันตกในหางโจว ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของจังหวัดบาหลี : ระบบซูบะก์ หลักการตามปรัชญาไตรหิตครณะ