รอบและระยะ ของ รอบประจำเดือน

โอกาสการปฏิสนธิตามวันในรอบประจำเดือนโดยเทียบกับวันตกไข่[86] แผนภาพลำดับการควบคุมฮอร์โมนของรอบประจำเดือน

รอบประจำเดือนสามารถอธิบายได้ด้วยรอบรังไข่หรือมดลูก รอบรังไข่อธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในถุงน้อยของรังไข่ ในขณะที่รอบมดลูกอธิบายการเปลี่ยนแปลงในเยื่อบุมดลูก รอบทั้งสองแบ่งได้เป็นสามระยะ รอบรังไข่ประกอบด้วยระยะถุงน้อย การตกไข่และระยะลูเทียม ขณะที่รอบมดลูกประกอบด้วยประจำเดือน ระยะเพิ่มจำนวน และระยะหลั่ง[1]

รอบรังไข่

ระยะถุงน้อย

ระยะถุงน้อยเป็นส่วนแรกของรอบรังไข่ ในระยะนี้ ถุงน้อยรังไข่จะเจริญเต็มที่และพร้อมปล่อยไข่[1] ครึ่งหลังของระยะนี้ซ้อนทับกับระยะเพิ่มจำนวนของรอบมดลูก

ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนกระตุ้นถุงน้อย (follicle stimulating hormone, FSH) ที่เพิ่มขึ้นระหว่างวันแรก ๆ ของรอบ จะมีถุงน้อยรังไข่จำนวนหนึ่งถูกกระตุ้น ถุงน้อยเหล่านี้ซึ่งมีมาตั้งแต่เกิด และมีการเจริญในช่วงอื่นของปีในกระบวนการสร้างถุงน้อย (folliculogenesis) และแต่ละถุงแย่งกันเจริญ ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนหลายชนิด ถุงน้อยเหล่านี้จะหยุดเจริญและฝ่อไป ยกเว้นถุงเดียวที่จะเป็นถุงน้อยเด่น (dominant follicle) ในรังไข่และจะเจริญต่อจนเต็มที่ ถุงน้อยที่เจริญเต็มที่ เรียก ถุงน้อยตติยภูมิหรือกราเฟียน (tertiary หรือ Graafian follicle) ภายในบรรจุไข่ (ovum)[87]

การตกไข่

รังไข่ขณะที่กำลังปล่อยไข่

การตกไข่เป็นระยะที่สองของรอบรังไข่ โดยไข่ที่เจริญเต็มที่จะถูกปล่อยออกจากถุงน้อยรังไข่เข้าสู่ท่อนำไข่ (oviduct)[88] ระหว่างระยะถุงน้อย เอสตราไดออล (estradiol) ยับยั้งการปล่อยฮอร์โมนลูทีไนซิง (lutienizing hormone, LH) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า เมื่อไข่เจริญเกือบเต็มที่ ระดับของเอสตราไดออลจะถึงขีดแบ่งซึ่งผลนี้จะกลายเป็นย้อนกลับ และเอสโตรเจนจะกระตุ้นการผลิต LH ปริมาณมากแทน กระบวนการนี้ที่เรียก การเพิ่มกระทันหันของ LH (LH surge) เริ่มต้นประมาณวันที่ 12 ของรอบเฉลี่ย และอาจเกินเวลา 48 ชั่วโมง[89]

ยังไม่เข้าใจกลไกแน่ชัดของการตอบสนองตรงกันข้ามของระดับ LH ต่อเอสตราไดออล[90] มีการแสดงว่าการเพิ่มกระทันหันของฮอร์โมนปล่อยโกนาโดโทรปิน (gonadotropin-releasing hormone, GnRH) ในสัตว์เกิดขึ้นก่อนการเพิ่มกระทันหันของ LH เสนอว่าฤทธิ์หลักของเอสโตรเจนอยู่ที่ไฮโปทาลามัส ซึ่งควบคุมการหลั่ง GnRH[90] โดยในไฮโปทาลามัสมีตัวรับเอสโตเจนต่างกันสองชนิด ได้แก่ ตัวรับเอสโตรเจนแอลฟาซึ่งเป็นตัวการของวงวนเอสตราไดออล-LH และตัวรับเอสโตรเจนบีตา ซึ่งเป็นตัวการของความสัมพันธ์เอสตราไดออล-LH เชิงบวก[91] อย่างไรก็ดีในมนุษย์มีการแสดงว่าเอสตราไดออลระดับสูงสามารถกระตุ้นให้ LH เพิ่มขึ้นได้ 32 เท่า แม้ระดับของ GnRH และความถี่ของพัลส์คงที่[90] ซึ่งเสนอว่าเอสโตรเจนออกฤทธิ์โดยตรงต่อต่อมใต้สมองในการกระตุ้นการเพิ่มกระทันหันของ LH

การปล่อย LH ทำให้ไข่เจริญเต็มที่และทำให้ผนังของถุงน้อยในรังไข่อ่อนแอลง ทำให้ถุงน้อยที่เจริญเต็มที่ปลดปล่อยเซลล์ไข่ทุติยภูมิ[87] ถ้าไข่มีการปฏิสนธิกับอสุจิ เซลล์ไข่ทุติยภูมิจะเจริญต่อเป็นโอโอติด (ootid) แล้วต่อไปเป็นไข่ที่เจริญเต็มที่ ถ้าไข่นั้นไม่เกิดการปฏิสนธิ เซลล์ไข่ทุติยภูมิจะสลายไป ไข่เจริญเต็มที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2 มิลลิเมตร[92]

การตกไข่นั้นจะมาจากรังไข่ฝั่งซ้ายหรือขวาเป็นแบบสุ่มเป็นหลัก และไม่มีกระบวนการประสานงานระหว่างสองข้าง[93] ในบางรอบรังไข่สองข้างปล่อยไข่มาพร้อมกัน หากไข่ทั้งสองได้รับการปฏิสนธิจะเกิดแฝดต่างไข่ (แฝดไม่แท้)[94]

หลังปล่อยออกจากรังไข่ ไข่จะถูกชายครุย (fimbria) โบกพัดเข้าสู่ท่อนำไข่ (fallopian tube) ทั้งนี้ชายครุยเป็นขอบของเนื้อเยื่อ ณ ปลายของท่อนำไข่แต่ละข้าง หลังผ่านไปวันหนึ่ง ไข่ที่ไม่ได้รับการปฏิสนธิจะสลายไปในท่อนำไข่[87]

ปกติการปฏิสนธิระหว่างไข่กับตัวอสุจิเกิดในกระเปาะท่อนำไข่ (ampulla) ซึ่งเป็นส่วนที่กว้างที่สุดของท่อนำไข่ ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะเริ่มกระบวนการเกิดเอ็มบริโอ (embryogenesis) หรือการเจริญทันที เอ็มบริโอที่กำลังเจริญนั้นใช้เวลาสามวันไปถึงมดลูก และอีกสามวันฝังตัวเข้าสู่เยื่อบุมดลูก[87] ปกติเอ็มบริโอเข้าสู่ระยะบลาสโตซิสต์ (blastocyst) ในเวลาที่ฝังตัว

ในหญิงบางส่วน การตกไข่จะมีอาการปวดเป็นลักษณะเฉพาะซึ่งเรียก มิตดทิลชเมิร์ซ (mittelschmerz, ภาษาเยอรมันหมายถึง "การปวดตรงกลาง")[95] การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนอย่างฉับพลันในขณะที่ตกไข่นั้น บางทีอาจทำให้เกิดการตกเลือดกลางรอบเดือนอย่างอ่อน ๆ ได้[96]

ระยะลูเทียม

ระยะลูเทียมเป็นระยะสุดท้ายของรอบรังไข่ และตรงกับระยะหลั่งของรอบมดลูก ระหว่างระยะลูเทียม ฮอร์โมนต่อมใต้สมอง FSH และ LH ทำให้ส่วนที่เหลือของถุงน้อยเด่นเปลี่ยนสภาพเป็นคอร์ปัสลูเทียม (corpus luteum) ซึ่งผลิตโปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในต่อมหมวกไตเริ่มกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนที่ผลิตโดยคอรปัสลูเทียมยังยังยับยั้งการผลิต FSH และ LH ที่คอร์ปัสลูเทียมที่จำเป็นต้องใช้คงสภาพตัวเอง ดังนั้นระดับของ FSH และ LH จึงลดลงอย่างรวดเร็ว และคอร์ปัสลูเทียมจะฝ่อลง[87] ระดับของฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนที่ลดลงทำให้เกิดการมีประจำเดือนและการเริ่มต้นรอบถัดไป นับแต่การตกไข่จนถึงการถอนโปรเจสเตอโรนทำให้เริ่มการมีประจำเดือน กระบวนการดังกล่าวกินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ซึ่งถือว่าปกติ สำหรับหญิงแต่ละคน ระยะถุงน้อยมักมีความยาวต่างกันในแต่ละรอบ แต่ระยะลูเทียมจะค่อนข้างคงที่[97]

ทั้งนี้หากไข่ได้รับการปฏิสนธิ คอร์ปัสลูเทียมจะยังคงอยู่ ซินไซทิโอโทรโฟบลาสต์ (syncytiotrophoblast) ซึ่งเป็นชั้นนอกของบลาสโตซิสต์ (blastocyst) ที่ภายในบรรจุเอ็มบริโอ และชั้นนอกของรกในเวลาต่อมา ผลิตฮอร์โมนโกนาโดโทรปินเยื่อหุ้มทารกมนุษย์ (human chorionic gonadotropin, hCG) ซึ่งคล้ายกับ LH และทำหน้าที่คงสภาพคอร์ปัสลูเทียม จากนั้นคอร์ปัสลูเทียมจะหลั่งโปรเจสเตอโดรนต่อไปเพื่อรักษาการตั้งครรภ์ใหม่ การตรวจการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ก็อาศัยดู hCG นี้เอง[87]

รอบมดลูก

รอบมดลูกมีสามระยะ ได้แก่ ประจำเดือน, ระยะเพิ่มจำนวน และระยะหลั่ง[98]

ประจำเดือน

ประจำเดือน (หรือเรียกเมนส์, ระดู, คาบ) เป็นระยะแรกของรอบมดลูก การตกเลือดประจำเดือนปกติเป็นสัญญาณว่าหญิงยังไม่ตั้งครรภ์ (แต่ก็ไม่เสมอไป มีบางปัจจัยที่เป็นเหตุให้ตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ได้ บางปัจจัยเกิดจำเพาะในการตั้งครรภ์ช่วงต้น และอาจทำให้ตกเลือดหนักได้)[99][100][101]

ระดับของเอสตราไดออล (เอสโตรเจนหลัก) โปรเจสเตอโดรน ฮอร์โมนลูทีไนซิง และฮอร์โมนกระตุ้นถุงน้อย (FSH) ระหว่างรอบประจำเดือน โดยคิดความแปรผันระหว่างรอบและในหญิงแต่ละคนแล้ว (คลิกเพื่อดูภาพขยาย)

อาการระดูปกติเป็นรอบสม่ำเสมอที่ปกติกินเวลา 3 ถึง 5 วัน แต่พบได้ตั้งแต่ 2 ถึง 7 วันไม่ถือว่าผิดปกติ[95][102] ปริมาณเลือดออกเฉลี่ยในการมีประจำเดือนรอบหนึ่งอยู่ที่ 35 มล. โดยปริมาณระหว่าง 10–80 มล. ถือว่าปกติ[103] หญิงที่มีระดูมากจะมีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กมากกว่าคนทั่วไป[104] เอนไซม์ชื่อ พลาสมิน ยับยั้งการจับลิ่มของเลือดในเลือดประจำเดือน[105]

พบตะคริวเจ็บในท้อง หลังและต้นขาส่วนบนได้บ่อยในวันแรก ๆ ของการมีประจำเดือน อาการปวดมดลูกมากระหว่างมีประจำเดือน เรียก อาการปวดประจำเดือน และพบได้มากที่สุดในวัยรุ่นและหญิงผู้ใหญ่อายุน้อย (มีผลต่อหญิงวัยรุ่นประมาณ 67.2%)[106] เมื่อเริ่มมีประจำเดือน อากาารของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) จะค่อย ๆ ลดลง[95] เช่น เจ็บเต้านมและความกระสับกระส่าย ผลิตภัณฑ์ถูกหลักอนามัย ได้แก่ ผ้าอนามัยและผ้าอ้อม (tampon) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับใช้ระหว่างมีประจำเดือน

ระยะเพิ่มจำนวน

ระยะเพิ่มจำนวนเป็นระยะที่สองของรอบมดลูก เมื่อเอสโตรเจนทำให้เยื่อบุมดลูกเติบโตหรือเพิ่มจำนวนระหว่างช่วงนี้[87] เมื่อโตเต็มที่ ถุงน้อยรังไข่จะหลั่งเอสตราไดออลและเอสโตรเจนปริมาณเพิ่มขึ้น เอสโตรเจนทั้งสองรูปจะเริ่มการก่อตัวของเยื่อบุมดลูกชั้นใหม่ ซึ่งในทางมิญชวิทยา (histology) ระบุว่าเป็น เยื่อบุมดลูกแบบเพิ่มจำนวน (proliferative endometrium) เอสโตรเจนยังกระตุ้นคริปต์ (crypt) ในปากมดลูกให้หลั่งเมือกปากมดลูก ซึ่งทำให้มีสารคัดหลั่งของช่องคลอด ไม่ว่าหญิงนั้นเกิดความรู้สึกทางเพศหรือไม่ และหญิงที่กำลังนับวันปลอดภัยสามารถใช้เมือกดังกล่าวบอกได้[107]

ระยะหลั่ง

ระยะหลั่งเป็นระยะสุดท้ายของรอบมดลูก และตรงกับระยะลูเทียมของรอบรังไข่ ระหว่างระยะหลั่ง คอร์ปัสลูเทียมผลิตโปรเจสเตอโรน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำให้เยื่อบุมดลูกพร้อมรับการฝังตัวของบลาสโตซิสต์ และรองรับการตั้งครรภ์ระยะแรก โดยการเพิ่มเลือดไหลเวียนและสารคัดหลั่งของมดลูก และลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบในมดลูก[108] นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงทำให้เพิ่มอุณหภูมิกายขณะพักของหญิง[109]

ใกล้เคียง

รอบประจำเดือน รอยประสาน (กายวิภาคศาสตร์) รองประธานาธิบดีสหรัฐ รอยประสานคร่อมขม่อมหน้า รอยประสานท้ายทอย รองประธานาธิบดีรัสเซีย รองประธานาธิบดีลาว รองประธานาธิบดีพม่า รอยประสานหว่างขม่อม รองประธานาธิบดีตุรกี

แหล่งที่มา

WikiPedia: รอบประจำเดือน http://www.med.monash.edu.au/ob-gyn/research/menor... http://pcos.about.com/od/glossary/g/oligoovulation... http://www.contraceptivetechnology.com/table.html http://www.drspock.com/faq/0,1511,8334,00.html http://www.emedicine.com/emerg/topic427.htm http://www.emedicine.com/med/TOPIC3411.HTM http://www.emedicine.com/med/topic146.htm# http://www.emedicine.com/ped/topic2781.htm# http://www.epilepsy.com/epilepsy/provoke_menstrual http://lipmag.com/culture/menstrual-leave-delightf...