ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ ของ ระบบภูมิคุ้มกัน

Acquired immunity คือภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง หากเชื้อโรคสามารถฝ่าด่านแรกเข้าสู่ใต้เยื่อบุหรือผิวหนังที่มีบาดแผลได้แล้ว เซลล์ต่าง ๆ ของระบบภูมิคุ้มกันจะพยายามกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้ให้ออกไปพ้นจากร่างกาย เซลล์เหล่านี้เจริญเติบโตมาจาก stem cell อันเป็นเซลล์ต้นตอในไขกระดูก (พบที่รกด้วย) ซึ่งเติบโตแปรสภาพ (differentiate) ไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ เมื่อเซลล์เหล่านี้โตเต็มที่แล้วจึงออกมาสู่กระแสเลือด ล่องลอยไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายตามหน้าที่เฉพาะตัวแตกต่างกันไปของเซลล์แต่ละชนิด ซึ่งทำงานสอดคล้องประสานกันเป็นระบบอย่างน่าอัศจรรย์ ดังนี้

  • Granulocyte เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่มี granule มากมายในเซลล์ ส่วนใหญ่อยู่ในกระแสเลือด มีหน้าที่กรูกันมาจัดการกับ antigen โดยกิน (engulf) เชื้อแบคทีเรีย ฆ่าปรสิต เมื่อเซลล์เหล่านี้กิน antigen เข้าไปแล้ว ได้ใช้ enzyme ที่อยู่ใน granule ย่อยสลายเชื้อโรคและแปรสภาพเป็นหนอง หากอยู่ในกระแสเลือดก็กลายเป็นซากแล้วถูกกำจัดไป
  • Monocyte เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีจำนวนน้อยในกระแสเลือด มีหน้าที่กินเชื้อโรคในกระแสเลือดและเก็บกินซากที่เกิดจากการทำลายเชื้อโรค
  • Macrophage เป็น monocyte ที่อยู่ในเนื้อเยื่อ กระจายอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ เมื่อกิน antigen เข้าไปแล้ว จะทำหน้าที่เป็น antigen presenting cell (APC) คือส่งสัญญาณจาก antigen ต่อมาให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T lymphocyte เพื่อรับหน้าที่ต่อไป
  • Lymphocyte เป็นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่แข็งขันที่สุด แบ่งตามหน้าที่เป็น 2 ชนิด คือ

1. B lymphocyte เมื่อสัมผัสกับ antigen แล้ว จะเปลี่ยนไปเป็น plasma cell มีหน้าที่ผลิตภูมิคุ้มกันด้านสารน้ำเรียกว่า humoral immunity (HI) คือภูมิต้านทาน (antibody) ที่จำเพาะต่อเชื้อนั้น ประกอบด้วยโปรตีน globulin ชนิดต่าง ๆ เรียกว่า immunoglobulin มีทั้งหมด 5 กลุ่ม คือ IgG, IgA, IgM, IgD, IgE ทำหน้าที่จับติดกับ antigen แล้วทำลายด้วยวิธีต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อน ส่วนใหญ่ภูมิต้านทานเหล่านี้จะอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต เพราะมีเซลล์ที่แปรสภาพเป็นเซลล์ความจำ (memory cell) ทำหน้าที่จำเชื้อที่เคยพบแล้ว เมื่อเชื้อเดิมเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง เซลล์ความจำก็จะระดมพลเพื่อสร้าง immunoglobulin ออกมาในปริมาณมากทันทีภายในสัปดาห์แรกที่ติดเชื้อ จึงสามารถกำจัดเชื้อโรคออกไปโดยไม่ทันก่อโรค ต่างจากการติดเชื้อในครั้งแรกที่ระดับภูมิต้านทานขึ้นในสัปดาห์ที่ 2

2.T lymphocyte เริ่มงานเมื่อได้รับสัญญาณจาก APC มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ เรียกว่า cell-mediated immunity (CMI) ที่สำคัญมี 3 ชนิด คือ

  • T helper หรือ CD4 มีหน้าที่ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน เมื่อได้รับสัญญาณจาก APC มันจะกลายเป็น sensitized T cell ที่มีอานุภาพสูง หลั่งสารมากมายหลายชนิดออกมาจากเซลล์เรียกว่า cytokines เพื่อกระตุ้นเซลล์ชนิดต่าง ๆ ในระบบภูมิคุ้มกันให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนระดมพล และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรคเหมือนทหารที่ฮึกเหิมพร้อมออกศึก
  • T suppressor หรือ CD8 มีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม อีกทั้งยับยั้งการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันเมื่อหมดความจำเป็นแล้ว ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายต่อร่างกายจากการทำงานที่เกินเลยของระบบภูมิคุ้มกัน
  • Natural killer cell เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็ง และเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสเป็นหลัก

จะเห็นว่าเซลล์เหล่านี้ทำงานประสานกันอย่างดีเยี่ยม เพื่อรักษาสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันไม่มากไปหรือน้อยไปจนเกิดความเสียหายตามมา

เรารู้จักเซลล์เหล่านี้ดีเมื่อโรคเอดส์ระบาด เพราะโรคเอดส์เกิดจากเชื้อ Human Immunodeficiency Virus (HIV) ไปทำลายเซลล์ CD4 ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บกพร่องเป็นหลัก จึงติดเชื้อฉวยโอกาสง่าย

ใกล้เคียง

ระบบภาพสามมิติ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ ระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด ระบบภูมิรัฐศาสตร์ ระบบสุริยะ ระบบประสาทรับความรู้สึก ระบบประสาทรับความรู้สึกทางกาย ระบบรู้กลิ่น ระบบการทรงตัว