สาเหตุของยุคทอง ของ ยุคทองของเนเธอร์แลนด์

ในปี ค.ศ. 1568 จังหวัดเจ็ดจังหวัดลงนามในสนธิสัญญาสหภาพแห่งยูเทรกต์ (Union of Utrecht) ในการปฏิวัติต่อต้านอำนาจการปกครองของพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปนที่นำไปสู่สงครามแปดสิบปี แต่ก่อนที่สเปนจะสามารถกู้กลุ่มประเทศต่ำคืนมาได้ทั้งหมด สงครามระหว่างอังกฤษและสเปนก็อุบัติขึ้น เสียก่อน อันเป็นผลทำให้พระเจ้าฟิลลิปต้องทรงหยุดยั้งการเดินทัพคืบหน้า หลังจากที่ได้ทรงสามารถยึดเมืองสำคัญทางการค้าที่รวมทั้งบรูจส์และเก้นท์ได้แล้ว แต่การที่จะได้รับชัยชนะได้อย่างสมบูรณ์ พระองค์ก็ต้องยึดอันท์เวิร์พซึ่งเป็นเมืองสำคัญที่สุดทางการค้าขณะนั้นให้ได้ ซึ่งก็ทรงทำสำเร็จเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1585 เมื่ออันท์เวิร์พเสียแก่สเปน ซึ่งเป็นการยุติสงครามแปดสิบปีสำหรับเนเธอร์แลนด์ตอนใต้ (เบลเยียมปัจจุบัน) แต่สหจังหวัดดัตช์ (เนเธอร์แลนด์ปัจจุบัน) ก็ยังคงดำเนินการต่อสู้ต่อไปจนกระทั่งปี ค.ศ. 1648 - เมื่อลงนามในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Peace of Westphalia)

ภาพวาดการเฝ้ายามกลางคืนของแร็มบรันต์ (ค.ศ. 1642)

นับตั้งแต่เหตุการณ์สูญเสียเนเธอร์แลนด์ตอนใต้ให้กับสเปนในปี ค.ศ. 1585 พ่อค้าผู้มีฐานะมั่งคั่งและช่างฝีมือของลัทธิคาลวินในเมืองต่างๆ ที่ตกไปเป็นของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสายสเปนต้องหนีภัยขึ้นไปทางตอนเหนือ พ่อค้าจำนวนมากหนีขึ้นไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในอัมสเตอร์ดัมซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงเมืองท่าเล็กๆ แต่ไม่นานก็เจริญขึ้นเป็นเมืองท่าสำคัญในบริเวณนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 สวนทางกับชาวโรมันคาทอลิกที่หนีลงมาอยู่าทางใต้ การอพยพของพ่อค้าและผู้คนครั้งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นการไป “สร้างอันท์เวิร์พใหม่” การอพยพกันจากฟลานเดอร์สและบราบองต์เป็นชนวนสำคัญในการผลักดันให้เกิด “ยุคทองของเนเธอร์แลนด์” เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์เฟื่องฟู อัตราดอกเบี้ยต่ำและอัตราการรู้หนังสือสูง นอกจากผู้ลี้ภัยจากทางใต้ของเนเธอร์แลนด์แล้วก็ยังมีผู้ลี้ภัยจากบริเวณอื่นๆ ของยุโรปมาสมทบ เช่นที่หนีมาจากการไล่ทำร้ายและสังหารทางศาสนาโดยเฉพาะชาวยิวเซฟาร์ดี (Sephardi Jews) จากโปรตุเกสและสเปน และต่อมากลุ่มอูเกอโนต์จากฝรั่งเศส

นอกจากนี้ ความรุ่งเรืองทางอุตสาหกรรม การค้า ศิลปะ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ มีส่วนช่วยทำให้ดินแดนแผ่นดินต่ำเจริญมากขึ้นไปอีก ในยุคคนี้มีการใช้พลังงานจากกังหันลมและถ่านหินพีตที่ราคาถูก การขนส่งถ่านหินก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการขุดคลองไปยังเมืองต่างๆ มีการคิดค้นโรงเลื่อนพลังงานกังหันลม ทำให้อุตสาหกรรมต่อเรือขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการต่อเรือรบและเรือค้าขายจำนวนมาก เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการป้องกันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางการทหารของอาณาจักร

ทิวทัศน์ริมแม่น้ำ ชาวประมง และกังหันลม ปี ค.ศ. 1679

แต่เดิม ชาวโปรตุเกสและสเปนเป็นมหาอำนาจทางการค้ากับตะวันออกไกล แต่ดุลอำนาจเริ่มเปลี่ยนเมื่อชาวเนเธอร์แลนด์ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1602 โดยมีเงินทุนจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก(ที่มีการเปิดขายแก่สาธารณะ) บริษัทผูกขาดการค้ากับเอเชียเป็นเวลาเกือบสองศตวรรษ กลายเป็นองค์กรพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงศตวรรษที่ 17  ทำการขนส่งเครื่องเทศจากเอเชียกลับมายังยุโรปและสร้างกำไรมหาศาลจากการค้าขายต่อ ทำให้การเงินของอาณาจักรเติบโตมาก เกิดระบบธนาคารที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาเพื่อดูแลผลประโยชน์ของพ่อค้า

นอกจากการค้ากับตะวันออกไกลแล้ว แหล่งรายได้ที่สำคัญอีกแหล่งของสาธารณรัฐมาจากการค้ากับรัฐบอลติกและโปแลนด์ โดยชาวอัมสเตอร์ดัมรับธัญพืชและไม้มาเก็บไว้ก่อนจะขายต่อเพื่อทำกำไร การค้าทรัพยากรเหล่านี้ยังทำให้สาธารณรัฐไม่ต้องเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพงเนื่องจากการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวไม่ได้ผล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของฝรั่งเศสและอังกฤษในศตวรรษที่ 17 นอกจากนี้ กรุงอัมสเตอร์ดัมอยู่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีอีกด้วยโดยอยู่กึ่งกลางระหว่างระยะทางจากอ่าวบิสเคย์(ใกล้ฝรั่งเศสสเปน)และทะเลบอลติก(ใกล้สวีเดนและรัสเซีย) ดังนั้น เรือสินค้าจากบอลติกมักจะจอดที่อัมสเตอร์ดัมเพื่อขนส่งสินค้าอย่างธัญพืช ปลาจากบอลติกไปยังประเทศตะวันตก และรัฐตะวันตกก็นำสินค้าจำพวกเกลือ ไวน์ เสื้อผ้า เงิน และเครื่องเทศ ไปจำหน่ายให้รัฐบอลติกผ่านพ่อค้าคนกลางในอัมสเตอร์ดัม ชาวดัตช์จึงได้ผลประโยชน์มหาศาลจากเรือที่แวะพักและมาแลกเปลี่ยนสินค้ากัน

ใกล้เคียง

ยุคทองของเนเธอร์แลนด์ ยุคทองของอิสลาม ยุคทองแดง ยุคเอโดะ ยุคออร์โดวิเชียน ยุคอาซูจิ–โมโมยามะ ยุคแอตติจูด ยุคอาณาจักรเหนือใต้ของเกาหลี ยุคที่สามแห่งอาร์ดา ยุคที่สองแห่งอาร์ดา

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยุคทองของเนเธอร์แลนด์ http://www.17castles.00freehost.com/index.html http://www.holland-in-linien.de/index_eng.html http://www.willem-kalf.de/index_eng.html http://www.ucmp.berkeley.edu/history/leeuwenhoek.h... http://www.balticconnections.net/index.cfm?article... http://www.wereldexpat.nl/nl/typischNL/recepten/ko... http://www.culinaryhistoriansny.org/files/Newslett... https://books.google.com/books?id=30A5AAAAIAAJ https://books.google.com/books?id=30A5AAAAIAAJ&pg=... https://web.archive.org/web/20081223110810/http://...