ประชากรศาสตร์ ของ รัฐเชียงตุง

ชาติพันธุ์

เจ้านางทิพย์ธิดาพร้อมข้าราชบริพารกับเครื่องแต่งกายพื้นเมือง

รัฐเชียงตุงมีประชากรหลายเชื้อชาติ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ แต่ในราชธานีและพื้นที่ตอนกลางของประเทศมีประชากรหลักเป็นชาวไทเขิน[28] บ้างก็ว่าชาวไทเขินคือชาวไทยวนที่อพยพขึ้นมาจากอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยพญามังราย ตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 13[29] ตามหัวเมืองก็มีประชากรชาติอื่น ๆ เข้าไปอาศัย เช่น ฮ่อ พม่า กะเหรี่ยง กุรข่า ไทลื้อ ม้ง ปะหล่อง และกะชีน[30] นอกนั้นยังมีชาวไทเหนือซึ่งอพยพมาจากยูนนาน และชาวเขาหลายเผ่าอาศัยอยู่ เช่น ไตหลอย มูเซอ ละว้า และอ่าข่า[31] ส่วนอดีตรัฐเมืองยองทางตะวันออกสุด ซึ่งถูกรวมเข้ากับรัฐเชียงตุงนั้น มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อลูกผสมกับชาวไทใหญ่และเขิน[32]

ชาวไทเขินที่เป็นประชากรหลักของราชธานีมักสวมเครื่องแต่งกายสีฉูดฉาด ประกอบด้วยผ้าโพกศีรษะ เสื้อปั๊ด ผ้าคาดเอว แต่ละชิ้นมักไม่ซ้ำสีกัน ในอดีตผู้ชายมักสักด้วยอักขระอาคมต่าง ๆ[33] ในยุคที่ตกอยู่ในอารักขาของสหราชอาณาจักร ชาวเขินมักถูกรวมเข้ากับชาวไทใหญ่[32]

ภาษา

ภาษาไทเขิน มีความคล้ายและใกล้เคียงกับภาษายองและไทลื้อมาก ทั้งยังคล้ายกับภาษาไทยวน ต่างเพียงแค่สำเนียง และการลงท้ายคำ[34] ซึ่งชาวเขินแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มเขินก่อ-เขินแด้, กลุ่มเขินอู และกลุ่มเขินหวา[35] ส่วนอักษรไทเขินได้รับอิทธิพลอักษรจากล้านนาจากการเผยแผ่ศาสนา โดยรับอักษรธรรมล้านนาและอักษรฝักขามไปพร้อม ๆ กับศาสนา จึงมีลักษณะคล้ายกับอักษรธรรมล้านนา รวมทั้งยังรับวรรณกรรมล้านนาที่แพร่หลายสู่เชียงตุงด้วย[36]

นอกจากนี้ชาวเชียงตุงบางส่วนที่เคยได้รับการเรียนภาษาไทยช่วงที่ไทยเข้าปกครอง สามารถพูดและอ่านภาษาไทยได้ดี[37]

ศาสนา

เดิมประชากรนับถือศาสนาผี ปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธ มีวัดอยู่ทุกหมู่บ้าน มีวัฒนธรรมสูง และไม่ชอบการลักขโมย[25] สืบเนื่องคณะสงฆ์จากอาณาจักรล้านนาเดินทางเข้าไปเผยแผ่ศาสนา ดังจะพบว่ามีการสถาปนาวัดนิกายสวนดอก (นิกายรามัญ หรือยางกวง) และนิกายป่าแดง (หรือนิกายสีหล) สู่เชียงตุงตั้งแต่รัชสมัยพญากือนาและพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเผยแผ่ศาสนาในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองเสียอีก[38] โดยพญากือนาทรงสนับสนุนให้พระสงฆ์จากเชียงแสนและเชียงตุงศึกษาศาสนาพุทธจากวัดสวนดอกในเชียงใหม่ ต่อมาในรัชกาลพญาสามฝั่งแกนมีการรับคัมภีร์ศาสนาจากลังกาเรียกว่านิกายป่าแดงตามชื่อวัดป่าแดง ก่อนแพร่หลายไปทั่วล้านนาและเชียงตุง ซึ่งพระยาสิริธัมมจุฬา เจ้าเมืองเชียงตุงสร้างวัดป่าแดงเป็นอรัญวาสีประจำเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1989[39] สองนิกายนี้เคยเกิดสังฆเภทเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนพระเมืองแก้วทรงไกล่เกลี่ยให้สองนิกายนี้กลับมาปรองดองกัน[40]

ในช่วงหลังนิกายป่าแดงได้รับความนิยมมากกว่านิกายยางกวง ในด้านพระธรรมวินัยและการสวดแบบบาลีที่ถูกต้องแบบเดียวกับการสวดของพระสงฆ์ไทย แต่นิกายยางกวงยังปรากฏอิทธิพลอยู่บ้างตามชุมชนห่างไกล ด้านการสวดมนต์ พระสงฆ์ไทใหญ่และพม่าจะสวดบาลีสำเนียงพม่า ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์เขินจึงไม่สังฆกรรมกับพระสงฆ์ไทใหญ่และพม่า แม้ปัจจุบันพระสงฆ์เขินแสดงเจตจำนงรวมเข้ากับนิกายสุธัมมาของพม่า[40] กระนั้นคณะสงฆ์เขินยังคงจารีตและระบบสมณศักดิ์เดิมตามอย่างล้านนา และอิงการศึกษาศาสนาอย่างคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน[41]

คณะสงฆ์เขินมี สมเด็จอาชญาธรรม เป็นประมุขสงฆ์แห่งเมืองเชียงตุงและหัวเมืองทางฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เปรียบตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งเชียงตุง แต่หลังคณะสงฆ์เขินรวมเข้ากับนิกายสุธัมมาของพม่าแล้ว ตำแหน่งสมเด็จอาชญาธรรมถูกลดฐานะลงเทียบเจ้าคณะอำเภอเชียงตุงเท่านั้น[42]

แหล่งที่มา

WikiPedia: รัฐเชียงตุง http://www.zum.de/whkmla/region/seasia/xshan.html http://dsal.uchicago.edu/reference/gazetteer/pager... http://www.tai-culture.info/text/text_shanhistory.... http://www.worldstatesmen.org/Myanmar_shankaren.ht... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/A/... http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/137223/%E... https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/art... https://archive.org/stream/pacificationofbu00crosr... https://web.archive.org/web/20131127092015/http://...