ศิลปวัฒนธรรม ของ ยุคเฮอัง

ตัวอักษรคะนะ

วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบของญี่ปุ่นโดดเด่นมากในสมัยเฮอัง ในศตวรรษที่ 9 ญี่ปุ่นยังคงรับวัฒนธรรมของราชวงศ์ถังอยู่ พุทธศาสนานิกายมิเคียว (密教 Mikkyou) กับการเขียนรูปประโยคแบบจีนแพร่หลายมาก พอเข้าสู่ศตวรรษที่ 10 หลังจากที่ญี่ปุ่นไม่ได้ติดต่อโดยตรงกับภาคพื้นทวีปแล้ว ได้เกิดวัฒนธรรมชนชั้นสูงที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะของญี่ปุ่นเอง วรรณกรรมที่เด่นในเวลานี้ อาทิ “โคะคินวะกะชู” (古今和歌集 Kokinwakashuu) เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์ญี่ปุ่นเล่มแรกตามพระราชโองการของจักรพรรดิ (ในต้นศตวรรษที่ 10) “ตำนานเก็นจิ” (源氏物語 Genji Monogatari) นวนิยายเรื่องยาวที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งโลก (ประมาณต้นศตวรรษที่ 11) และ “มะคุระโนะโซชิ” (枕草子 Makura-no-sōshi) หนังสือข้างหมอน (ประมาณ ค.ศ. 1000) วรรณกรรมเหล่านี้เขียนด้วยตัวอักษร คะนะ อีกด้วย ตั้งแต่ช่วงหลังศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา พุทธศาสนานิกายโจโดะ (浄土教 Joudo-kyo) ซึ่งมุ่งหวังความสุขในชาติหน้าเป็นที่นับถืออย่างแพร่หลายเช่นเดียวกับนิกายมิคเคียว ที่หวังผลประโยชน์เฉพาะในชาตินี้ และเราจะเห็นถึงความมีเอกลักษณ์แบบญี่ปุ่นปรากฏอยู่ในวรรณกรรมกับงานศิลปะ เช่น สถาปัตยกรรม การเขียนภาพ การแกะสลัก เป็นต้น