เชิงประวัติศาสตร์ ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม

ที่มา

รัฐธรรมนูญเบลเยียมนั้นแทนที่ด้วยแผ่นศิลาพระโอวาทซึ่งอารักขาโดยราชสีห์ปรากฏอยู่บนเหรียญกษาปณ์ของเบลเยียม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ค.ศ. 1831 ได้เกิดขึ้นภายหลังจากการประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ในการปฏิวัติเบลเยียม โดยภายหลังจากได้รับชัยชนะในช่วงแรก ได้มีการก่อตั้งรัฐสภาแห่งชาติขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1830 เพื่อใช้ในการปกครองสำหรับรัฐใหม่นี้ สมาชิกทั้งหลายของรัฐสภาแห่งชาติได้นำเสนอความคิดเห็นหลากหลายประเด็นในเรื่องการเมือง แต่เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนความเป็นสหภาพ (Union of Oppositions) ซึ่งแนวคิดนี้ได้เกิดขึ้นตั้งแต่การสมัยการปฏิวัติ[1] จึงทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นเสรีนิยมซึ่งสนับสนุนคาทอลิกอย่างเสรี นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้อภิปรายถึงรัฐธรรมนูญเบลเยียมว่า:

รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1831 นั้น... เป็นการรอมชอมกันระหว่างเจ้าของที่ดินและคณะสงฆ์ในด้านหนึ่ง กับอีกด้านหนึ่งคือเหล่าชนชั้นกลางเสรีนิยม แรงผลักดันของฝั่งอนุรักษนิยมนั้นต้องการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคม แค่ความต้องการนี้ทำให้เล็งเห็นความเชื่อมต่อระหว่างอดีตและปกป้องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดโต่ง ส่วนเหล่าชนชั้นกลางที่มีแนวคิดเสรีนิยม ถึงแม้จะต้องการการปฏิรูปอย่างเป็นระบบระเบียบนั้นแต่ก็ยังมีความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งเป็นอากัปกิริยาปกติของเหล่าเสรีชนในยุคแรก ๆ[2]

ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็น "การรอมชอมอย่างสมดุลและระมัดระวัง" ซึ่งผสมผสานแนวคิดเสรีนิยมสุดโต่งบางประการกับอนุรักษนิยมอันหนักแน่น โดยรัฐธรรมนูญนี้ได้นำแบบอย่างมาจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 กฎบัตร ค.ศ. 1814 และกฎบัตร ค.ศ. 1830 รัฐธรรมนูญแห่งเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 และรัฐธรรมนูญแห่งสหราชอาณาจักร ประเทศเบลเยียมได้ก่อตั้งในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญระบบสองสภา มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออก การศึกษา การนับถือศาสนา และเสรีภาพสื่อ แต่สิทธิในการลงคะแนนนั้นถูกจำกัดให้แก่ผู้ที่จ่ายภาษีอสังหาริมทรัพย์[3] ถึงจะมีหลายประเด็นซึ่งมีแนวคิดแบบเสรีนิยม แต่รัฐธรรมนูญยังระบุให้นิกายโรมันคาทอลิกมีอภิสิทธิ์กว่า ถึงแม้จะระบุถึงการแยกศาสนจักรกับอาณาจักร แต่นิกายโรมันคาทอลิกก็ยังอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบ[4] ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831

นัยทางการเมือง

รัฐธรรมนูญ ค.ศ.​ 1831 ได้รับการยกย่องเป็นสัญลักษณ์ของชาตินิยมเบลเยียมในตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเอ. วี. ไดซีย์ นักทฤษฎีกฎหมายชาวอังกฤษได้สรุปไว้ถึงรัฐธรรมนูญเบลเยียมว่า "เขียนออกมาได้เสมือนเป็นรัฐธรรมนูญอังกฤษฉบับลายลักษณ์อักษร" และยังได้รับการนำไปใช้โดยนักเคลื่อนไหวด้านเสรีนิยมในประเทศอื่น ๆ ในยุโรป รวมถึงเดนมาร์กซึ่งได้มีรัฐธรรมนูญปกครองตัวเองเมื่อ ค.ศ. 1849 โดยนำต้นฉบับมาจากรัฐธรรมนูญเบลเยียม โดย เจ. เอ. ฮอว์กูด นักประวัติศาสตร์ได้เขียนไว้ว่า

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ค.ศ. 1831 ได้มาแทนที่รัฐธรรมนูญสเปน ค.ศ. 1812 อย่างรวดเร็ว (ยกเว้นในดินแดนไกลโพ้นในลาตินยุโรปและลาตินอเมริกา) ในฐานะแสงนำให้แก่ชาวเสรีนิยมผู้ซึ่งไม่ได้เอียงซ้ายมาก [...] จนถึงกับต้องการกำจัดระบอบกษัตริย์และแทนที่ด้วยสาธารณรัฐ ที่ใดก็ตามถือการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดเป็นอุดมคติ ที่นั่นคือประเทศเบลเยียมแห่งกษัตริย์เลออโปลอันเป็นตัวอย่างที่ดี รัฐธรรมนูญเบลเยียมคือรัฐธรรมนูญที่ "มีครบทุกอย่าง" ตั้งแต่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนที่ได้รับการรับรองอย่างชัดเจน กษัตริย์และราชวงศ์ที่อยู่ในฐานะที่จะต้องให้สัตย์เพื่อให้ปกป้องรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติแบบสองสภาซึ่งทั้งสองสภานั้นมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ระบบตุลาการที่เป็นอิสระ สถาบันพระสงฆ์ที่รัฐสนับสนุนแต่ยังคงความเป็นอิสระจากรัฐ และปฏิญญาแห่งสิทธิเสรีภาพของปวงชนอันเป็นไปตามหลักเสรีภาพ ค.ศ. 1776 และค.ศ. 1789 และในอีกหลายประเด็นที่ได้รับการพัฒนามาจากหลักเสรีภาพเหล่านี้[5]

ความเปลี่ยนแปลงที่ตามมา

ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1831 แรกเริ่มบัญญัติให้เบลเยียมเป็นรัฐเดี่ยว และแบ่งการปกครองเป็นสามระดับ ระดับรัฐ ระดับจังหวัด และระดับเทศบาล ต่อมาในการปฏิรูปประเทศเบลเยียมได้ปรับระบบการเมืองเบลเยียมไปสู่การปกครองแบบสหพันธรัฐซึ่งเพิ่มเติมประเด็นมากมายลงไปในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1831 ต้นฉบับนั้นเขียนขึ้นเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเข้าถึงได้เพียงพลเมืองบางส่วนของประเทศ ต่อมาได้มีการจัดทำฉบับภาษาดัตช์ใน ค.ศ. 1967[6] ซึ่งก่อนหน้านั้นฉบับแปลเป็นภาษาดัตช์นั้นไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย และตั้งแต่ ค.ศ. 1991 ได้มีการจัดทำเป็นภาษาเยอรมันเพิ่มเติม[7]

ใกล้เคียง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐธรรมนูญสหรัฐ รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 รัฐธรรมนูญเมจิ

แหล่งที่มา

WikiPedia: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม http://www.dekamer.be/kvvcr/pdf_sections/pri/fiche... http://www.unrisd.org/UNRISD/website/document.nsf/... https://archive.org/details/introductiontos04diceg... https://web.archive.org/web/20070614025223/http://... https://web.archive.org/web/20071203123942/http://... https://www.constituteproject.org/constitution/Bel... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Consti...