ผลงานของมูลนิธิ ของ มูลนิธิเมาไม่ขับ

สื่อสร้างความตระหนักรู้ และสติกเกอร์ "เมาไม่ขับ"

นับแต่ยังเป็นชมรม ชมรมมีแนวคิดที่จะสร้างกระแสการตื่นตัวและภาพจำของคำว่า "เมาไม่ขับ" โดยไม่ต้องซื้อโฆษณาตามสื่อ จึงใช้วิธีต่าง ๆ นานา เช่น ขอความอนุเคราะห์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของชมรม จากนั้นทางชมรมเห็นว่าสติกเกอร์เป็นสื่อที่ราคาถูกและอยู่คงทนที่สุด ชมรมจึงขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนการทำสติกเกอร์พิมพ์ข้อความ "เมาไม่ขับ" เพื่อแจกจ่ายแก่คนทั่วไป และระดมอาสาสมัครนำสติกเกอร์ไปติดบนรถ มูลนิธิกล่าวว่านับแต่เปิดตั้งชมรมมา มีรถที่ติดสติกเกอร์ดังกล่าวถึง 3 ล้านค้น และรายการโทรทัศน์ 4 ต่อ 4 แฟมิลี่เกม ซึ่งเป็นรายการที่นำสถิติจากการสำรวจผู้ชมในห้องส่งเป็นจัดอันดับและทายเป็นคำถาม กล่าวว่าข้อความ "เมาไม่ขับ" เป็นข้อความที่พบเห็นมากที่สุดหลังรถยนต์[1]

สติกเกอร์ "เมาไม่ขับ" แบบที่พบเห็นมากที่สุดเป็นสติกเกอร์พิมพ์ข้อความ เมาไม่ขับ สีเหลืองตัดขอบสีดำ อยู่บนแถบโบสีน้ำเงินตัดขอบสีดำ ต่อมามีการดัดแปลงและสร้างสรรค์เป็นแบบอื่น เช่น ใช้ภาษาอื่นที่มีความหมายเดียวกัน รูปหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธพร้อมข้อความ "เมาไม่ขับเด้อ" ป้ายจราจรล้อเลียน[2]

ปัจจุบันนี้ยังมีการรณรงค์จากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคีเครือข่ายของมูลนิธิ เช่น เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ด้วยการใช้สื่อต่าง ๆ ของมูลนิธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปสติกเกอร์ "เมาไม่ขับ"[3]

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข่าว ชายชราเชื้อชาติจีนวัย 71 ปี ประกอบอาชีพขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในร้านเล็ก ๆ ย่านอุรุพงษ์ ขับรถยนต์ของตนชนรถยนต์พระที่นั่งซึ่งจอดรอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาเมื่อครั้งทรงอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ และรถลีมูซีนของโรงแรมโอเรียนเต็ล รวม 7 คัน หลังร่วมสังสรรค์งานสมรสบุตรของเพื่อนจนเมาขาดสติ ประมาณการค่าความเสียหายจากอุบัติเหตุดังกล่าวอยู่ที่ 2 ล้านบาท จากนั้นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานอภัยโทษ ไม่ทรงเรียกค่าเสียหาย ด้วยทรงเห็นว่าหากเรียกค่าเสียหายจะเป็นการลำบากแก่ผู้ก่อเหตุเอง อีกทั้งพระราชทานสติกเกอร์ "เมาไม่ขับ" และกำชับลูกหลานให้ผู้ก่อเหตุงดขับขี่ยานพาหนะอีกเพราะชรามากแล้ว อาจเกิดอุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิตได้[4]

การสร้างเครือข่าย

มูลนิธิได้สร้างเครือข่ายเพื่อบูรณาการการทำงานและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มแท็กซี่อาสาส่งคนเมากลับบ้าน กลุ่มเหยื่อจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ กลุ่มผู้ขับรถสาธารณะ กลุ่มผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง[1] กลุ่มนักศึกษาเมาไม่ขับ (อังกฤษ: Students Against Drunk Driving (SADD)) ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ[5] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ[6] นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายในต่างประเทศอีกด้วย เช่น เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับประเทศลาว มาเลเซีย ญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแล้ว ทางมูลนิธิยังได้เป็นส่วนสำคัญในการรณรงค์ร่วมกันอีกด้วย[7]

การรณรงค์ด้วยกิจกรรม

มูลนิธิรณรงค์การเมาไม่ขับด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาเพื่อลดยอดผู้ได้รับผู้กระทบจากอุบัติเหตุจากการดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ เช่น เข้าร่วมวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน[8] การเรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการต่อกลุ่มผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรเนื่องจากการเมาสุรา[9]

การผลักดันกฎหมาย

มูลนิธิได้ผลักดันกฎหมายเพื่อควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์แล้วไปขับขี่ยานพาหนะ เช่น การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สถานบริการเชื้อเพลิง การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำผิดกฎจราจรจากการดื่มแอลกอฮอล์[7]

ใกล้เคียง

มูลนิธิวิกิมีเดีย มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ มูลนิธิเส้นด้าย มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มูลนิธิไทยคม เอฟเอคัพ 2555 มูลนิธิไทยคม เอฟเอคัพ 2553 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิไทยคม เอฟเอคัพ 2554 มูลนิธิโคอาลาออสเตรเลีย

แหล่งที่มา

WikiPedia: มูลนิธิเมาไม่ขับ //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.thairath.co.th/news.php?section=special... http://ddd.or.th/Contents/view/4477 http://ddd.or.th/Contents/view/5119 http://ddd.or.th/Contents/view/5676 http://ddd.or.th/categories/view/2 http://ddd.or.th/medias/index?type=1#Sticker http://network.nhrc.or.th/organizations/view/1200 http://oknation.nationtv.tv/blog/canthai/2008/05/0... https://mgronline.com/live/detail/9590000111662