การเขียนภาษาบาลีด้วยสัทอักษรสากล ของ ระบบการเขียนภาษาบาลี

การใช้อักษรโรมันเพื่อจัดพิมพ์เสียงบาลีในพระไตรปิฎกบาลีทำให้เกิดความสะดวกและประสิทธิภาพในการพิมพ์พระไตรปิฎกในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นความพยายามในยุคแรก ๆ ของการศึกษาเสียงบาลีที่พิมพ์ด้วยอักษรโรมัน มิใช่เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมการออกเสียงของชาติต่าง ๆ ในทวีปยุโรปที่ใช้อักษรโรมันในภาษาของตน เช่น การเขียนบาลีเป็นอักษรโรมันว่า me เป็นเสียงสระบาลีว่า <เม> [meː] มิใช่ออกเสียงว่า <มี> [miː] ในภาษาอังกฤษ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นในการออกเสียงบาลีที่เขียนด้วยอักษรโรมันในพระไตรปิฎก จึงมีความจำเป็นต้องใช้อักษรที่เป็นสากลและมีระบบการออกเสียงกลางที่นานาชาติยอมรับ ได้แก่ สัทอักษรสากล มากำกับการพิมพ์เสียงบาลีในพระไตรปิฎกบาลีอักษรโรมัน เพื่อให้ประชาชนชาวโลกทั่วไปสามารถออกเสียงบาลีได้ตรงกับที่สืบทอดมาในพระไตรปิฎก

สัทอักษรสากลเป็นชุดตัวอักษรที่สมาคมสัทศาสตร์สากลกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นระบบสากลสำหรับใช้ในการบันทึกเสียงพูดในภาษาต่าง ๆ และเพื่อให้ทราบว่าเสียงแต่ละเสียงนั้นมีการออกเสียงอย่างไร ใช้อวัยวะส่วนไหนในการออกเสียง ซึ่งผู้ที่จะใช้สัทอักษรเป็นเครื่องแสดงการออกเสียงก็จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจล่วงหน้าร่วมกันก่อนว่า สัทอักษรแต่ละรูปนั้นอธิบายถึงลักษณะการออกเสียงอย่างไร สัทอักษรสากลสำหรับพยัญชนะใช้อักษรโรมันเป็นหลัก และมีการใช้อักษรกรีกบ้าง ส่วนสัทอักษรสากลสำหรับสระใช้อักษรแทนสระมาตรฐานของ แดเนียล โจนส์ (Daniel Jones) เป็นเกณฑ์ นอกจากนั้นยังมีเครื่องหมายเสริมสัทอักษรอื่น ๆ และเครื่องหมายแสดงสัทลักษณ์อื่น ๆ เช่น ความยาว เสียงมีลม (ธนิต) เสียงลักษณะนาสิก เสียงเกิดที่ฟัน เสียงพยัญชนะควบกล้ำ เป็นต้น


ข้อสังเกตบางประการในการใช้สัทอักษรสากลบาลี

ในการแสดงระบบการออกเสียงพยัญชนะบาลีในพระไตรปิฎกอักษรโรมันฉบับนี้ผู้เขียนได้เลือกใช้สัทอักษรสากล (IPA) ถ่ายถอดเสียงพยัญชนะบาลีเทียบเสียงกับอักษรโรมันไว้เป็นครั้งแรกโดยปรับปรุงจากเดิม เพื่อช่วยในการออกเสียงคำให้ถูกต้องยิ่งขึ้น สิ่งที่จัดทำใหม่เพื่อการนี้มีดังนี้

การเลือกใช้สัทอักษรแทนเสียงพยัญชนะระเบิดฐานเพดานแข็ง 4 เสียง

จากการศึกษาข้อมูลเสียงและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้ทำการบันทึกเสียงบาลีในพระไตรปิฎก ได้ข้อสรุปการเลือกใช้สัทอักษรแทนเสียงพยัญชนะหยุด แตกต่างออกไปจากที่ได้มีการใช้อยู่ในที่อื่น ๆ ได้แก่อักษรโรมัน สัททอักษรที่เลือกใช้c [c]ch [cʰ]j [ɟ]jh [ɟʱ]

การเลือกใช้สัทอักษรสากล [c], [ɟ] มาเทียบเสียงกับหน่วยเสียงพยัญชนะ /c/, /j/ ใน ตารางพยัญชนะบาลีซึ่งเกิดที่เพดานแข็ง ด้วยเห็นว่าตรงตามเกณฑ์ของการใช้สัททอักษรสากลซึ่งเลือกใช้ตัวอักษรธรรมดาให้มากที่สุดในการถอดเสียงและตรงกับหลักเกณฑ์การออกเสียงตามฐานกรณ์ที่เกิดเสียง คือ ฐานเสียงเพดานแข็ง ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์โบราณแสดงหลักภาษาหรือหลักไวยากรณ์บาลี ชื่อว่า คัมภีร์สัททาวิเสส สัททนีติสุตตมาลาด้วย

สัทอักษรสำหรับหน่วยเสียง /r/

การจัดหน่วยเสียง /r/ เป็นหน่วยเสียงพยัญชนะเปิดปลายลิ้นม้วน (Retroflex approximant) ซึ่งออกเสียงโดยม้วนลิ้นไปทางส่วนหลังของปุ่มเหงือก โดยใช้สัทอักษร [ɻ] เทียบเสียงไว้ ตรงกับหลักเกณฑ์การออกเสียงในคัมภีร์สัททาวิเสส สัทนีติสุตตมาลา ไม่ใช่เป็นเสียงพยัญชนะเปิดฐานปุ่มเหงือก (alveolar approximant) ตามที่บางแห่งได้จัดไว้

สัทอักษรสำหรับพยัญชนะโฆษะ-ธนิต กับพยัญชนะอโฆษะ-ธนิต

การใช้สัทอักษรสำหรับเสียงพยัญชนะโฆษะ-ธนิต (เสียงก้อง-มีลม) กับพยัญชนะอโฆสะ-ธนิต (เสียงไม่ก้อง-มีลม) มีประเด็นสำคัญคือการเลือกใช้สัญลักษณ์ [ ʰ ] และ [ ʱ ] แทนเสียงธนิต (มีลม) ซึ่งเป็นกลุ่มลมที่ตามหลังเสียงหยุดหรือเสียงระเบิด และแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  • เสียงหยุดชนิดไม่ก้อง เมื่อออกเสียงนี้ กลุ่มลมที่ตามออกมาจะมีลักษณะไม่ก้องด้วย เช่น เสียง [kʰ], [t̪ʰ] เทียบได้กับเสียง /kh/, /th/ อักษรโรมัน ตามลำดับ
  • เสียงหยุดชนิดก้อง เมื่อออกเสียงนี้ กลุ่มลมที่ตามออกมาจะมีลักษณะก้องด้วย เช่น เสียง [gʱ], [bʱ] เทียบได้กับเสียง /gh/, /bh/ อักษรโรมัน ตามลำดับ

เพิ่มสัญลักษณ์ประกอบสัทอักษร

จากข้อมูลเสียงบาลีแสดงเสียงฐานฟันของพยัญชนะเสียงหยุดหรือเสียงระเบิดอย่างชัดเจน ดังนั้น ในชุดสัทอักษรสากลบาลีนี้จึงได้เพิ่มสัญลักษณ์ [ ̪ ] เช่นเสียง [t̪], [d̪] เทียบได้กับเสียง /t/, /d/ อักษรโรมัน ตามลำดับ หรือของพยัญชนะเสียดแทรก [s̪] เทียบได้กับเสียง /s/ อักษรโรมัน หรือของพยัญชนะเปิดข้างลิ้น [l̪] เทียบได้กับเสียง /l/ อักษรโรมัน

นอกจากนี้ ในการจัดสัททอักษรสากลเพื่อเทียบเสียงนิคคหิต (ํ) = /ṃ/ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงสระลักษณะนาสิก ซึ่งเกิดกับสระเสียงสั้น ได้แก่ /aṃ/, /iṃ/, และ /uṃ/ จึงได้ริเริ่มใช้เครื่องหมายเสริมสัททอักษรสากล [~] แสดงว่าเป็นเสียงลักษณะสระนาสิก (nasal vowels) ดังในตัวอย่าง เช่น /aṃ/ [ã], /iṃ/ [ĩ], และ /uṃ/ [ũ]

ตารางแสดง หน่วยเสียงลักษณะสระนาสิก

อักษรสยามอักษรไทยอักษรโรมันสัทอักษรสากล
เอตํเอตํetaṃ[et̪ã]
นิพ๎พุติ˚นิพฺพุติ˚nibbutiṃ[n̪ibbut̪ĩ]
พาหุ˚พาหุ˚bāhuṃ[baːɦũ]

ใกล้เคียง

ระบบการทรงตัว ระบบการได้ยิน ระบบการเห็น ระบบการลงคะแนน ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก ระบบการนำไฟฟ้าหัวใจ ระบบการลงคะแนนแบบคะแนนรวม ระบบการออกเสียงภาษาบาลี ระบบการลงคะแนนแบบผสม ระบบกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลี 2000