ความคืบหน้า ของ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม_3_สนามบิน

  • 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 - นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับประชาชาติธุรกิจว่า จะเปิดให้ประมูลโครงการภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 โดยเชิญชวนผู้เข้าร่วมประมูลทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงรอผลการแก้ไขสัญญาร่วมทุนให้ต่างด้าวสามารถถือโครงการได้เกิน 50% จาก คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... เพื่อเปิดทางให้บริษัททุนต่างชาติเข้าร่วมลงทุนโครงการได้โดยไม่ต้องผ่านการจัดตั้งบริษัทลูกในประเทศไทย[4]
  • 27 มีนาคม พ.ศ. 2561 - ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน ระยะทาง 220 ในส่วนเส้นทางพญาไท-บางซื่อ-ท่าอากาศยานดอนเมือง และส่วนเส้นทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินงานร่วมกับเอกชนในรูปแบบ PPP-Net Cost ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ภายใต้กรอบเงินลงทุนรวมร่วมกับเอกชนไม่เกิน 119,000 ล้านบาท รวมมูลค่าโครงการทั้งโครงการในระยะเวลาสัมปทานแรก 400,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะออก TOR เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมการประมูลได้ภายในเดือนเมษายนนี้[5]
  • 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) เปิดเผยว่า กศน. ต้องการออก TOR โครงการรถไฟความเร็วสูง ให้มีความครอบคลุมในการดำเนินการกับนานาประเทศ ยกระดับโครงการจากเมกะโปรเจกต์เป็นเมกะเวิลด์ ด้วยการเปลี่ยนแผนการลงทุนโครงการเป็นการลงทุนแบบนานาชาติตามข้อกำหนดของธนาคารโลก ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ก่อให้เกิดการแข่งขันจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ และเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับโครงการระดับเมกะเวิลด์ที่ประเทศไทยจะเปิดประมูลในอนาคต จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและใช้เวลาในการปรับปรุงร่าง TOR เนื่องจากเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วพบว่าร่าง TOR ยังไม่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว คาดว่าจะออก TOR เชิญชวนได้ไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้[6]
  • 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ได้จัดทำร่าง TOR แล้วเสร็จกว่า 90% แต่ยังไม่สามารถออกเอกสารได้เนื่องจากต้องรอประกาศจากทางคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของผู้เข้าร่วมลงทุนในโครงการก่อนเช่น สัดส่วนการถือหุ้นระหว่างไทยกับต่างชาติ เกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การใช้ที่ดิน เป็นต้น จากนั้น รฟท. จะต้องนำร่าง TOR ที่จัดทำขึ้นไปเทียบเคียงกับประกาศว่าสอดคล้องกันหรือไม่ หากไม่สอดคล้องจะต้องทำการปรับเงื่อนไขใหม่ ทำให้ไม่สามารถออกร่างได้ทันในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 และต้องเลื่อนแผนการดำเนินการออกไปเป็นปี พ.ศ. 2562 คาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ใน พ.ศ. 2567[7]
  • 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินว่า รฟท. อยู่ในระหว่างการศึกษา พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เพื่อเตรียมที่จะออกเงื่อนไขการประมูลและเอกสารเชิญชวนเข้าร่วมประมูล (TOR) ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ในต้นปี พ.ศ. 2562 [8]
  • 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนา “GAME CHANGER เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต” ว่า ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 รัฐบาลโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เตรียมขายซองเพื่อให้นักลงทุนที่สนใจในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ซึ่งจะทำให้รู้กรอบของ TOR ชัดเจนขึ้น โดยสัดส่วนการถือหุ้นจะยึดตามกฎหมายไทย คือต่างด้าวถือหุ้นในโครงการได้ไม่เกิน 49% จากนั้นภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 จะขายเอกสารประกวดราคาและเปิดยื่นซองประมูลภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 คาดว่าจะได้ผู้ชนะอย่างเร็วในช่วงปลายปี หรืออย่างช้าต้นปี พ.ศ. 2562 เพราะการเจรจาอาจจะใช้เวลานาน เนื่องจากเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนสูง[9]
  • 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่างทีโออาร์ ได้แถลงถึงการดำเนินโครงการและกรอบเวลาในการเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 รัฐฯ จะประกาศเชิญชวนผู้สนใจลงทุนและให้ข้อมูลเงื่อนไขการประมูล ในเบื้องต้นรัฐฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้าภายใน พ.ศ. 2561 หลังจากนั้นจะเป็นกระบวนการในการต่อรองราคาครั้งสุดท้ายเพื่อยื่นเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติผู้ชนะการประมูล และคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ประมาณต้นปี พ.ศ. 2562 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี ปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณและเปลี่ยนถ่ายผู้ให้บริการ 2 ปี และเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบภายใน พ.ศ. 2567 โดยรูปแบบการร่วมลงทุนจะเป็นแบบ PPP Net Cost อายุสัมปทาน 50 ปี ครบสัญญาทรัพย์สินจะตกเป็นของรัฐบาล[10]
  • 18 มิถุนายน - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 - เริ่มเปิดขายซองประมูลโครงการฯ โดยมีเอกชนแสดงความสนใจเข้าซื้อซองประมูลทั้งหมด 31 ราย [11]
  • 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 - เปิดรับเอกสารข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนในโครงการ และเอกสารเสนอราคา มีเอกชนยื่นข้อเสนอเป็นกิจการร่วมค้า 2 ราย จาก 8 บริษัท ดังนี้[12]
    1. กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (60% เป็นผู้นำการประมูล), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน) (20%) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (20%))
    2. กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (70% เป็นผู้นำการประมูล), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (รวมกัน 15%), China Railway Construction Corporation Limited (10%) และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (5%))
  • 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินเปิดเผยว่าหลังจากเปิดรับเอกสารข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนในโครงการ และเอกสารเสนอราคา ผลปรากฏว่า กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เป็นผู้ยื่นข้อเสนอดีที่สุด อย่างไรก็ตาม รฟท. ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ เนื่องมาจากตัวเลขที่กลุ่มฯ เสนอเข้ามานั้นต่ำเกินเกณฑ์ที่คาดการณ์ไว้ อาจจะส่อเค้าทำให้รัฐฯ และกิจการของรัฐฯ ได้รับความเสียหาย จึงต้องเจรจาในรายละเอียดและเงื่อนไขการลงทุนแบบละเอียด หากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ รฟท. จะเรียก กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เข้ามาเจรจาร่วมลงทุนแทน
  • 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินเปิดเผยหลังจากการประชุมสรุปซองข้อเสนอด้านการเงินและผลตอบแทน ผลปรากฏว่าผู้ยื่นข้อเสนอด้านการเงินที่ดีที่สุด คือ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งเสนอราคาที่ 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินที่รัฐบาลอนุมัติไว้ที่ 2,198 ล้านบาท ในขณะที่ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เสนอราคาที่ 169,934 ล้านบาท สูงกว่ากรอบวงเงินที่อนุมัติไว้ 50,509 ล้านบาท และสูงกว่ากลุ่มซีพีถึง 52,707 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รฟท. ได้รับหนังสือชี้แจงรายละเอียดของกรอบวงเงินจากทั้งสองกลุ่มเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561 โดยกลุ่มบีเอสอาร์ชี้แจงว่าในกรอบวงเงินที่เสนอมา มีการรวมค่าปรับปรุงโครงสร้างทั้งหมดของโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เข้ามาในงบที่เสนอด้วย รวมถึงงบที่เสนอเป็นงบที่คำนวณจากฐานค่าก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนซึ่งใช้เกณฑ์เดียวในการอ้างอิงกับโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แต่ทางกลุ่มซีพีไม่ได้มีการเปิดเผย เพียงระบุว่าตัวเลขที่เสนอมาเป็นตัวเลขที่เป็นไปได้ในหลาย ๆ กรณี ทั้งนี้ รฟท. จะเชิญชวนตัวแทนกลุ่มซีพีเข้ามาร่วมเปิดซองข้อเสนอพิเศษของโครงการในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561 และจะเริ่มดำเนินการเจรจาในรายละเอียดในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตามหากการเจรจาไม่ได้ข้อสรุปภายในระยะเวลาสองอาทิตย์ ก็จะเชิญกลุ่มบีเอสอาร์เข้ามาเปิดซองข้อเสนอพิเศษของโครงการและดำเนินการเจรจาต่อ เพื่อให้ได้ผู้ชนะและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562
  • 4 เมษายน พ.ศ. 2562 - นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิดเผยหลังจากการประชุมและเจรจารายละเอียดโครงการฯ ผลปรากฏว่า กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอราคาต่ำสุดที่ 117,227 ล้านบาท ได้บรรลุการตกลงในเรื่องต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ฝ่ายกฎหมายของทั้งสองหน่วยงาน และฝ่ายกฎหมายของ สำนักงานโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สำนักงาน EEC) จะดำเนินการเจรจาและร่างสัญญาสัมปทานโครงการร่วมกัน คาดว่าจะนำเสนอต่อคณะกรรมการอีอีซี และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติสัญญาสัมปทานได้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 และลงนามสัญญาสัมปทานได้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562
  • 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 - คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ตามที่สำนักงานโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกได้ยื่นเข้ามาพิจารณา คาดว่าจะลงนามสัญญาสัมปทานได้ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562
  • 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562 - คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562[13]
  • 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562 - ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยใช้เวลาพิจารณารายงานเพียง 10 นาที และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเรื่องแผนการจัดทำแผนฉุกเฉิน กู้ภัยและอุบัติเหตุ[14]
  • 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562 - การรถไฟแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สำนักงาน EEC) ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาสัมปทานกับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร และสัญญาว่าด้วยความเข้าใจในเรื่องการสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงาน EEC และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ณ ตึกสันติไมตรี(หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล โดยบริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้ถือสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเป็นบริษัทที่จะดำเนินการในส่วนธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด

ใกล้เคียง

รถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (สายอีสาน) รถไฟความเร็วสูงกัวลาลัมเปอร์–สิงคโปร์ รถไฟความเร็วสูงจีน รถไฟคินเท็ตสึ รถไฟความเร็วสูงแบ่งตามประเทศ รถไฟความเร็วสูงสายทาชเคนต์–บูฆอรอ รถไฟความเร็วสูงสายเหนือ-ใต้ (เวียดนาม)

แหล่งที่มา

WikiPedia: รถไฟความเร็วสูงเชื่อม_3_สนามบิน http://www.hsr3airports.com/ http://www.pattayalrt.com/ http://www.thansettakij.com/content/279172 http://www.thansettakij.com/content/312700 http://www.moneychannel.co.th/news_detail/21494/%E... http://www.railway.co.th http://www.otp.go.th http://www.eeco.or.th https://web.facebook.com/pr.railway/posts/24013202... https://mgronline.com/business/detail/961000005153...