วิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยา ของ มานุษยวิทยา

  นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาเริ่มมีแนวทางการศึกษาในแบบของตัวเองที่แตกต่างไปจากศาสตร์ทางสังคมแบบอื่นๆ จากความสนใจชีวิตมนุษย์ในดินแดนต่างๆ ทำให้นักมานุษยวิทยาต้องทำหน้าที่เก็บข้อมูลวัฒนธรรม หรือที่รู้จักในนาม “การทำงานภาคสนาม” (Fieldwork) โดยมีเป้าหมายที่จะเรียนรู้ความคิดและการปฏิบัติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์  ในการทำงานภาคสนาม นักมานุษยวิทยาจะต้องเรียนรู้ภาษาของกลุ่มคนที่เข้าไปศึกษาเพื่อที่จะพูดคุยและสัมภาษณ์ รวมทั้งสังเกตสิ่งต่างๆแบบมีส่วนร่วม (Participant-Observation) โดยเข้าไปคลุกคลีอยู่อาศัยกับคนในท้องถิ่นเป็นเวลานานเพื่อที่จะเข้าใจวิถีชีวิตของคนเหล่านั้นได้ราวกับเป็นคนในวัฒนธรรมเอง

มานุษยวิทยา ในฐานะเป็นศาสตร์ที่ศึกษา “วัฒนธรรม” ของมนุษย์เป็นหัวใจหลักของวิชามานุษยวิทยา แต่คำว่า “วัฒนธรรม” ในทางมานุษยวิทยามิใช่คุณสมบัติของสิ่งที่สวยงามหรือมีความคงที่ แต่วัฒนธรรมเป็น “แนวคิด” (Concept) ที่มีข้อถกเถียงมาอย่างต่อเนื่องและมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับความรู้แบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตก โดยอธิบายว่า “วัฒนธรรม” มีอยู่ในชุมชนของมนุษย์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบตะวันตกหรือชุมชนพื้นเมืองเร่ร่อนในเขตทุรกันดาร ทุกชุมชนล้วนมีแบบแผนทางวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง

มานุษยวิทยามิใช่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องการแสวงหากฎเกณฑ์เพียงหนึ่งเดียว แต่มานุษยวิทยาต้องการศึกษาประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีความคิดและความเชื่อแตกต่างกัน นักมานุษยวิทยาศึกษาแบบแผนทางวัฒนธรรมจากมุมมองของคนในวัฒนธรรมเอง หรือรู้จักในนาม the native’s point of view นักมานุษยวิทยาไม่สามารถตัดสินวัฒนธรรมของคนอื่นจากแนวคิดทฤษฎีหรือใช้ความคิดของตัวเองเป็นบรรทัดฐานได้[2] จากประเด็นนี้ได้นำไปสู่การทบทวนระเบียบวิธีวิจัยและทฤษฎีที่นักมานุษยวิทยาเคยใช้มาในอดีต เพื่อที่จะเข้าใจวัฒนธรรมของคนอื่นโดยผ่านสายตาของคนในวัฒนธรรมนั้น[3] นอกจากนั้น ภายในวัฒนธรรมเดียวกัน สมาชิกของกลุ่มก็อาจให้คุณค่าและแสดงออกทางวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้คือความซับซ้อนของวัฒนธรรมที่นักมานุษยวิทยาจะต้องไม่หยุดอยู่แค่การหากฎเกณฑ์หรือแบบแผนทางวัฒนธรรม แต่จะต้องค้นหาความไม่ลงรอยที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมนั้นด้วย

การศึกษาความคิดและประสบการณ์ของคนแต่ละกลุ่มจึงเริ่มมีความสำคัญ ความท้าทายที่นักมานุษยวิทยาต้องเผชิญต่อจากนี้ก็คือ ระเบียบวิธีวิจัยและแนวคิดทฤษฎีอาจจะไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ “ความจริง” ของวัฒนธรรมอีกต่อไป แต่อาจเป็นเพียง “แว่นตา” ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้กระบวนทัศน์และความเชื่อบางแบบ แว่นตาที่นักมานุษยวิทยาใช้จึงอาจทำให้เกิดความบิดเบือนหรือมายาคติเกี่ยวกับวัฒนธรรม ฉะนั้น จึงมีการเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบการทำงานภาคสนาม ระเบียบวิธีวิจัย แนวคิดทฤษฎี และชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography) อยู่เสมอๆ พร้อมๆกับตรวจสอบวิธีการสร้างความรู้ของนักมานุษยวิทยา ศาสตร์ของมานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่มีลักษณะเปิดกว้าง มานุษยวิทยาต้องการทำความเข้าใจวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้น มานุษยวิทยาจะเริ่มต้นจากประเด็นบางประเด็น เช่น พิธีกรรม ความเชื่อ ศาสนา ไสยศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง ศิลปะ เพศภาวะ ชนชั้น เครือญาติ ฯลฯ เพื่อสำรวจเข้าไปในสนามที่กว้างใหญ่ขึ้นไป ในสนามดังกล่าวมีสิ่งต่างๆโยงใยกันอย่างซับซ้อน นักมานุษยวิทยาแต่ละคนจึงเลือกที่จะสร้างความเชี่ยวชาญของตนเองผ่านประเด็นเหล่านี้แต่มีปลายทางร่วมกันคือการทำความเข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของมนุษย์ แม้ว่านักมานุษยวิทยาจะมีความสนใจในประเด็นที่ต่างกัน แต่ทุกคนล้วนเชื่อมโยงประเด็นที่ตนเองสนใจกับสถานการณ์ที่เป็นจริง เช่น สนใจเรื่องศาสนา นักมานุษยวิทยาก็จะทำงานวิจัยบนโจทย์ด้านศาสนาแต่ผลลัพธ์จะเป็นการทำความเข้าใจชีวิตมนุษย์ที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อทางศาสนา และนักมานุษยวิทยายังชี้ให้เห็นว่าในมิติทางศาสนายังเต็มไปด้วยความสัมพันธ์ที่โยงใยถึงระบบเครือญาติ การทำมาหากิน ชนชั้น ฐานะทางสังคม เพศภาวะ และสุนทรียะ ศาสนาจึงไม่ได้ตัดขาดจากบริบทอื่นๆ สิ่งนี้คือคุณสมบัติของศาสตร์มานุษยวิทยาที่สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงต่างๆที่เกิดขึ้นบนชีวิตมนุษย์ และยังทำให้ศาสตร์แบบนี้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนตัวและดำเนินไปข้างหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

มานุษยวิทยา กับ ชาติพันธุ์วรรณา

ชาติพันธุ์วรรณา (บางสำนักเรียก ชาติพันธุ์นิพนธ์) เป็น การศึกษาวัฒนธรรมและสังคมของมนุษย์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยผู้ศึกษาจะเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ เข้าไปพูดคุย และสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในเหตุการณ์และกิจกรรมต่างๆของกลุ่มคนที่ศึกษาเป็นระยะเวลายาวนานและนำข้อมูลมาเขียนเรียบเรียงและอธิบายให้เห็นวิถีชีวิตของคนกลุ่มนั้น นอกจากนั้นยังหมายถึง  การศึกษาวัฒนธรรมในเชิงเปรียบเทียบและจัดระเบียบชนิดของวัฒนธรรม  ซึ่งต้องมีการพรรณนารายละเอียด งานเขียนทางชาติพันธุ์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษามานุษยวิทยาวัฒนธรรม[4]

แม้จากการทำงานภาคสนาม นักมานุษยวิทยาจะนำมาเขียนเรียบเรียง รู้จักในนาม “ชาติพันธุ์วรรณา” (Ethnography) บางทีเรียกว่า “งานเขียนทางชาติพันธุ์” ซึ่งเป็นการอธิบายถึงวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่ศึกษาภายใต้การตีความและการวิเคราะห์ด้วยกรอบทฤษฎีบางอย่าง  คำว่า “ชาติพันธุ์” (Ethnic) เป็นคำดั้งเดิมก่อนที่วิชามานุษยวิทยาจะสถาปนาตนเองเป็นศาสตร์สมัยใหม่ เนื่องจากการศึกษาวัฒนธรรมและชีวิตของคนในท้องถิ่นต่างๆ ได้นำไปสู่การเปรียบเทียบทางวัฒนธรรม การเปรียบเทียบนี้รู้จักในนาม “ชาติพันธุ์วิทยา” (Ethnology) ซึ่งต้องการที่จะเข้าใจว่ามนุษย์ในดินแดนต่างๆมีประวัติศาสตร์และแบบแผนการดำเนินชีวิตที่เหมือนและต่างกันอย่างไร อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มคนที่นักมานุษยวิทยาศึกษา เป็นกลุ่มทางชาติพันธุ์ทั้งที่เคยมีอยู่ในอดีตและกลุ่มที่มีชีวิตอยู่ในปัจจบัน ซึ่งกระบวนการทำงานที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยปะติดปะต่อเรื่องราวทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนเหล่านั้น

ใกล้เคียง

มานุษยรูปนิยม มานุษยวิทยา มานุษยรูปนิยมแบบโมเอะ มานุษยวิทยาศาสนา มานุษยวิทยาสังคม มานุษยวิทยาเมือง มานุษยวิทยาวัฒนธรรม มานุษยดนตรีวิทยา มานุษยวิทยาการแพทย์ มานุษยวิทยากายภาพ