ภูมิคุ้มกันมาจากไหน ของ ระบบภูมิคุ้มกัน

  • ภูมิคุ้มกันที่ผ่านทางรกจากแม่สู่ลูกขณะอยู่ในครรภ์ ส่วนใหญ่เป็น IgG ภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงและหมดไปเมื่อทารกอายุ 6 เดือน ทารกแรกคลอดจึงได้ภูมิคุ้มกันนี้คอยป้องกันโรคต่าง ๆ ขณะร่างกายยังอ่อนแอ
  • ภูมิคุ้มกันที่ได้จากน้ำนมแม่ ส่วนใหญ่เป็น IgA
  • ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อเหล่านั้นและส่วนใหญ่คงอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต หากเชื้อเดิมเข้าสู่ร่างกายอีก ก็จะถูกกำจัดออกไปโดยไม่ทำให้เกิดโรค เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม อีสุกอีใส ไวรัสตับอักเสบบี
  • ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการได้รับวัคซีน (active immunity) เป็นการเลียนแบบการติดเชื้อในธรรมชาติ โดยใช้เชื้อที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือบางส่วนของเชื้อที่มีคุณสมบัติเป็น antigen เข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันโดยไม่เกิดโรคอย่างการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ได้แก่ วัคซีนชนิดต่าง ๆ ที่ให้ในเด็กประมาณ 20 ชนิด และวัคซีนผู้ใหญ่อีกหลายชนิด
  • ภูมิคุ้มกันที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ฉีดเข้าไปในร่างกายให้ออกฤทธิ์ทันที (passive immunity) เรียกว่า immunoglobulin ใช้ในกรณีที่รอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ทัน ภูมิคุ้มกันเหล่านี้อยู่ในร่างกายไม่นานก็หมดไป มีทั้งชนิดรวมคือมีฤทธิ์ต้านทาน antigen หลายชนิด คือintravenous immunoglobulin (IVIG) และชนิดเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อแต่ละอย่าง เช่น ภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี hepatitis B immunoglobulin (HBIG) ใช้ฉีดให้ทารกที่คลอดจากแม่ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันทารกติดเชื้อขณะคลอด หลังจากนั้นจึงฉีดวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง นอกจากนี้ยังมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้า rabies immunoglobulin (RIG) โรคบาดทะยัก tetanus antitoxin (TAT) ภูมิต้านทานพิษงูที่เราเรียกกันว่าเซรุ่มต้านพิษงู (antivenom)

จะเห็นได้ว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเริ่มมีบทบาทตั้งแต่แรกเกิด คือ 6 เดือนแรกเป็นภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่ และน้ำนมแม่ ต่อมาเด็กเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเองในร่างกายจากการติดเชื้อแต่ละครั้ง บางครั้งการติดเชื้อเกิดอาการน้อย หรือไม่เกิดอาการ แต่เมื่อตรวจเลือดก็พบภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว อย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี

เราจึงพบเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กชั้นอนุบาลเป็นไข้กันบ่อย เชื้อไวรัสที่ทำให้เด็กป่วยมีกว่า 100 ชนิด ติดเชื้อแต่ละครั้งก็สร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อนั้น ติดโรคกันไปติดโรคกันมา กว่าจะสั่งสมภูมิคุ้มกันครบก็เข้าสู่วัยชั้นประถมฯ สังเกตได้ว่าเด็กชั้นประถมฯไม่ค่อยป่วยแล้ว

ส่วนเชื้อโรคที่มีวัคซีนป้องกัน ก็สร้างภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน กว่าจะฉีดครบก็อายุ 6-7 ขวบ พอโตเป็นผู้ใหญ่เราก็มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเกือบครบชนิด ไม่ค่อยป่วยด้วยโรคติดเชื้อกันอีก แต่หากมีเชื้อโรคพันธุ์ใหม่ที่ร่างกายไม่เคยสัมผัสมาก่อน จึงยังไม่มีต้านทานต่อเชื้อโรคนั้น จึงมักก่อโรครุนแรง ยิ่งเกิดในเด็กยิ่งมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ ที่เรารู้จักกันดีคือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ไวรัสไข้หวัดนกและไวรัสซาร์ส (SARS) ที่โด่งดังสร้างความหวาดกลัวไปทั่วโลก

ร่างกายเราเต็มไปด้วยจุลินทรีย์อาศัยอยู่ทั่วไป ทั้งที่ผิวหนัง ในปาก จมูก ลำไส้ใหญ่ ช่องคลอด จุลินทรีย์เหล่านี้เป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่นเรียกว่า normal flora อยู่กันอย่างสมดุลในร่างกาย หากมีสาเหตุให้เสียสมดุลก็เกิดโรคได้ เช่น การรับประทานยาต้านจุลชีพเป็นเวลานาน จุลินทรีย์ที่ไวต่อยาถูกทำลายไปหมด เหลือจุลินทรีย์ดื้อยาที่ก่อโรคร้ายแรง การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาฆ่าเชื้อเป็นเวลานาน ทำให้เชื้อแบคทีเรียตายไป เชื้อราเจริญเติบโตขึ้นมาแทนที่ เป็นเหตุให้ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา พบบ่อยในสาวรักสะอาดทั้งหลาย ยาต้านจุลชีพบางชนิดฆ่าเชื้อในลำไส้ใหญ่ เหลือเชื้อดื้อยาตัวร้าย เป็นเหตุให้ลำไส้ใหญ่อักเสบรุนแรง (pseudomembranous colitis)

รอบตัวเราเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ในน้ำ ในดิน เราจึงควรป้องกันจุลินทรีย์เหล่านี้ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายโดยง่าย ด้วยการรักษาสุขอนามัยให้ดี คือรับประทานอาหารสะอาดและทำสุกใหม่ ๆ ตัดเล็บให้สั้น ล้างมือให้สะอาดเสมอโดยเฉพาะก่อนหยิบอาหารเข้าปาก ไม่ไปอยู่ในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก แสงแดดส่องไม่ถึง อันเป็นแหล่งเชื้อโรค อย่างในโรงหนังที่ปิดทึบ ห้างสรรพสินค้าที่มีผู้คนพลุกพล่าน ไม่ไอ จาม รดกัน ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หากจำเป็นให้ใช้ผ้าปิดปากและจมูก ก็ช่วยป้องกันโรคติดต่อได้เป็นอย่างดี ไม่ควรรับประทานยาพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น โดยเฉพาะยาชุด สมุนไพรบางชนิด หรือยาลูกกลอนที่รับประทานเพื่อให้เจริญอาหาร แก้ปวดข้อ รักษาโรคหืด ฯลฯ เพราะยาลูกกลอน สมุนไพรที่ไม่ได้รับการรับรองมักผสม steroid อันเป็นยากดภูมิคุ้มกัน หากกินนานไป ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงและรักษายาก อาจถึงขั้นช็อก จนไม่สามารถรักษาชีวิตไว้ได้

ดังนั้นหากเรารักษาสุขอนามัยดี ร่างกายแข็งแรง ภูมิคุ้มกันดี ไม่กินยาพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น แม้ติดเชื้อก็มีอาการไม่รุนแรง และหายในเวลาอันรวดเร็วด้วยภูมิคุ้มกันอันแสนวิเศษในร่างกายเราเอง จนแทบไม่ต้องพึ่งยาต้านจุลชีพใด ๆ แต่หากภูมิคุ้มกันบกพร่องขึ้นมาละก็ ต่อให้มียาที่ดีเลิศเพียงใด อาจไม่สามารถรักษาชีวิตไว้ได้ ดังผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มักจบชีวิตลงด้วยโรคติดเชื้อเมื่อภูมิคุ้มกันลดต่ำมากในระยะท้ายของโรค ทั้งที่ให้ยาต้านจุลชีพอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม

ใกล้เคียง

ระบบภาพสามมิติ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ ระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด ระบบภูมิรัฐศาสตร์ ระบบสุริยะ ระบบประสาทรับความรู้สึก ระบบประสาทรับความรู้สึกทางกาย ระบบรู้กลิ่น ระบบการทรงตัว