การให้บริการ ของ รถไฟฟ้าชานเมือง_สายสีแดง

ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า

ในคราวการประชุมร่วมระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. เพื่อขออนุมัติโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงพญาไท - บางซื่อ - ดอนเมือง เมื่อ พ.ศ. 2559 คนร. ได้มีการพิจารณาเรื่องบทบาทการให้บริการระบบขนส่งมวลชนของการรถไฟแห่งประเทศไทยใหม่ หลังจากที่ ร.ฟ.ท. ได้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริการโครงการรถไฟฟ้าโดย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ไม่ว่าจะเป็น ความล้มเหลวในการรับมือกับภาวะขาดแคลนอะไหล่จนทำให้ขบวนรถเกิดความขัดข้องเนื่องจากเข้าสู่ระยะการเดินรถเกินระยะรับประกัน ความล้มเหลวในการกำหนดนโยบายการบริหารและจัดเก็บค่าโดยสาร ความล้มเหลวในการบริหารโครงการรถไฟฟ้าด่วนและจุดตรวจบัตรโดยสารภายในเมือง รวมถึงความล่าช้าในการดำเนินโครงการมักกะสัน คอมเพล็กซ์ ด้วยเหตุผลข้างต้น คนร. จึงลงมติให้ ร.ฟ.ท. เปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและดำเนินโครงการทั้งส่วนของรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในขณะนั้น และโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง ภายใต้กรอบการลงทุนแบบหุ้นส่วนมหาชน-เอกชน (Public-Private Partnership) ตามแต่เห็นสมควร อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท. ได้ยื่นเรื่องขอทบทวนมติด้วยการขอรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงกลับมาบริหารเอง คนร. จึงมีมติให้ ร.ฟ.ท. จัดตั้งบริษัทเดินรถไฟฟ้าแห่งใหม่เพื่อขึ้นมาดำเนินการทดแทน โดยมีเงื่อนไขให้กระทรวงคมนาคมทำการประเมินตัวชี้วัดสมรรถนะหลัก (Key Performance Indicator: KPI) ของโครงการในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันเปิดให้บริการ หากบริษัทดังกล่าวไม่สามารถดำเนินโครงการได้ตามแผน หรือเกิดกรณีแบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขึ้น ร.ฟ.ท. จะต้องเปิดประมูลโครงการหาเอกชนเข้ามาดำเนินการทันทีโดยไม่มีข้อโต้แย้ง

โดย ร.ฟ.ท. ได้ยื่นเรื่องขอปรับสถานะของ รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ใหม่ โดยปรับสถานะให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง เพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทจาก 140 ล้านบาทเป็น 3,000 ล้านบาท พร้อมทั้งของบประมาณในการส่งเจ้าหน้าที่เข้าฝึกอบรมการใช้เครื่องกล และการเดินรถไฟฟ้า ณ​ ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากระบบอาณัติสัญญาณและระบบรถไฟฟ้าที่นำมาใช้งานเป็นระบบใหม่ที่ไม่เคยใช้งานในประเทศไทยมาก่อน จึงต้องมีการเรียนรู้ระบบเพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้า[3] และต่อมา ร.ฟ.ท. ได้อนุมัติสัญญาสัมปทานโครงการให้กับ รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เป็นระยะเวลา 30 ปี พร้อมทั้งโอนระบบรถไฟฟ้าที่เป็นผลสำเร็จจากสัญญาที่ 3 ให้เป็นทรัพย์สินของ รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. โดยตรง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารให้กับ รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. อันจะส่งผลให้สามารถบริหารโครงการได้เต็มที่กว่าครั้งที่บริหารรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพราะ รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. มีรายได้เป็นของตัวเอง และการดำเนินการไม่จำเป็นต้องเปิดประมูลตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เสมือนว่า รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. มีสถานะบริษัทเทียบเท่า การบินไทย ที่สามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ดีในสมัย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นิรุฒ มณีพันธ์ เป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการทบทวนบทบาทการให้บริการของ ร.ฟ.ท.​ และรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ใหม่ โดยลงมติให้ ร.ฟ.ท. ต้องเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เนื่องมาจากความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม การก่อสร้างส่วนต่อขยายเพื่อขยายเส้นทาง และการขอเพิ่มงบประมาณในส่วนของ Variation Order (VO) ที่เกิดขึ้นจากการปรับรายละเอียดโครงการในสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ประกอบกับวงเงินกู้ที่ใช้ก่อสร้างโครงการขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นได้หมดลงและไม่สามารถกู้เพิ่มได้อีก และรัฐบาลไทยจำเป็นต้องดึงงบประมาณคืนส่วนหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กระทรวงคมนาคมตัดสินใจทบทวนบทบาทของ ร.ฟ.ท. และขอให้เปิดประมูลโครงการโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท. อยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียดการเปิดประมูลโครงการ และจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมต่อไป คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2564 ได้เอกชนใน พ.ศ. 2565 และสามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ใน พ.ศ. 2566 แต่แผนดังกล่าวถูกคัดค้านจากประชาชนตามแนวเส้นทาง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟฟท. อย่างหนัก เนื่องจากไม่พอใจที่ ร.ฟ.ท. ตัดสินใจยกโครงการให้เอกชน จนทำให้ต้องเลื่อนเปิดดำเนินโครงการออกไป

ใกล้เคียง

รถไฟฟ้าชานเมือง สายธานีรัถยา รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล