ผลกระทบต่อสุขภาพ ของ รอบประจำเดือน

กายภาพ

หญิงบางส่วนที่มีอาการทางระบบประสาทมีอาการกำเริบเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกับรอบประจำเดือนแต่ละรอบ ตัวอย่างเช่น ทราบกันว่าการลดระดับเอสโตรเจนเป็นปัจจัยกระตุ้นของไมเกรน[24] โดยเฉพาะเมื่อหญิงที่ป่วยเป็นไมเกรนนั้นกำลังรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่ด้วย หญิงหลายคนที่เป็นโรคลมชักมีอาการชักมากขึ้นในแบบรูปที่เชื่อมโยงกับรอบประจำเดือน เรียกว่า "โรคลมชักที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน" (catamenial epilepsy)[25] ทั้งนี้ดูเหมือนโรคลมชักที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนมีหลายแบบรูป (เช่น โรคลมชักที่สอดคล้องกับเวลามีประจำเดือน หรือสอดคล้องกับเวลาตกไข่) และยังไม่มีการศึกษาความถี่ของอาการชักแน่ชัด การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งพบว่า เมื่อใช้บทนิยามจำเพาะหนึ่งมาอธิบาย หญิงที่มีโรคลมชักชนิดจำกัดเฉพาะส่วนที่ดื้อยากันชัก (intractable partial epilepsy) ประมาณหนึ่งในสามเป็นโรคลมชักที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน[25][26][27] มีการเสนอว่าผลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ลดลงและเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวกระตุ้นอาการชัก[28] เมื่อไม่นานมานี้ การศึกษาแสดงว่าเอสโตรเจนขนาดสูงอาจทำให้เกิดอาการชักหรือทำให้อาการทรุดลง ในขณะที่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขนาดสูงสามารถออกฤทธิ์คล้ายยากันชัก[29] การศึกษาโดยวารสารการแพทย์พบว่าหญิงขณะที่มีประจำเดือนนั้นมีโอกาสพยายามฆ่าตัวตายมากกว่ากลุ่มควบคุม 1.68 เท่า[30]

มีการใช้หนูเป็นระบบทดลองเพื่อตรวจสอบกลไกที่เป็นไปได้ ในการใช้ระดับสเตอรอยด์เพศอาจควบคุมการทำหน้าที่ของระบบประสาท ระหว่างส่วนหนึ่งของรอบเป็นสัด (estrous) ของหนูเมื่อโปรเจสเตอโรนมีระดับสูงสุด ตัวรับกาบาของเซลล์ประสาท ชนิดย่อยเดลตา มีระดับสูงสุดด้วย เนื่องจากตัวรับกากบาเหล่านี้เป็นชนิดยับยั้ง เซลล์ประสาทที่มีตัวรับเดลตามากกว่าจะมีโอกาสปล่อยสัญญาณน้อยกว่าเซลล์ที่มีน้อยกว่า ระหว่างส่วนของรอบเป็นสัดของหนูที่ระดับเอสโตรเจนสูงกว่าโปรเจสเตอโรน ระดับของตัวรับเดลตาลดลง เพิ่มกัมมันตภาพของเซลล์ประสาท จึงเพิ่มความวิตกกังวลและความไวรับต่อการชัก[31]

ระดับเอสโตรเจนอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของต่อมไทรอยด์[32] ตัวอย่างเช่นในระยะลูเทียม (เมื่อระดับเอสโตรเจนต่ำ) การไหลเวียนของเลือดในต่อมไทรอยด์มีความเร็วต่ำกว่าในระยะถุงน้อย (เอสโตรเจนสูง)[33]

ในหมู่หญิงที่อยู่ด้วยกันใกล้ชิด ครั้งหนึ่งเคยคิดกันว่าการเริ่มต้นมีประจำเดือนจะเกิดพร้อม ๆ กัน ปรากฏการณ์นี้มีการอธิบายครั้งแรกในปี 2514 และมีคำอธิบายที่เป็นไปได้ว่าเป็นฤทธิ์ของฟีโรโมนในปี 2541[34] การวิจัยในครั้งหลังตั้งคำถามถึงสมมติฐานดังกล่าว[35]

การวิจัยชี้ว่าหญิงมีความน่าจะเกิดการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าในระยะก่อนตกไข่สูงกว่าระยะหลังตกไข่หลังมีนัยสำคัญ[36]

ภาวะเจริญพันธุ์

หน้าต่างเจริญพันธุ์ โอกาสของการปฏิสนธิจากการร่วมเพศตามวันที่ของรอบประจำเดือนโดยสัมพัทธ์กับวันที่ตกไข่[37]

ช่วงที่มีภาวะเจริญพันธู์สูงสุด (หรือเวลาที่มีโอกาสตั้งครรภ์สูงสุดจากการมีเพศสัมพันธ์) กินเวลาตั้งแต่ประมาณ 6 วันก่อนการตกไข่ จนถึง 2 วันหลังการตกไข่ (ประมาณ 8 วัน)[37] ในรอบ 28 วันที่มีระยะลูเทียม 14 วันจะตรงกับประมาณสัปดาห์ที่ 2 จนถึงต้นสัปดาห์ที่ 3 มีการพัฒนาหลายวิธีขึ้นเพื่อช่วยให้หญิงกะประมาณวันที่ค่อนข้างเจริญพันธุ์และค่อนข้างไม่เจริญพันธุ์ในรอบเดือน เรียกว่า การนับระยะปลอดภัย (fertility awareness)

มีวิธีทดสอบภาวะเจริญพันธุ์หลายชนิด รวมถึงชุดตรวจปัสสาวะที่ตรวจจับฮอร์โมนในปัสสาวะ อุณหภูมิกายขณะพัก ผลการทดสอบปัสสาวะ หรือการเปลี่ยนแปลงของเมือกปากมดลูก วิธีการนับระยะปลอดภัยซึ่งอาศัยบันทึกความยาวรอบประจำเดือนอย่างเดียว เรียก วิธีที่อาศัยปฏิทิน (calender-based method)[38][39] วิธีการที่ต้องมีการสังเกตอาการแสดงของภาวะเจริญพันธุ์หลักอย่างน้อยหนึ่งอย่างจากสามอย่าง (อุณหภูมิกายขณะพัก, มูกปากมดลูกและตำแหน่งปากมดลูก)[40] เรียก วิธีที่อาศัยอาการ (symptoms-based method)[38][39] วิธีการที่อาศัยฮอร์โมน เรียก วิธีฮอร์โมน (hormonal method) การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในรอบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น เช่น อุณหภูมิหรือความหนืดของสารคัดหลั่งปากมดลูก วิธีการฮอร์โมนส่วนใหญ่ใช้การตรวจ LH, FSH หรือเอสโตรเจน การทดสอบ LH สามารถใช้ตรวจหาจุดสูงสุดของ LH หรือการเพิ่มกระทันหันของ LH ที่เกิดขึ้น 24 หรือ 36 ชั่วโมงก่อนไข่ตก การทดสอบเหล่านี้เรียก ชุดอุปกรณ์ทำนายการตกไข่ (ovulation predictor kits, OPKs)[41] การทดสอบ FSH ในปัสสาวะสามารถใช้เพื่อตรวจหาปริมาณ FSH ที่ลดลงหรือจุดสูงสุดหรือการเพิ่มขึ้นกระทันหันเมื่อ FSH เริ่มลดลงประมาณ 6 วันก่อนตกไข่ แล้วกลับเพิ่มขึ้นกระทันหันและสูงสุดในเวลาใกล้เคียงกับ LH ทั้งระดับ FSH และ LH โดยสหสัมพันธ์บางทีเป็นตัวชี้วัดการเจริญพันธุ์หรือวัยหมดประจำเดือนด้วย อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่แปลผลอุณหภูมิกายขณะพัก ผลลัพธ์การทดสอบปัสสาวะ หรือการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาอื่น เรียก เครื่องเฝ้าสังเกตภาวะเจริญพันธุ์ (fertility monitors)

ภาวะเจริญพันธุ์ของหญิงยังขึ้นอยู่กับอายุด้วย[42] เมื่อไข่สำรองทั้งหมดของหญิงเกิดขึ้นในทารกในครรภ์[43] ซึ่งกำหนดให้ตกไข่อีกหลายสิบปีต่อมา มีการเสนอว่าช่วงชีวิตยืนยาวนี้อาจทำให้มีโครมาตินของไข่ไวรับต่อปัญหาการแบ่งตัว การเสื่อมสลาย และการกลายพันธุ์มากกว่าโครมาตินของอสุจิ ซึ่งผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเจริญพันธุ์ของชาย แต่แม้มีสมมติฐานนี้ ก็มีการสังเกตพบผลกระทบของอายุบิดาที่คล้ายกันกับอายุมารดาด้วย

จากการวัดหญิงที่ได้รับการปฏิสนธินอกร่างกาย รอบประจำเดือนที่ยาวนานมีความสัมพันธ์กับอัตราการตั้งครรภ์และการคลอดที่สูงขึ้น แม้ปรับอายุแล้ว[44] ประมาณว่าอัตราคลอดหลังจากผสมเทียมในหญิงที่มีความยาวรอบประจำเดือนยาวกว่า 34 วันมีสูงกว่าหญิงที่มีความยาวรอบประจำเดือนน้อยกว่า 26 วันเกือบสองเท่า ความยาวรอบประจำเดือนที่ยาวขึ้นนั้นยังสัมพันธ์กับการตอบสนองของรังไข่ต่อการกระตุ้นด้วยโกนาโดโทรฟินและคุณภาพของเอ็มบริโอดีขึ้น[44]

ตะคริว

หญิงจำนวนมากประสบกับตะคริวที่เจ็บปวด หรือเรียก อาการปวดระดู ระหว่างการมีประจำเดือน[45] ในหญิงอายุน้อย อาการปวดระดูมักเกิดโดยไม่มีโรคพื้นเดิม แต่ในหญิงสูงอายุขึ้น อาจมีโรคซ่อนอยู่เช่นเนื้องอกมดลูกหรือเยื่อบุมดลูกต่างที่[46] พบบ่อยขึ้นในหญิงที่มีประจำเดือนมาก ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ การเริ่มแรกมีระดูก่อนอายุ 12 ปี และผู้มีน้ำหนักกายน้อย[47] และพบน้อยลงในผู้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมีลูกเร็ว[47] การรักษาเบื้องต้นมีแผ่นร้อน[46] ยาที่ช่วยได้มียาแก้อักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์อย่างไอบูโพรเฟน ยาเม็ดคุมกำเนิด และห่วงอนามัยคุมกำเนิดที่มีโปรเจสโตเจน[47]

พื้นอารมณ์และพฤติกรรม

ระยะต่าง ๆ ของรอบประจำเดือนมีความสัมพันธ์กับพื้นอารมณ์ของหญิง ในบางกรณีฮอร์โมนที่ปล่อยออกมาระหว่างรอบประจำเดือนอาจทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงด้วย การเปลี่ยนแปลงทางพื้นอารมณ์มีได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยถึงรุนแรง[48] ระยะของรอบประจำเดือนและฮอร์โมนรังไข่อาจทำให้หญิงมีความร่วมรู้สึกเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนตามธรรมชาติในระยะต่าง ๆ ของรอบประจำเดือนได้รับการศึกษาร่วมกับคะแนนทดสอบ เมื่อทำแบบฝึกหัดความร่วมรู้สึก หญิงที่อยู่ในระยะถุงน้อยของรอบเดือนมีคะแนนสูงกว่าหญิงที่อยู่ในระยะกลางลูเทียม พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับโปรเจสเตอโรนกับความสามารถในการรับรู้อารมณ์อย่างแม่นยำ ผลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับรู้อารมณ์ในหญิงที่มีระดับโปรเจสเตอโรนต่ำจะทำได้ดีกว่าสูง หญิงที่อยู่ในระยะถุงน้อยมีความแม่นยำในการรับรู้อารมณ์ได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับหญิงในระยะกลางลูเทียม พบว่าหญิงมีปฏิกิริยามากขึ้นต่อสิ่งเร้าด้านลบเมื่ออยู่ในระยะกลางลูเทียมเมื่อเทียบกับระยะถุงน้อย ซึ่งบ่งชี้ว่ามีปฏิกิริยามากขึ้นต่อความเครียดทางสังคมในระยะกลางลูเทียม[49]

มีการตรวจสอบการตอบสนองต่อความกลัวในหญิงระหว่างสองจุดในรอบประจำเดือน เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงสุดในระยะก่อนตกไข่ หญิงนั้นบอกการแสดงออกซึ่งความกลัวได้ดีกว่าหญิงที่กำลังมีประจำเดือนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นระยะที่ระดับเอสโตรเจนต่ำสุด หญิงบอกใบหน้าเป็นสุขได้ดีเท่า ๆ กัน แสดงให้เห็นว่าการตอบสนองความกลัวเป็นการตอบสนองที่ทรงพลังกว่า กล่าวโดยสรุป ระยะของรอบประจพเดือนและระดับเอสโตรเจนมีสหสัมพันธ์กับการประมวลผลความกลัวในสมองของหญิง[50]

อย่างไรก็ดี การพิจารณาพื้นอารมณ์รายวันของหญิงโดยวัดระดับฮอร์โมนรังไข่นั้นมีความสัมพันธ์ไม่ค่อยมาก เมื่อเทียบกับระดับความเครียดหรือสุขภาพทางกายแล้ว ฮอร์โมนรังไข่มีผลกระทบต่อพื้นอารมณ์โดยรวมน้อยกว่า[51] ซึ่งบ่งชี้ว่าแม้การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนรังไข่อาจมีอิทธิพลต่อพื้นอารมณ์ แต่ระดับวันต่อวันแล้วไม่ได้มีอิทธิพลมากกว่าสิ่งกระตุ้นความเครียดอย่างอื่น

ความรู้สึกและพฤติกรรมทางเพศมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างรอบประจำเดือน ก่อนและระหว่างการตกไข่ เอสโตรเจนและแอนโดรเจนระดับสูงส่งผลให้หญิงมีความสนใจในกิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้น[52] แต่หญิงสามารถแสดงความสนใจในกิจกรรมทางเพศได้ในทุกวันของรอบประจำเดือนไม่ว่าอยู่ในช่วงเจริญพันธุ์ ซึ่งต่างกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น[53]

ทางเลือกคู่

พฤติกรรมที่มีต่อคู่มีเพศสัมพันธ์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างรอบประจำเดือนระยะต่าง ๆ[54][55][56] เมื่อใกล้การตกไข่ หญิงอาจมีความดึงดูดทางกายภาพและสนใจเข้าร่วมสังสรรค์กับชายมากขึ้น[57] ในระยะเจริญพันธุ์ของรอบ ดูเหมือนหญิงนิยมชายที่มีความสมชาย (masculine) มากขึ้น[58] ความเข้มข้นของความหึงหวง (mate guarding) แตกต่างกันในระยะต่าง ๆ ของรอบ โดยหญิงในระยะเจริญพันธุ์มีความหึงหวงเพิ่มขึ้น[56][59][60]

ระหว่างระยะเจริญพันธุ์ หญิงบางส่วนอาจรู้สึกความดึงดูดเพิ่มขึ้น มีความเพ้อฝันและความสนใจทางเพศในคู่ชายอื่น (extra pair men) เพิ่มขึ้นและคู่หลักลดลง[57][56][61] หญิงบางคนอาจจีบชายอื่นที่ไม่ใช่คู่ และแสดงความนิยมการร่วมเพศกับชายอื่นที่ไม่ใช่คู่ตน[57][61]

เสียง

ความนิยมจากระดับเสียงเปลี่ยนแปลงได้ตามรอบ เมื่อเสาะหาคู่ร่วมเพศระยะสั้น หญิงอาจนิยมชายระดับเสียงต่ำหรือทุ้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างระยะเจริญพันธุ์[61] ในระยะถุงน้อยตอนปลาย ปกติหญิงแสดงความชอบคู่ที่มีเสียงสมชายและลึก (masculine, deep voice)[62] มีการวิจัยศึกษาความดึงดูดของเสียงหญิงตลอดรอบประจำเดือน[63] ระหว่างระยะที่เจริญพันธุ์สูงสุดของรอบประจำเดือน มีหลักฐานจำนวนหนึ่งพบว่าเสียงหญิงนั้นได้รับการจัดอันดับว่ามีความดึงดูดมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ไม่พบผลนี้ในหญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิด[63]

กลิ่น

มีการสันนิษฐานว่าความชอบของหญิงต่อกลิ่นกายของชายเปลี่ยนไปตามรอบประจำเดือน[64] หญิงในระยะเจริญพันธุ์ของรอบเดือนจัดให้ชายที่มีคะแนนความเป็นใหญ่ (dominance) สูงกว่า มีความเร้าทางเพศ (sexy) มากกว่า นอกจากนี้ระหว่างระยะที่เจริญพันธุ์สูงสุด หญิงยังนิยมกลิ่นของชายที่สมมาตร[56] ไม่พบผลนี้ในหญิงที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด[65] นอกจากนี้ระหว่างปลายระยะถุงน้อยและตกไข่ หญิงนิยมกลิ่นของชายที่สมชาย หญิงนิยมกลิ่นของแอนโดสเตอโรน (ตัวควบคุมระดับเทสโทสเทอโรน) อย่างมากในช่วงที่ภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดในรอบประจำเดือน ยิ่งไปกว่านั้น หญิงอาจแสดงออกถึงความนิยมในกลิ่นที่ระบุถึงเสถียรภาพของการเจริญเติบโตด้วย[61]

เมื่อพิจารณากลิ่นของหญิงตลอดรอบประจำเดือน มีหลักฐานบางชนิดพบว่าชายใช้สิ่งบอกใบ้ทางกลิ่นเพื่อทราบว่าหญิงใดกำลังตกไข่ ชายจัดให้หญิงที่กำลังตกไข่มีความดึงดูดมากกว่าโดยอาศัยกลิ่นหญิง ชายมีความนิยมกลิ่นของหญิงเจริญพันธุ์มากกว่า[64]

ข้อค้นพบบทบาทของกลิ่นและการสื่อสารทางเคมีต่อพฤติกรรมของมนุษย์ยังเป็นที่ถกเถียงกัน แม้การศึกษาหลายครั้งรายงานบทบาทนี้ แต่ผลมักเล็กน้อยและอาศัยขนาดกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กทำให้มีโอกาสทดลองได้ผลซ้ำน้อย[66] มีความกังขาจากเหตุการขาดหลักฐานที่ใช้การสอบปริมาณสารชีวภาพ (bioassay) สำหรับข้ออ้างว่าโมเลกุลสเตียรอยด์ของการศึกษาทั้ง 4 ครั้งมักยกมาระบุว่ามีบทบาทและอาจมีความลำเอียงในการเลือกจัดพิมพ์การศึกษา[67]

ร่างกาย

ความนิยมสำหรับเครื่องหน้าในคู่ยังเปลี่ยนแปลงในรอบเดือนเช่นกัน ไม่พบความแตกต่างในความนิยมสำหรับคู่ร่วมเพศระยะยาวระหว่างรอบประจำเดือน แต่ในผู้ที่เสาะหาความสัมพันธ์ระยะสั้นมีโอกาสเลือกคู่ที่มีเครื่องหน้าสมชายมากกว่าปกติ[57][62] ซึ่งพบเป็นพิเศษในกรณีที่มีระยะความเสี่ยงการปฏิสนธิสูง และเมื่อระดับเทสโทสเตอโรนในน้ำลายสูง[68] อย่างไรก็ตามเมื่อหญิงอยู่ในระยะลูเทียม (ไม่เจริญพันธุ์) มักนิยมชายและหญิงที่มีใบหน้าออกไปทางหญิง (feminine) มากกว่า[62] นอกจากนี้ยังแสดงความนิยมสำหรับหน้าที่ละม้ายตนและสุขภาพพอ ๆ กันระหว่างระยะลูเทียม[69] ความนิยมเรื่องสุขภาพที่ปรากฏนั้นพบว่าเข้มที่สุดเมื่อระดับโปรเจสเตอโรนสูง[69] นอกจากนี้ในระยะเจริญพันธุ์ของหญิง หญิงหลายคนชอบชายที่มีสีผิวคล้ำขึ้น[61] การวิจัยเกี่ยวกับความสมมาตรของใบหน้าไม่ไปในทิศทางเดียวกัน[70]

ความนิยมรูปลักษณ์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างระยะเจริญพันธุ์ของคาบ หญิงที่เสาะหาคู่ระยะสั้นมีความชอบชายที่สูงกว่าและสมชายกว่า หญิงยังแสดงความนิยมชายที่มีร่างกายสมชายเมื่อภาวะเจริญพันธุ์สูงสุด[68] พบผลลัพธ์ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันสำหรับความนิยมความสมมาตรของร่างกายในระยะต่าง ๆ ของคาบ[61]

บุคลิกภาพ

ในคู่ระยะสั้น ระหว่างระยะเจริญพันธุ์ หญิงอาจแสดงออกว่ารู้สึกดึงดูดกับชายที่เหนือกว่าซึ่งมีสถานภาพทางสังคม สำหรับคู่ระยะยาว ไม่มีการเปลี่ยนความชอบลักษณะบุคลิกภาพ (trait) ตลอดรอบประจำเดือน[61]

พฤติกรรมการกิน

พบว่าหญิงมีนิสัยการกินต่างกันในขั้นต่าง ๆ ของรอบประจำเดือน โดยมีการรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นในระยะลูเทียมเมื่อเทียบกับระยะถุงน้อย[71][72] คิดเป็นประมาณ 10%[72]

การศึกษาหลายชิ้นแสดงว่าระหว่างระยะลูเทียม หญิงบริโภคคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันเพิ่มขึ้น และการใช้พลังงาน 24 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นระหว่าง 2.5–11.5%[73] การบริโภคที่เพิ่มขึ้นในระยะลูเทียมอาจสัมพันธ์กับความชอบอาหารหวานและไขมันสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทั้งนี้เนื่องจากในระยะดังกล่าวมีความต้องการมาเมแทบอลิซึมสูงขึ้น[74] โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงมีแนวโน้มแสดงความอยากช็อกโกแลต และมากขึ้นไปอีกในระยะลูเทียม[73]

หญิงที่มีกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) รายงานการเปลี่ยนแปลงความอยากอาหารในรอบประจำเดือนมากกว่าผู้ไม่มีอาการของ PMS ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้มีอาการมีความไวกับการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนมากกว่า[72] ในหญิงที่มีภาวะ PMS การรับประทานอาหารในระยะลูเทียมจะสูงกว่าระยะถุงน้อย[75] อาการอื่นที่ยังไม่ได้กล่างถึงของ PMS รวมถึง การเปลี่ยนแปลงพื้นอารมณ์ และอาการทางกายก็เกิดระหว่างระยะลูเทียมเช่นกัน ไม่พบว่าผู้ที่มีและไม่มีอาการ PMS นิยมอาหารต่างชนิดกัน[71]

มีการใช้ระดับฮอร์โมนแต่ละชนิดในรังไข่ในระยะต่าง ๆ ของรอบอธิบายพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงนี้ มีผู้แสดงว่าโปรเจสเตอโรนส่งเสริมการสะสมไขมัน ทำให้เกิดการบริโภคอาหารที่มีไขมันมากขึ้นในระยะลูเทียมซึ่งมีระดับโปรเจสเตอโรนสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อระดับเอสโตรเจนสูง โดปามีนจะแปลงเป็นนอร์อะดรีนาลีนได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนอร์อะดรีนาลีนนี้เป็นฮอร์โมนกระตุ้นการกิน ฉะนั้นจึงลดความอยากอาหาร[72] ในมนุษย์พบว่าฮอร์โมนรังไข่เหล่านี้ในรอบประจพเดือนมีอิทธิพลต่อการกินไม่หยุด (binge eating)[76]

มีการตั้งทฤษฎีว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดน่าจะมีผลต่อพฤติกรรมการกินเพราะลดหรือกำจัดความแปรปรวนของระดับฮอร์โมน[71] นอกจากนี้ก็มีความคิดว่าสารสื่อประสาทเซโรโทนินมีบทบาทในการรับประทานอาหาร เซโรโทนินเป็นตัวการสำหรับการยับยั้งการกินและควบคุมขนาดมื้ออาหาร ฯลฯ[77] และมีการปรับระดับส่วนหนึ่งโดยฮอร์โมนรังไข่[78]

สำหรับปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อความเสี่ยงของการรับประทานอาหารต่อกระบวนการของประจำเดือน ได้แก่ อายุน้อย น้ำหนักน้อย และอาหารเอง โดยรอบไม่ตกไข่เกิดจากการจำกัดอาหาร ตลอดจนการออกกำลังกายปริมาณมาก[72] และข้อสุดท้ายรอบประจำเดือนจะเกิดผลกระทบจากอาหารมังสวิรัตมากกว่าอาหารที่มิใช่มังสวิรัต[79]

สารเสพติด

การศึกษาผลของการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อรอบประจำเดือนนั้นไม่มีผลลัพธ์ไปในทางเดียวกัน[80] อย่างไรก็ดีหลักฐานบางส่วนเสนอว่าหญิงบริโภคแอลกอฮอลมากขึ้นระว่างระยะลูเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้นั้นดื่มจัดหรือมีประวัติติดสุราในครอบครัวอยู่แล้ว[74]

ระดับของการติดสารเสพติดเพิ่มขึ้นตาม PMS ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดสารเสพติดอย่างนิโคติน ยาสูบ และโคเคน ทฤษฎีเหตุผลเบื้องหลังหนึ่งเสนอว่าการติดสารเสพติดระดับสูงการเสียการควบคุมตัวเองอันเกิดจากความต้องการทางเมแทบอลิซึมที่สูงขึ้นระหว่างระยะลูเทียม[74]

ความผิดปกติของประจำเดือน

การตกไข่น้อย (oligoovulation) หมายถึง การตกไข่ไม่บ่อยหรือไม่สม่ำเสมอ[81] ส่วนถ้าไม่ตกไข่เลย เรียก ภาวะไม่ตกไข่ (anovulation) ทั้งนี้ การขับประจำเดือนยังเกิดได้ตามปกติแม้ไข่ไม่ตก ซึ่งรอบนั้นเรียก รอบไม่ตกไข่ (anovulatory cycle) ในบางรอบ การเจริญของถุงน้อยอาจเริ่มต้นแต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ กระนั้นยังมีการผลิตเอสโตรเจนและกระตุ้นการหนาตัวของมดลูก ประจำเดือนชนิดไข่ไม่ตกเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนามากที่เกิดจากการได้รับเอสโตรเจนอย่างต่อเนื่องยาวนานเรียกว่า การตกเลือดแบบเล็ดลอดจากเอสโตรเจน (estrogen breakthrough bleeding) เลือดประจำเดือนแบบไม่มีไข่ตกเกิดจากระดับเอสโตรเจนที่ลดฮวบกระทันหัน เรียก การตกเลือดจากการขาด (withdrawal bleeding)[82] รอบเดือนที่ไข่ไม่ตกปกติเกิดก่อนวัยหมดระดู และในหญิงที่มีภาวะกลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำจำนวนมาก (polycystic ovarian syndrome)[83]

การตกเลือดน้อยมาก (น้อยกว่า 10 มล.) เรียก อาการระดูน้อยเกิน (hypomenorrhea) รอบเดือนสม่ำเสมอที่มีช่วงห่างไม่เกิน 21 วัน เรียก อาการระดูถี่เกิน (polymenorrhea) ประจำเดือนที่มาถี่แต่รอบไม่สม่ำเสมอ เรียก มดลูกตกเลือด (metrorhagia) การตกเลือดหนักกระทันหันหรือปริมาณมากกว่า 80 มล. เรียกว่า ระดูมาก (menorrhagia)[84] ประจำเดือนหนักที่เกิดถี่และไม่สม่ำเสมอ เรียก อาการระดูมากเกินและมดลูกตกเลือด (menometrorrhagia) รอบที่มีช่วงห่างเกิน 35 วันเรียก ภาวะประจำเดือนมาน้อย (oligomenorrhea)[85] ภาวะขาดระดู (amenorrhea) หมายถึง ประจำเดือนขาดไปสาม[84] ถึงหกเดือนขึ้นไป[85] (โดยที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์) ระหว่างวัยเจริญพันธุ์ของหญิง ขณะมีประจำเดือนอาจทำให้เกิดอาการปวดได้ เรียก อาการปวดระดู (dysmenorrhea)

ใกล้เคียง

รอบประจำเดือน รอยประสาน (กายวิภาคศาสตร์) รองประธานาธิบดีสหรัฐ รอยประสานคร่อมขม่อมหน้า รอยประสานท้ายทอย รองประธานาธิบดีรัสเซีย รองประธานาธิบดีลาว รองประธานาธิบดีพม่า รอยประสานหว่างขม่อม รองประธานาธิบดีตุรกี

แหล่งที่มา

WikiPedia: รอบประจำเดือน http://www.med.monash.edu.au/ob-gyn/research/menor... http://pcos.about.com/od/glossary/g/oligoovulation... http://www.contraceptivetechnology.com/table.html http://www.drspock.com/faq/0,1511,8334,00.html http://www.emedicine.com/emerg/topic427.htm http://www.emedicine.com/med/TOPIC3411.HTM http://www.emedicine.com/med/topic146.htm# http://www.emedicine.com/ped/topic2781.htm# http://www.epilepsy.com/epilepsy/provoke_menstrual http://lipmag.com/culture/menstrual-leave-delightf...