เชิงกฎหมาย ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม

ความเป็นสหพันธรัฐ องค์ประกอบ และเขตแดน

ประเทศเบลเยียมเป็นรัฐที่มีการปกครองแบบสหพันธรัฐซึ่งประกอบด้วยประชาคมและแคว้นต่าง ๆ

– มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญเบลเยียม

ตั้งแต่ ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา มาตราแรกของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เบลเยียมเป็นประเทศแบบสหพันธรัฐอันประกอบด้วยประชาคมและแคว้น ซึ่งหมายความถึงการมีหน่วยการปกครองย่อยสองแบบในระดับเดียวกัน โดยไม่มีหน่วยหนึ่งหน่วยใดที่สำคัญกว่า

มาตรา 2 แบ่งให้ประเทศเบลเยียมเป็นสามประชาคม ได้แก่ ประชาคมเฟลมิช ประชาคมฝรั่งเศส และประชาคมผู้พูดภาษาเยอรมัน โดยซึ่งมาตรา 3 แบ่งให้ประเทศเบลเยียมเป็นสามแคว้น ได้แก่ แคว้นเฟลมิช แคว้นวอลลูน และแคว้นบรัสเซลส์ มาตรา 4 แบ่งประเทศเบลเยียมเป็นสี่เขตภาษา คือเขตภาษาดัตช์ เขตภาษาฝรั่งเศส เขตทวิภาษา (ฝรั่งเศสและดัตช์) แห่งนครหลวงบรัสเซลส์ และเขตภาษาเยอรมัน[8] ในแต่ละเทศบาลในราชอาณาจักรล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเขตภาษาทั้งสี่เขตเท่านั้น และอาณาเขตของเขตภาษาต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้โดยกฎหมายที่ได้รับเสียงข้างมากตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ของแต่ละกลุ่มภาษาของแต่ละสภาเท่านั้น

มาตรา 5 แบ่งให้ทั้งแคว้นเฟลมิชและแคว้นวอลลูนประกอบด้วยห้าจังหวัด และยังระบุถึงการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนของจังหวัดในอนาคต มาตรา 6 บัญญัติให้การแบ่งการปกครองจากระดับจังหวัดออกเป็นระดับย่อยนั้นทำได้ตามกฎหมายเท่านั้น เขตแดนของประเทศ จังหวัด และเทศบาลสามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้โดยกฎหมายเท่านั้น (มาตรา 7)

นโยบายทั่วไป

ใน ค.ศ. 2007 ในหมวดที่ 1 ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมเข้าไปในรัฐธรรมนูญ เรื่อง นโยบายทั่วไปของประเทศเบลเยียม ประชาคม และแคว้น ซึ่งจวบจนปัจจุบันมีเพียงมาตราเดียว คือมาตรา 7 ทวิ โดยระบุว่า "ในการใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวของรัฐบาลกลาง ประชาคม และแคว้น จะต้องมุ่งมั่นในวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยให้ร่วมมือกันระหว่างยุคสมัย" โดยกฎหมายที่ระบุมาตรานี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 2007

ชาวเบลเยียมและสิทธิของพลเมือง

หมวดที่ 2 ของรัฐธรรมนูญเบลเยียม ใช้ชื่อว่า ชาวเบลเยียมและสิทธิของพลเมือง ในบทนี้แจกแจงถึงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ ถึงแม้ว่าในรัฐธรรมนูญระบุไว้ถึงสิทธิและเสรีภาพของชาวเบลเยียม แต่โดยหลักการแล้วสิทธิและเสรีภาพนี้เป็นของบุคคลทุกคนในเขตประเทศเบลเยียม โดยนอกเหนือจากสิทธิต่าง ๆ ที่แจกแจงไว้ในหมวดที่ 2 แล้ว ชาวเบลเยียมยังมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

มาตรา 8 และ 9 บัญญัติถึงการได้มาซึ่งสัญชาติเบลเยียม มาตรา 8 ยังบัญญัติว่ากฎหมายยังสามารถให้สิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งแก่บุคคลที่ถือสัญชาติของประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปที่ไม่ได้ถือสัญชาติเบลเยียม หรือแก่บุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติในยุโรปตามข้อบังคับระหว่างประเทศ มาตรา 9 บัญญัติถึงการให้สัญชาติแก่บุคคลสามารถกระทำได้โดยอำนาจนิติบัญญัติของรัฐเท่านั้น อย่างไรก็ตามในมาตรา 74 ระบุเพิ่มเติมว่าให้ใช้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการให้สัญชาติแก่บุคคลเท่านั้น โดยวุฒิสภานั้นไม่มีอำนาจ

ในรัฐไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น
ชาวเบลเยียมทุกคนย่อมเสมอกันในกฎหมาย; และสามารถเข้ารับราชการพลเรือน
และราชการทหารได้ ยกเว้นในกรณีพิเศษที่ได้บัญญัติไว้ตามกฎหมาย
ชายและหญิงได้รับการรับรองให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน

– มาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญเบลเยียม

มาตรา 10 บัญญัติให้ประชาชนชาวเบลเยียมทั้งปวงย่อมเสมอกันในกฎหมาย มาตรา 11 บัญญัติให้สิทธิและเสรีภาพนั้นเท่าเทียมกันโดยไม่มีการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ มาตรา 12 รับรองเสรีภาพของบุคคล และบัญญัติว่าไม่มีผู้ใดสามารถละเมิดได้ยกเว้นในกรณีที่เป็นไปตามกฎหมาย หรือตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 13 บัญญัติให้บุคคลทุกคนมีสิทธิในการไปศาลยุติธรรมได้ มาตรา 14 รับรองถึงหลักกฎหมายตามหลักการ "ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" (ละติน: nulla poena sine lege, นุลลาโพนาซีเนเลเก) นอกจากนี้ในมาตรา 14 ทวิ ที่ระบุเพิ่มเติมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2005 ว่า "โทษประหารทั้งปวงนั้นถูกยกเลิก"

มาตรา 15 ระบุห้ามถึงการค้นตัวบุคคลจะกระทำมิได้เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในเคหสถานซึ่งจะละเมิดมิได้ และการเข้าไปในเคหสถาน หรือการค้นเคหสถานจะกระทำมิได้เว้นแต่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 16 บัญญัติว่าการริบสินทรัพย์ของบุคคลใดจะกระทำมิได้ยกเว้นแต่หากเป็นไปตามหลักแห่งประโยชน์สาธารณะ โดยในกรณีนี้จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และจะต้องได้รับการชดเชยล่วงหน้าอย่างยุติธรรม

มาตรา 17 บัญญัติให้การลงโทษด้วยการยึดทรัพย์สินจะกระทำมิได้ มาตรา 18 ยังบัญญัติเพิ่มเติมให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต และไม่สามารถจะนำกลับมาใช้อีกได้ โดยโทษประหารชีวิตเคยเป็นหนึ่งในการตัดสินโทษในระบอบเก่า

ประติมากรรมนั่งทั้งสี่บริเวณฐานของอนุสาวรีย์เสาคองเกรส ซึ่งเป็นตัวแทนของเสรีภาพสี่ประการที่เป็นพื้นฐานแห่งรัฐธรรมนูญเบลเยียม ค.ศ. 1831 ได้แก่ เสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพในการศึกษา และเสรีภาพสื่อ

มาตรา 19 ถึง 21 รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา มาตรา 19 ปกป้องเสรีภาพทางศาสนาและสิทธิในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน และยังรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ มาตรา 19 กำหนดถึงบทลงโทษในการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นหลักการที่ย้อนแย้งกันกับกฎหมายการห้ามการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเบลเยียม ซึ่งทำให้ผู้ใดที่พยายาม "ปฏิเสธ ให้ความเป็นธรรม หรือรับรองการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ของพรรคนาซีเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2" ในที่สาธารณะมีความผิดทางกฎหมาย

มาตรา 22 บัญญัติให้บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มาตราที่ 22 ทวิ บัญญัติถึงการเคารพในสิทธิของเด็กในเรื่องบูรณาภาพทางเพศ ทางกาย ทางจิตใจ และทางศีลธรรม

มาตรา 23 ปกป้องสิทธิในการดำรงชีวิตด้วยศักดิ์ศรี โดยประกอบด้วย

  • มีสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ภายในกรอบของนโยบายการจ้างงานเพื่อมีวัตถุประสงค์เพื่อการจ้างงานที่มั่งคง เพื่อการได้รับสภาพแวดล้อมในการทำงานและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รวมทั้งสิทธิเสรีภาพด้านการเข้าถึงข้อมูล การเข้ารับการปรึกษา และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน
  • มีสิทธิในประกันสังคม การได้รับบริการสาธารณสุข และความช่วยเหลือด้านสังคม การแพทย์ และกฎหมาย
  • มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่
  • มีสิทธิในการได้รับการคุ้มครองให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์
  • มีสิทธิเสรีภาพในการพัฒนาวัฒนธรรมและสังคม

มาตรา 24 ปกป้องเสรีภาพในการศึกษาและสิทธิของผู้ปกครองในการเลือกสถานศึกษา โดยบัญญัติว่าประชาคมจะต้องระบบการศึกษาสามัญอันหมายถึงการเคารพถึงหลักด้านปรัชญา หลักอุดมการณ์ และมุมมองด้านศาสนาของผู้ปกครองและนักเรียน ย่อหน้าที่สามของมาตรานี้บัญญัติให้พลเมืองมีสิทธิในการได้รับการศึกษาตามหลักสิทธิและเสรีภาพพื้นฐาน และการศึกษานั้นไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ในภาคบังคับ (ในประเทศเบลเยียมการศึกษาภาคบังคับใช้จนถึงอายุ 18 ปีบริบูรณ์)

มาตรา 25 รับรองเสรีภาพสื่อและบัญญัติให้การตรวจสอบสื่อนั้นเป็นสิ่งที่กระทำมิได้ มาตรา 26 ปกป้องเสรีภาพในการชุมนุมโดยกำหนดให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มาตรา 27 รับรองถึงเสรีภาพในการสมาคม มาตรา 28 รับรองสิทธิในการร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 29 บัญญัติว่าความเป็นส่วนตัวในการโต้ตอบทางไปรษณีย์นั้นจะละเมิดมิได้

มาตรา 30 บัญญัติถึงการใช้ภาษาใด ๆ ในเบลเยียมนั้นได้รับการเปิดกว้าง หมายความถึงการบังคับใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งนั้นจะสามารถกระทำได้เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเท่านั้น และใช้เพื่อสำหรับองค์กรสาธารณะและสำหรับการพิจารณาคดีความทางกฎหมาย มาตรา 31 กำหนดให้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐสำหรับการกระทำความผิดในหน้าที่ได้โดยไม่ต้องมีการขออนุญาต มาตรา 32 กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติให้

ตั้งแต่ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา ศาลอนุญาโตตุลาการ ซึ่งในปัจจุบันคือศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบกฎหมาย บัญญัติ และเทศบัญญัติ ว่าเป็นไปตามหมวดที่ 2 และมาตรา 170, 172 และ 191 (ในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมของชาวเบลเยียมและชาวต่างชาติและการป้องกันการเลือกปฏิบัติทางภาษี) แห่งรัฐธรรมนูญ ในการตีความด้านกฎหมายที่แจกแจงในหมวดที่ 2 ของรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญยังใช้เกณฑ์ในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเพื่อป้องกันมิให้มีการตีความที่ผิดไปจากกันในหลักการเดียวกัน

อำนาจตามรัฐธรรมนูญ

อำนาจทั้งปวงก่อเกิดมาจากประเทศ
อำนาจเหล่านั้นจะใช้ในลักษณะที่รัฐธรรมนูญกำหนด

– มาตราที่ 33 ของรัฐธรรมนูญเบลเยียม

หมวดที่ 3 ของรัฐธรรมนูญเบลเยียม ใช้ชื่อว่า อำนาจ (The Powers) ซึ่งประกอบด้วยมาตรา 33 จนถึงมาตรา 166 และแบ่งออกเป็นแปดบทย่อย ซึ่งในนี้มีสี่บทที่สามารถแบ่งย่อยลงไปอีก โดยถือเป็นส่วนที่มีข้อมูลมากที่สุดในรัฐธรรมนูญ ในหมวดนี้ระบุไว้ถึงระบบของปกครองตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ

มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการใช้อำนาจหรือหน้าที่บางประการจะต้องเป็นไปองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ผูกพันกันตามสนธิสัญญาหรือตามกฎหมาย โดยหมายถึงความเป็นประเทศสมาชิกของเบลเยียมในสหภาพยุโรป

มาตรา 36 ให้อำนาจนิติบัญญัติในระดับสหพันธรัฐนั้นเป็นของพระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ถึงแม้ว่าในรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าอำนาจนิติบัญญัติจะต้องถูกใช้โดยสามฝ่ายนี้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นหน้าที่ของรัฐสภากลาง อันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายก่อนจะบังคับใช้ได้จะต้องได้รับการลงพระปรมาภิไธยก่อน

มาตรา 37 ให้อำนาจบริหารเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลกลางเป็นผู้ใช้อำนาจในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์

มาตรา 38 และ 39 นิยามบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบของประชาคมและแคว้นต่าง ๆ ในมาตรา 38 นั้นระบุว่าแต่ละประชาคมในเบลเยียมมีอำนาจหน้าที่โดยรัฐธรรมนูญ หรือตามกฎหมายซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ระบุว่ากฎหมายใดที่ผ่านเสียงข้างมากตามที่กำหนดไว้สามารถบังคับใช้ได้เพื่อบัญญัติหน้าที่รับผิดชอบให้กับองค์กรปกครองในระดับแคว้นได้

มาตราที่ 40 ให้อำนาจตุลาการแก่ศาลยุติธรรม โดยที่การพิจารณาคดีและการพิพากษาคดีนั้นกระทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์

ฝ่ายนิติบัญญัติ

ดูเพิ่มเติมที่: รัฐสภากลางเบลเยียม
ปาแลเดอลานาซียง ในกรุงบรัสเซลส์ เป็นที่ทำการของรัฐสภากลาง

ในบทที่ 1 เรื่อง สภากลาง ระบุถึงองค์ประกอบของสภา การเลือกตั้ง คุณสมบัติของสมาชิกและองค์กรแห่งรัฐสภากลาง อันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ประกอบด้วยสามส่วน ส่วนแรกเป็นบทบัญญัติของทั้งสองสภา ในขณะที่อีกสองส่วนนั้น ส่วนที่ 1 เรื่อง สภาผู้แทนราษฎร และส่วนที่ 2 วุฒิสภา เป็นบทบัญญัติที่มีเฉพาะแต่ในสภานั้น ๆ เพียงสภาเดียว

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งนั้น มีที่มาโดยการเลือกตั้งของพลเมืองเบลเยียมทุกคนที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย มาตรา 61 กล่าวเพิ่มว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิละหนึ่งเสียงเท่ากัน โดยหลักการแล้วการเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นทุก 4 ปี แต่เป็นไปได้ที่จะมีบ่อยขึ้นเมื่อมีการยุบสภาก่อนหมดวาระ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีสัญชาติเบลเยียม ซึ่งมีสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ จะต้องมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์และจะต้องมีถิ่นพำนักในเบลเยียม เงื่อนไขอื่นนั้นไม่ปรากฏ

ในบทที่ 2 เรื่อง อำนาจนิติบัญญติของประเทศ กล่าวถึงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ มาตรา 74 ระบุว่าอำนาจนิติบัญญัติของประเทศนั้นใช้โดยพระมหากษัตริย์ และสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่รวมถึงวุฒิสภา มาตรา 75 กำหนดให้แต่ละฝ่ายในสภานิติบัญญัติมีสิทธิที่จะเสนอร่างกฎหมายได้ หมายความถึงสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาและพระมหากษัตริย์ ซึ่งในทางปฏิบัติคือรัฐสภากลางสามารถเสนอร่างกฎหมายต่าง ๆ ได้ มาตรา 77 กล่าวถึงกรณีต่าง ๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานั้นมีบทบาทเสมอกัน มาตรา 78 ถึง 83 ระบุเพิ่มเติมถึงขั้นตอนทางสภาและความสัมพันธ์ระหว่างสองสภาในรัฐสภากลาง

สถาบันพระมหากษัตริย์

มาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติให้อำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญนั้นสืบสันตติวงศ์แก่สายของสมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 1

ในบทที่ 3 เรื่อง พระมหากษัตริย์และรัฐบาลกลาง ประกอบด้วยมาตรา 85 ถึง 114 แบ่งเป็นสามส่วน ส่วนที่ 1 เรื่อง พระมหากษัตริย์ บัญญัติถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของเบลเยียม การสืบสันตติวงศ์ และบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการ ส่วนที่ 2 เรื่อง รัฐบาลกลาง บัญญัติถึงรัฐบาลกลางและที่มาของสมาชิกทั้งหลาย ส่วนที่ 3 เรื่อง อำนาจหน้าที่ นิยามอำนาจตามรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วถูกใช้ผ่านรัฐบาลกลาง

มาตร 85 ระบุถึงอำนาจตามรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์นั้นสืบสันตติวงศ์ได้ผ่านทางการสืบราชสันตติวงศ์ผ่านรัชทายาทสายตรงในสมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 1 โดยยึดหลักในลำดับของการเป็นบุตรหัวปี อย่างไรก็ตามในหมวดที่ 9 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะกาล ระบุเพิ่มเติมว่ามาตรา 85 นั้นมีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรกโดยนับหลังจากรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 ลงไป กล่าวคือ พระราชธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 และในพระมหากษัตริย์รัชสมัยถัดไปล้วนอยู่ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ทั้งสิ้น โดยที่ไม่รวมถึงพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนหน้า โดยบทบัญญัติแก้นี้ได้รับการเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อแก้ไขหลักกฎหมายแซลิกซึ่งไม่ให้รวมพระราชธิดาในการสืบสันตติวงศ์ (เคยใช้ก่อน ค.ศ. 1991)

มาตรา 85 ระบุเพิ่มเติมถึงพระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 1 ที่เสกสมรสโดยไม่มีพระบรมราชานุญาตของพระมหากษัตริย์ (หรือผู้ที่ใช้พระราชอำนาจนั้นแทนตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ) ย่อมไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์ โดยสิทธินี้สามารถสถาปนาคืนได้โดยผ่านการรับรองโดยสภาทั้งสอง และในบทบัญญัติเฉพาะกาลในหมวดที่ 9 ระบุถึงกรณีการเสกสมรสของเจ้าหญิงอัสตริดแห่งเบลเยียม กับอาร์ชดยุกลอเรนซ์แห่งออสเตรีย-เอสเต ได้รับพระบรมราชานุญาตอย่างถูกต้องตามประเพณี มีการเพิ่มเติมบทบัญญัตินี้เข้ามาเนื่องจากการเสกสมรสเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1984 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระราชธิดาจะได้รับการรวมอยู่ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ การเสกสมรสของพระองค์นั้นในขณะนั้นไม่จำเป็นต้องได้รับพระบรมราชานุญาต

มาตรา 86 บัญญัติว่าในเหตุที่ไม่มีผู้สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 1 แล้ว พระมหากษัตริย์สามารถเลือกผู้สืบสันตติวงศ์ได้โดยต้องผ่านการรับรองโดยสภาทั้งสอง โดยการรับรองนั้นที่ประชุมจะต้องมีผู้เข้าร่วมอย่างน้อยสองในสามของสมาชิกทั้งหมด และจะต้องได้เสียงข้างมากอย่างน้อยสองในสามของสมาชิกทั้งหมด ณ ที่ประชุม ในเหตุที่ไม่สามารถเลือกผู้สืบสันตติวงศ์ได้ในกรณีนี้ทำให้ราชบัลลังก์ว่างลง มาตรา 95 บัญญัติเพิ่มเติมในกรณีราชบัลลังก์ที่ว่างลงนั้น รัฐสภากลาง (ทั้งสองสภา) จะต้องเปิดประชุมสภาเฉพาะกาลเพื่อแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ และให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ โดยที่รัฐสภาที่เพิ่งเลือกเข้ามาใหม่นั้นจะต้องเปิดประชุมภายในเวลาสองเดือนเพื่อที่จะเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เป็นการถาวร

รัฐสภากลาง (สองสภา) จะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการในอีกสองกรณีด้วย ตามมาตรา 92 และ 93 ในกรณีที่ผู้รับสืบสันนติวงศ์นั้นยังทรงพระเยาว์ หรือเหตุที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ ในทั้งสองกรณีรัฐสภากลางจะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา 94 บัญญัติให้มีผู้สำเร็จราชการเพียงคนเดียวและจะต้องเข้าพิธีถวายสัตย์ตามรัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับหน้าที่ มาตรา 93 บัญญัติให้รัฐมนตรีต้องรับทราบและรับรองในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ โดยจะต้องเรียกประชุมสภาทั้งสองโดยทันที

มาตรา 90 บัญญัติถึงกรณีพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต รัฐสภากลางจะต้องเปิดประชุมทันทีโดยไม่ต้องเรียกประชุมภายในเวลาสิบวันหลังจากวันสวรรคต ในกรณีที่มีการยุบสภาก่อนหน้าวันสวรรคต และกำหนดการเรียกประชุมสภาใหม่นั้นเกินกว่าสิบวันหลังจากวันสวรรคต ให้สภาเก่าเข้าเปิดประชุมแทนจนกว่าสภาใหม่จะเปิดประชุมได้ นอกจากนี้ยังบัญญัติว่าในระยะเวลาที่ราชบัลลังก์ว่างลงจนถึงการรับราชสมบัติของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ หรือการเข้าพิธีถวายสัตย์ของผู้สำเร็จราชการ ในช่วงเวลานั้นอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้นจะถูกใช้โดยคณะรัฐมนตรีในนามของชาวเบลเยียม

มาตรา 90 และ 93 เกี่ยวกับกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้นั้น เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งใน ค.ศ.​ 1990 เรียกกันว่า "คำถามเรื่องการทำแท้ง" อันมาจากประเด็นที่สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง ทรงปฏิเสธไม่ลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายด้านการทำแท้งเสรี โดยมีเหตุมาจากเรื่องข้อห้ามทางศาสนา โดยรัฐบาลกลางในขณะนั้นได้ประกาศให้พระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1990 โดยมีคณะรัฐมนตรีลงนามและประกาศใช้กฎหมายแทน ในวันถัดไปรัฐสภากลางได้ประกาศรับรองให้สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงทรงกลับมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามรัฐธรรมนูญได้

ตามมาตรา 87 แห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของประเทศอื่นในเวลาเดียวกันได้โดยไม่ได้รับการยินยอมโดยทั้งสองสภา ในกรณีของรัฐร่วมประมุขสามารถกระทำได้โดยการลงมติรับรองด้วยเสียงกว่าสองในสามของสภาทั้งสอง โดยจะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมดในสองสภา มาตรานี้ได้นำมาใช้เพียงครั้งเดียวใน ค.ศ. 1885 เมื่อสมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม ทรงรับเป็นประมุขร่วมกับเสรีรัฐคองโก

ฝ่ายบริหาร

ดูเพิ่มเติมที่: รัฐบาลกลางเบลเยียม

ในส่วนที่สองของบทที่ 3 กล่าวถึงองค์ประกอบและหน้าที่ของรัฐบาลกลาง มาตรา 96 บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรี หรือให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง นอกจากนี้ยังบัญญัติว่ารัฐบาลกลางจะต้องส่งหนังสือกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งกับพระมหากษัตริย์ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรใช้สิทธิอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านสภาด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาดโดยจะทูลเกล้าฯ ถวายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงแต่งตั้ง ในกรณีนี้จะทรงแต่งตั้งตามที่สภาฯ ทูลเกล้าถวาย โดยจะถือว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ก่อนเข้ารับตำแหน่ง

มาตรา 97 ถึง 99 ประกอบด้วยบทบัญญัติต่าง ๆ เกี่ยวกับสมาชิกภาพของรัฐบาลกลาง มาตรา 97 บัญญัติให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะต้องมีสัญชาติเบลเยียมเท่านั้น และมาตรา 98 ระบุถึงการห้ามมิให้สมาชิกราชวงศ์เบลเยียมทุกพระองค์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาตรา 99 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 15 คน และจะต้องประกอบด้วยผู้พูดภาษาดัตช์จำนวนเท่ากับผู้พูดภาษาฝรั่งเศส โดยไม่รวมถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจอื่นใด นอกจากที่รัฐธรรมนูญ
และกฎหมายเฉพาะซึ่งได้รับความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญนั้นเอง
มอบหมายให้อย่างแจ้งชัด

– มาตรา 105 ของรัฐธรรมนูญเบลเยียม

ส่วนที่สามกล่าวถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วทรงใช้พระราชอำนาจผ่านรัฐบาลกลาง มาตรา 105 ระบุอย่างชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจอื่นใดนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่บังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ ในมาตรานี้ยังกล่าวถึงหลักที่ว่าอำนาจบริหารของรัฐบาลกลางนั้นไม่มีอำนาจหรือบทบาทนอกเหนือจากที่บัญญัติให้โดยอำนาจนิติบัญญัติโดยรัฐสภากลาง

มาตรา 106 ระบุว่าการกระทำใด ๆ ของพระมหากษัตริย์จะไม่มีผลหากปราศจากการรับรองโดยการลงนามโดยรัฐมนตรี ผู้ซึ่งรับผิดชอบในการกระทำนั้น ๆ แทน ซึ่งหมายความว่ารัฐมนตรีผู้นั้นจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อการกระทำนั้นแทนองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหลักการที่ว่าพระมหากษัตริย์นั้นดำรงฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 88 และในหลักการของความรับผิดชอบของรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในมาตรา 101

ประชาคมและแคว้นต่าง ๆ

บทที่ 4 เรื่อง ประชาคมและแคว้น ประกอบด้วยมาตรา 115 ถึง 140 แบ่งเป็นสองส่วน ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนย่อย ๆ ส่วนแรก เรื่อง ระบบ และการจัดตั้งเป็นประชาคมและแคว้นต่าง ๆ รวมถึงบทบาทหน้าที่ โดยแบ่งเป็นสองส่วนย่อยซึ่งเป็นเรื่องของสภาประชาคมกับสภาแคว้น และรัฐบาลประชาคมกับรัฐบาลแคว้น ส่วนที่สอง เรื่อง บทบาทและหน้าที่ และนิยามถึงบทบาทและความรับผิดชอบของประชาคมและแคว้น ซึ่งแบ่งเป็นสามส่วนย่อย ได้แก่ บทบาทของประชาคม บทบาทของแคว้น และบทบัญญัติพิเศษที่เกี่ยวกับบทบาทเหล่านี้

มาตรา 115 ของส่วนที่ 1 ให้มีการจัดตั้งสภาประชาคมเฟลมิชหรือเรียกว่าสภาเฟลมิช สภาประชาคมฝรั่งเศส และสภาประชาคมผู้พูดภาษาเยอรมัน โดยระบุต่อว่าในแต่ละแคว้นจะต้องมีสภาเป็นของตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดสภาวอลลูนและสภาบรัสเซลส์ ในขณะที่สภาเฟลมิชมีบทบาทควบรวมระหว่างสภาประชาคมเฟลมิชกับแคว้นเฟลมิช มาตรา 116 บัญญัติให้สภาประชาคมและสภาแคว้นประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง โดยสมาชิกของสภาประชาคมนั้นจะต้องมาจากการเลือกตั้งทางตรงเพื่อสภาประชาคมหรือสภาแคว้นนั้น ๆ ซึ่งตรงกับกรณีของสภาประชาคมฝรั่งเศส และใช้หลักเดียวกันสำหรับสมาชิกสภาแคว้น

สมาชิกสภาประชาคมและสภาแคว้น มีที่มาจากการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี และตามมาตรา 117 แห่งรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งสภายุโรป ยกเว้นในกรณีที่ออกกฎหมายยกเว้น มาตรา 119 ให้สมาชิกสภาประชาคม หรือสภาแคว้น ไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภากลางได้ในเวลาเดียวกัน ยกเว้นในกรณีเดียวคือสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งมาจากประชาคมหรือแคว้นของตนเพื่อเป็นตัวแทนในวุฒิสภา และมาตรา 120 ให้สมาชิกสภาประชาคมและสภาแคว้นได้รับความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภาเฉกเช่นกับสมาชิกรัฐสภากลาง

มาตรา 121 ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฟลมิช รัฐบาลประชาคมฝรั่งเศส และรัฐบาลประชาคมผู้พูดภาษาเยอรมัน และบัญญัติให้แต่ละแคว้นจะต้องมีรัฐบาลเช่นกัน รัฐบาลเฟลมิชถือเป็นรัฐบาลของทั้งประชาคมและแคว้นเฟลมิช สมาชิกในรัฐบาลประชาคมและรัฐบาลแคว้นนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยสภาต้นสังกัด

ส่วนที่ 2 ระบุถึงบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบของประชาคมและแคว้น มาตรา 127 ของส่วนย่อยที่ 1 บัญญัติให้สภาเฟลมิชและสภาประชาคมฝรั่งเศสมีอำนาจหน้าที่ด้านวัฒนธรรมและการศึกษา อย่างไรก็ตามในด้านการศึกษาไม่ได้ให้อำนาจด้านเกณฑ์อายุในการได้รับการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการศึกษา ไม่ได้ให้อำนาจในการพิจารณาการออกวุฒิการศึกษา และบำนาญต่าง ๆ มาตรา 128 บัญญัติให้สภาเฟลมิชและสภาประชาคมฝรั่งเศสมีบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวกับตัวบุคคล นอกจากนี้ สภาเฟลมิชและสภาประชาคมฝรั่งเศสยังมีบทบาทด้านความร่วมมือระหว่างประชาคม และยังมีอำนาจในการลงนามในสนธิสัญญาที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่

ตามมาตรา 129 [สภาเฟลมิช]]และสภาประชาคมฝรั่งเศสมีบทบาทรับผิดชอบด้านนิติบัญญัติที่เกี่ยวกับการเลือกใช้ภาษาในระบบราชการและการติดต่อราชการ ด้านการศึกษา และด้านความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยมีขอบเขตจำกัดบางประการ โดยไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาในบริเวณขอบเขตอำนาจของรัฐบาลกลาง หรือภายในบริเวณเขตเทศบาลที่มีบริการด้านภาษา หรือในองค์กรสังกัดรัฐบาลกลางและองค์กรระหว่างประเทศ

มาตรา 130 ให้จัดทำบทบาทของสภาประชาคมผู้พูดภาษาเยอรมัน โดยบัญญัติให้สภาประชาคมผู้พูดภาษาเยอรมันมีหน้าที่ด้านวัฒนธรรมและด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวบุคคล การศึกษาโดยมีข้อจำกัดเดียวกันกับสภาประชาคมอื่น ๆ ความร่วมมือระหว่างประชาคมและระหว่างประเทศ รวมถึงอำนาจในการทำสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของประชาคมและภาษาที่ใช้ในการศึกษา มีประเด็นเดียวที่แตกต่างไปจากประชาคมอื่น คือกฎหมายใด ๆ ที่อยู่ในบทบาทของสภาประชาคมผู้พูดภาษาเยอรมันนั้นไม่จำเป็นจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากพิเศษในรัฐสภากลาง

ฝ่ายตุลาการ

ในหมวดที่ 5 เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญ การป้องกันความขัดแย้ง และการหาข้อยุติ ประกอบด้วยมาตรา 141 ถึง 143 แบ่งเป็นสามส่วน ซึ่งแต่ละส่วนประกอบด้วยหนึ่งเรื่อง ส่วนที่ 1 เรื่องการป้องกันความขัดแย้งในบทบาทหน้าที่ ส่วนที่ 2 เรื่องศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court) และส่วนที่ 3 เรื่องการป้องกันและหาข้อยุติเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน มาตรา 143 ระบุให้รัฐ ประชาคม แคว้น และคณะกรรมาธิการประชาคมร่วมซึ่งใช้อำนาจหน้าที่ขอบเขตของตนจะต้องเห็นแก่ความเป็นรัฐโดยรวม

หมวดที่ 6 เรื่อง อำนาจศาล อธิบายถึงองค์กรศาลยุติธรรมเบลเยียม ประกอบด้วยมาตรา 144 ถึง 159 มาตรา 147 ให้มีการจัดตั้งศาลยุติธรรมสูงสุด (Court of Cassation) มาตรา 150 ให้มีการจัดตั้งคณะลูกขุนสำหรับพิจารณาคดีอาญาอุกฉกรรจ์ คดีการเมือง และคดีที่เกี่ยวกับสื่อ ใน ค.ศ. 1999 มาตรานี้ได้รับการแก้ไขโดยบัญญัติเพิ่มเติมว่า "คดีที่เกี่ยวกับสื่อโดยมาจากความคิดด้านเหยียดสีผิวและความเกลียดกลัวต่างชาติ" จะไม่ได้รับการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน มาตรา 151 ให้มีการจัดตั้งสภาสูงแห่งศาลยุติธรรม (High Council of Justice) และมีเกณฑ์การคัดสรรผู้พิพากษา มาตรา 156 ให้มีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์ทั้งห้าพื้นที่ ได้แก่ บรัสเซลส์ เกนต์ แอนต์เวิร์ป ลีแยฌ และมงส์ มาตรา 157 บัญญัติให้ศาลทหารสามารถจัดตั้งได้ในเฉพาะเวลาสงคราม โดยยังบัญญัติถึงศาลพาณิชย์ ศาลแรงงาน และศาลชั้นต้นต่าง ๆ

หมวดที่ 7 เรื่อง ศาลปกครองสูงสุดและเขตอำนาจศาลปกครอง ประกอบด้วยมาตรา 160 และ 161 โดยให้จัดตั้งศาลปกครองสูงสุด (Council of State) และระบุไว้ว่าไม่สามารถกำหนดขอบเขตอำนาจศาลปกครองในวิธีอื่นได้นอกเหนือจากการใช้หลักกฎหมาย

การปกครองส่วนท้องถิ่น

ในบทที่ 8 อันเป็นบทสุดท้ายของหมวดที่ 3 แห่งรัฐธรรนูญ เรื่อง องค์การส่วนจังหวัดและเทศบาล อธิบายถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลของเบลเยียม ซึ่งประกอบด้วยมาตรา 162 ถึง 166 โดยมาตรา 162 ให้มีการจัดตั้งหลักการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและส่วนเทศบาล เช่น ที่มาของสมาชิกมาจากการเลือกของสภาจังหวัดและสภาเทศบาลของหน่วยนั้น ๆ มาตรา 163 บัญญัติให้บทบาทขององค์กรระดับจังหวัดที่ใช้บริหารจัดการในเขตปริมณฑลอันใหญ่กว่าจังหวัดซึ่งคือแคว้นนครหลวงบรัสเซลส์นั้นมาจากประชาคมเฟลมิช ประชาคมฝรั่งเศส คณะกรรมาธิการประชาคมร่วม และแคว้น มาตรา 165 บัญญัติให้ใช้กฎหมายในการจัดแบ่งเขตเทศบาลออกเป็นเขต ๆ หรือแยกออกเป็นหลายเขตได้ นอกจากนี้ยังระบุถึงบทบาทและหน้าที่ต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ มาตรา 166 อธิบายถึงมาตราที่แล้วในการใช้กับเขตเทศบาลในสังกัดแคว้นนครหลวงบรัสเซลส์

ใกล้เคียง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐธรรมนูญสหรัฐ รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 รัฐธรรมนูญเมจิ

แหล่งที่มา

WikiPedia: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม http://www.dekamer.be/kvvcr/pdf_sections/pri/fiche... http://www.unrisd.org/UNRISD/website/document.nsf/... https://archive.org/details/introductiontos04diceg... https://web.archive.org/web/20070614025223/http://... https://web.archive.org/web/20071203123942/http://... https://www.constituteproject.org/constitution/Bel... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Consti...