นายกรัฐมนตรีไทย ของ ยิ่งลักษณ์_ชินวัตร

ส่วนนี้ของบทความอาจต้องปรับปรุงให้มีมุมมองที่เป็นกลาง เนื่องจากนำเสนอมุมมองเพียงด้านเดียว ดูหน้าอภิปรายประกอบ โปรดอย่านำป้ายออกจนกว่าจะมีข้อสรุป
ดูบทความหลักที่: คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 60

สภาผู้แทนราษฎรมีมติ 296 ต่อ 3 (งดออกเสียง 197 ไม่เข้าประชุม 4) เลือกยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 และมีการจัดเตรียมพิธีรับพระบรมราชโองการไว้พร้อมแล้ว ณ อาคารที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน แต่จากนั้นให้หลังอีกสามวัน จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีลงมา ในวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม ทว่าประกาศลงวันที่ 5 สิงหาคม[35][36] จากนั้นยิ่งลักษณ์จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม และเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในวันที่ 10 สิงหาคม[37]

การทูต

ยิ่งลักษณ์เดินทางเยือนต่างประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี 36 ประเทศ[38] เข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศ 21 ครั้ง[39][40]

มหาอุทกภัย

ดูบทความหลักที่: อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554

พ.ศ. 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยมีระดับปริมาณน้ำฝนสูงที่สุดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา[41] อุทกภัยเริ่มทางภาคเหนือของประเทศ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ยิ่งลักษณ์จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[42] อุทกภัยลุกลามจากภาคเหนือ ไปยังที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางภาคกลางอย่างรวดเร็ว และจนถึงต้นเดือนตุลาคม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วมเกือบทั้งหมด อุทกภัยในประเทศไทยครั้งนี้ นับว่าเลวร้ายที่สุดในรอบมากกว่า 50 ปี ยิ่งลักษณ์จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในส่วนกลาง ราวกลางเดือนตุลาคม และออกตรวจเยี่ยมจังหวัดที่ประสบภัย ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม[43] ยิ่งลักษณ์ยังให้สัญญาว่า จะลงทุนในโครงการป้องกันอุทกภัยระยะยาว รวมทั้งการก่อสร้างคลองระบายน้ำ มาตรการลดอุทกภัยถูกขัดขวาง โดยการพิพาทระหว่างประชาชน จากสองฝั่งของกำแพงกั้นน้ำ โดยฝั่งที่ถูกน้ำท่วมเข้าทำลายกำแพงกั้นน้ำในหลายกรณี และบางครั้งส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าด้วยอาวุธ[44][45] ผู้นำฝ่ายค้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผู้นำทหาร เรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจแก่ทหารมากขึ้น ในการรับมือกับปัญหาการทำลายกำแพงกั้นน้ำ[46] ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยระบุว่าไม่ช่วยให้การจัดการอุทกภัยดีขึ้น เธอประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และออกประกาศให้พื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลมากขึ้น ในการจัดการการควบคุมอุทกภัยและการระบายน้ำแทน[47]อย่างไรก็ตามเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติเนื่องจากพื้นที่ใดเมื่อเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจะได้รับเงินและงบประมาณลงไปในการช่วยเหลือพื้นที่นั้น[48]

การคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

นับแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 มีการชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ซึ่งเดิมวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เป็นผู้เสนอร่าง แต่ภายหลังมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ นำโดยประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานกรรมาธิการ และอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย จนมีการคัดค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี[49]

นอกจากนี้ การคัดค้านดังกล่าวยังมีนิสิต-นักศึกษา นักวิชาการบางส่วน พนักงานเอกชน และนักแสดงส่วนหนึ่ง ทั้งในการชุมนุมต่าง ๆ และในเครือข่ายสังคม[50] โดยนัดหมายให้เปลี่ยนภาพอวตาร ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นตามรูปแบบของป้ายจราจรทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีดำ มีข้อความว่า "คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม"[51] คนเสื้อแดงบางกลุ่มก็คัดค้านการนิรโทษกรรมแก่ผู้ใช้อำนาจบริหารและเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนั้น ซึ่งออกและรับคำสั่งให้ใช้กระสุนจริงกับประชาชน อาทิ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง[52]

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีประกาศว่า สภาผู้แทนราษฎรลงมติถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และการปรองดองแห่งชาติอีก 6 ฉบับ ออกจากระเบียบวาระทั้งหมดแล้ว จึงขอเรียกร้องให้ยุติการชุมนุม[53] ด้านสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำเวทีราชดำเนิน ประกาศว่าจะชุมนุมต่อ จนกว่ารัฐบาลจะเป็นผู้ถอนร่างเอง[54]

กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ได้จัดเวทีชุมนุมที่ลานอเนกประสงค์หลังสนามฟุตบอลเอสซีจี เมืองทองธานี ในวันที่ 10 พฤศจิกายน เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ได้กล่าวว่า "การชุมนุมวันนี้มีคนเสื้อแดงกทม. ปริมณฑล และในภาคกลาง เดินทางมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก อาทิ จ.นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ลพบุรี สระบุรี และสมุทรปราการ ทั้งนี้ แกนนำนปช.และพรรคเพื่อไทยได้ประสานความร่วมมือกันเดินสายจัดเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนและต่อต้านการล้มประชาธิปไตย ล้มล้างรัฐบาล"[55]

ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ของวุฒิสภานั้น มีสมาชิกจำนวนหนึ่ง ร้องขอให้ประธานวุฒิสภา นิคม ไวยรัชพานิช เลื่อนประชุมเป็นวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายนจากเดิมวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อลงมติถอนร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวให้ตกไปโดยเร็ว อันจะเป็นการลดความตึงเครียด ของสถานการณ์บ้านเมือง แต่กลุ่ม 40 ส.ว. ไม่ยอมเข้าร่วมการประชุมในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน แล้วรวมตัวกันอยู่ภายในห้องประชุมเล็ก อาคารรัฐสภา 2 โดยอ้างมติคณะกรรมการประสานงาน (วิป) วุฒิสภา ที่กำหนดให้มีการประชุม ในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน แม้ประธานวุฒิสภา และสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานคนที่หนึ่ง จะเข้าเจรจาให้ร่วมการประชุมแล้วก็ตาม[56] ซึ่งสมชาย แสวงการ สมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. ได้อ้างว่า ไม่พอใจการเลื่อนนัดวันประชุม โดยเชื่อว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม[57] เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน วุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ 141 เสียง ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติฯ ไว้เป็นเวลา 180 วัน ก่อนจะส่งคืนให้สภาผู้แทนราษฎร[58]

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 หลังช่วงที่การเมืองค่อนข้างมีเสถียรภาพนานสองปี จนวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ประกาศทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาขอยุบสภาผู้แทนราษฎร[59] โดยคณะรัฐมนตรีจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง จากกรณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ[60][61]

การสอบสวนการฉ้อราษฎร์บังหลวง พ.ศ. 2557

ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ยิ่งลักษณ์กำลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนบทบาทในโครงการรับจำนำข้าวหลังดำเนินคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างเป็นทางการกับรัฐมนตรีสองคน ป.ป.ช. จะตรวจสอบดูว่าเธอประมาทในฐานะประธาน กขช. หรือไม่[62] แม้เป็นประธานคณะกรรมการฯ แต่ยิ่งลักษณ์ยอมรับในการอภิปรายไม่ไว้วางใจปี 2556 ว่า เธอไม่เคยร่วมการประชุมของ กขช.[63]

วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช. ตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์ฟ้องคดีอาญายิ่งลักษณ์ในคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงโครงการรับจำนำข้าว โดยอ้างว่าชาวนาหลายล้านคนยังไม่ได้เงิน[64][65][66]

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปฏิเสธการเพิ่มหลักฐาน 72 ชิ้นในคดีรับจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ มีกำหนดการนั่งพิจารณาคดีถอดถอนจากตำแหน่งครั้งแรกในวันที่ 9 มกราคม 2558[67] มีการตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม จำนวน 9 คน[68]

วันที่ 23 มกราคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งฐานละเลยต่อหน้าที่ต่อโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลให้เธอถูกห้ามเล่นการเมืองห้าปี นอกจากนี้ ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญาต่อโครงการ ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกอีกหากพบว่ามีความผิด[69] หลังมีมติดังกล่าว ยิ่งลักษณ์ถูกห้ามแถลงข่าว[70]

ใกล้เคียง

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งยง ยอดบัวงาม ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ยิ่งพันธ์ มนะสิการ ยิ่งยง โอภากุล ยิ่งศักดิ์ โควสุรัตน์ ยิ่งห้ามยิ่งหวั่นไหว ยิ่งรู้จัก ยิ่งรักเธอ การยิงลูกโทษ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยิ่งลักษณ์_ชินวัตร http://www.china.org.cn/world/2014-05/08/content_3... http://www.womenofchina.cn/womenofchina/html1/news... http://asiancorrespondent.com/57508/abhisit-conced... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/770224 http://www.bangkokpost.com/business/news/389909/yi... http://www.bangkokpost.com/news/politics/218585/yi... http://www.bangkokpost.com/news/politics/232901/on... http://www.bangkokpost.com/news/politics/237363/yi...