อาชีพการเมือง ของ ยิ่งลักษณ์_ชินวัตร

พรรคเพื่อไทย

เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ในราวปลายปี พ.ศ. 2551 และหลังจากนั้นก็มี ส.ส.กับสมาชิกพรรคจำนวนมาก ย้ายเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ก็เป็นทางเลือกแรกของทักษิณ ที่จะให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธโดยกล่าวว่า ตนไม่เคยต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี และเพียงแต่สนใจจะทำธุรกิจของตนเท่านั้น โดยเธอจะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นบางครั้ง เฉพาะเมื่อทางพรรคส่งจดหมายเชิญเท่านั้น[14] ยงยุทธ วิชัยดิษฐจึงได้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแทน และในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมกับพวกอีก 28 คน ในคดีโครงการรับจำนำข้าว โดยมีข้อกล่าวหาว่าปล่อยปะละเลยให้มีการทุจริตโดยไม่ยับยั้ง ซึ่งศาลได้นัดพิจารณาคดีในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 9.00 น. ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ได่เดินทางไปฟังคำพิพากษาจนกระทั่งนำไปสู่การออกหมายจับ กลายเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง[15]

การรั่วไหลของโทรเลขภายในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2554 เปิดเผยว่า ระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552 อดีตรองนายกรัฐมนตรี และพันธมิตรใกล้ชิดกับทักษิณ (คาดว่าเป็นสมพงษ์ อมรวิวัฒน์) กล่าวแก่อีริก จี.จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่า เขาไม่คิดว่ายิ่งลักษณ์จะมีบทบาทสำคัญในพรรคเพื่อไทย และว่า "ตัวทักษิณเองไม่ได้กระตือรือร้น ที่จะยกเธอให้สูงขึ้นภายในพรรค และมุ่งให้ความสำคัญ ในการหาทางให้เขา ยังมีส่วนร่วมในทางการเมืองอยู่มากกว่า" อย่างไรก็ตาม โทรเลขภายในต่อมา ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เอกอัครราชทูตหมายเหตุว่า ในการประชุมกับยิ่งลักษณ์ เธอพูดด้วยความมั่นใจเกี่ยวกับ "ปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์และเป้าหมาย" ของพรรคเพื่อไทย และดูเหมือนจะมี "ความมั่นใจมากขึ้น" กว่าการประชุมครั้งก่อนมาก โทรเลขภายในอ้างถึงยิ่งลักษณ์โดยกล่าวว่า "บางคนสามารถปรากฏออกมาค่อนข้างช้าในเกม เพื่อจะควบคุมพรรคและเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป"[16]

ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อหมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย

ปลายปี พ.ศ. 2553 ยงยุทธ วิชัยดิษฐแสดงเจตจำนงว่าจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ท่ามกลางภาวะคาดการณ์ว่า จะมีการเลือกตั้งอย่างกะทันหันในช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 ยิ่งเพิ่มการโต้เถียงภายในพรรค เกี่ยวกับผู้ที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ตัวเต็งคือยิ่งลักษณ์กับมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้นำการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลผสม ซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ยังคงไม่ยอมรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยย้ำว่าเธอต้องการมุ่งความสนใจไปยังการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตามเธอได้รับการหนุนหลังจากนักการเมืองอาวุโส (คาดว่าเป็น ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง)[17]

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติเลือกยิ่งลักษณ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 1 เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 3 กรกฎาคม[18] อย่างไรก็ตาม เธอมิได้เป็นหัวหน้าพรรค และมิได้เข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรค การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นของทักษิณ โดยเขาให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า "เธอเป็นโคลนของผม" และ "เธอสามารถตอบ 'ใช่' หรือ 'ไม่' ในนามของผมได้"[19]

ยิ่งลักษณ์ระบุว่า การออกพระราชบัญญัติอภัยโทษหรือการนิรโทษกรรม ที่เสนอโดย ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุงนั้น "เป็นเพียงหลักและวิธีการ โดยหลักของส่วนนี้ต้องมาดูว่าจะได้อะไร และต้องมีคณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณา โดยมีร้อยตำรวจเอกเฉลิมเป็นหัวเรือ" ร.ต.อ. เฉลิมระบุว่าความคิดนิรโทษกรรม ไม่ได้ให้ทักษิณเพียงคนเดียว แต่จะให้ทุกคน[20][21]

การรณรงค์เลือกตั้ง

พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านจากเดิมหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เป็น 2 ล้านบาท แล้วเร่งพัฒนากองทุนหมู่บ้านให้เป็นธนาคารชุมชนขณะเดียวกันก็รื้อฟื้นกองทุน S M L เพื่อให้ประชาชนจัดงบประมาณและบริหารงบประมาณกันในชุมชนโดยหมู่บ้านขนาดเล็ก รัฐบาลจัดงบให้ 3 แสนบาท หมู่บ้านขนาดกลาง จัดงบให้ 4 แสนบาท และหมู่บ้านขนาดใหญ่ ได้ 5 แสนบาท [22]

ความปรองดองเป็นหนึ่งในเรื่องการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของยิ่งลักษณ์ หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ที่กินเวลามาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เธอสัญญาว่าจะให้อำนาจแก่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) คณะทำงานซึ่งรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ตั้งขึ้น เพื่อสืบสวนกรณีการเสียชีวิตในระหว่างชุมนุมทางการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2553[23] คอป. เคยแสดงท่าทีว่า งานของ คอป. ถูกขัดขวางโดยทหารและรัฐบาลอภิสิทธิ์[24] ยิ่งลักษณ์ยังเสนอให้นิรโทษกรรมทั่วไป แก่อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเมืองทั้งหมดที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ซึ่งรวมไปถึงรัฐประหารครั้งนั้นด้วย คำพิพากษาที่ห้ามมิให้กรรมการบริหาร พรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงการยึดทำเนียบรัฐบาลกับท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การสลายการชุมนุมของทหารในปี พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553 และการวินิจฉัยคดีที่ทักษิณถูกกล่าวหาทางการเมือง ว่าละเมิดอำนาจ[25] ข้อเสนอดังกล่าวถูกโจมตีอย่างรุนแรงโดยฝ่ายประชาธิปัตย์ ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นไปได้ที่จะเป็นการนิรโทษกรรมเฉพาะทักษิณ และจะส่งผลให้เขาได้รับทรัพย์สินมูลค่า 46,000 ล้านบาทที่เคยถูกพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดินคืน อย่างไรก็ตามยิ่งลักษณ์ปฏิเสธว่า เธอไม่มีเจตนาจะนิรโทษกรรมแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ประชาธิปัตย์ยังกล่าวโทษพรรคเพื่อไทยว่า เป็นต้นเหตุของการนองเลือด ระหว่างการสลายการชุมนุมของทหาร[26]

ยิ่งลักษณ์ยังอธิบาย "วิสัยทัศน์ 2020" ว่าจะกำจัดความยากจน[27] เธอสัญญาว่าจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% และลดถึง 20% ภายในปี พ.ศ. 2556 และเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน และค่าแรงขั้นต่ำสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน นโยบายด้านการเกษตรของเธอ รวมไปถึงการเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (operating cashflow) ให้แก่ชาวนา และจัดหาเงินกู้ที่สามารถกู้ได้ มากที่สุดถึง 70% ของรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ โดยอาศัยราคาจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน[28] เธอยังวางแผนที่จะจัดเตรียมระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะ และคอมพิวเตอร์แบบรับข้อมูลด้วยการเขียนบนจอภาพ (แท็บเล็ตพีซี) แก่เด็กนักเรียนทุกคน ซึ่งเคยเป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทย แต่กลับถูกรัฐประหารไปเมื่อปี พ.ศ. 2549 เสียก่อน[29] โดยผลสำรวจความคิดเห็นก่อนการเลือกตั้งเกือบทั้งหมดออกมาว่า พรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะเหนือประชาธิปัตย์อย่างถล่มทลาย[30]

ผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล

ผลการหยั่งเสียงหน้าคูหาเลือกตั้งชี้ว่า พรรคเพื่อไทยชนะอย่างถล่มทลาย โดยคาดว่าจะได้สูงถึง 310 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร[31] ผลอย่างเป็นทางการออกมาว่า พรรคเพื่อไทยได้ 265 ที่นั่ง โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 75.03% มีบัตรเสียจำนวน 3 ล้านบัตร ซึ่งจำนวนที่มากนี้อาจเป็นสาเหตุของความแตกต่าง ระหว่างผลเอกซิตโพลกับการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทยเท่านั้น ที่พรรคการเมืองเดียวจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่าครึ่ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นกับพรรคไทยรักไทยของทักษิณ

ยิ่งลักษณ์จัดตั้งรัฐบาลผสมอย่างรวดเร็ว กับพรรคชาติไทยพัฒนา (19 ที่นั่ง) พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (7 ที่นั่ง) พรรคพลังชล (7 ที่นั่ง) พรรคมหาชน (1 ที่นั่ง) และพรรคประชาธิปไตยใหม่ (1 ที่นั่ง) รวมแล้วมี 300 ที่นั่ง[32] รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณกล่าวว่า เขายอมรับผลการเลือกตั้ง และหลังจากที่พูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้ว จะไม่เข้ามาแทรกแซงการเมือง[33] ด้านผู้บัญชาการทหารบก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งโดยปกติแล้วจะให้สัมภาษณ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทย ปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ใด ๆ[34]

ใกล้เคียง

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งยง ยอดบัวงาม ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ยิ่งพันธ์ มนะสิการ ยิ่งยง โอภากุล ยิ่งศักดิ์ โควสุรัตน์ ยิ่งห้ามยิ่งหวั่นไหว ยิ่งรู้จัก ยิ่งรักเธอ การยิงลูกโทษ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยิ่งลักษณ์_ชินวัตร http://www.china.org.cn/world/2014-05/08/content_3... http://www.womenofchina.cn/womenofchina/html1/news... http://asiancorrespondent.com/57508/abhisit-conced... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/770224 http://www.bangkokpost.com/business/news/389909/yi... http://www.bangkokpost.com/news/politics/218585/yi... http://www.bangkokpost.com/news/politics/232901/on... http://www.bangkokpost.com/news/politics/237363/yi...