การขยายดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมองโกล ของ ราชวงศ์หยวน

กุบไลข่านใช้วิธีการขยายดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มจากการส่งทูตไปให้ยอมจำนนและยอมรับอำนาจกองทัพมองโกล หากไม่ยอมจำนนจะใช้สงครามเป็นทางเลือกสุดท้าย

อาณาจักรพุกาม

อาณาจักรพุกาม

ในปี พ.ศ. 1816 (ค.ศ. 1273) กุบไลข่านได้ทรงส่งคณะทูตสามชุดมายังอาณาจักรพุกาม (พม่า) เพื่อให้ยอมจำนนต่ออาณาจักรมองโกล แต่กษัตริย์พม่าในขณะนั้นทรงถือว่าพระองค์มีอำนาจยิ่งใหญ่ นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงโจมตีรัฐควนไกทางภาคเหนือของอาณาจักรพุกาม ทำให้ชาวมองโกลโกรธแค้น ต่อมากุบไลข่านจึงสั่งให้แม่ทัพนาเซอร์ อัลดินบุตรชายของขุนนางไซยิด อาจัลล์ ขุนนางมุสลิมซึ่งเป็นที่วางพระทัยของกุบไลข่านคนหนึ่ง นำทัพโจมตีอาณาจักรพุกาม ขณะเดียวกันพระเจ้านรสีหบดีของพม่า พระองค์ทรงวางกำลังช้างศึก 2000 เชือก นำหน้ากระบวนทัพ และวางกำลังกองทหารม้าไว้สองด้าน ตามด้วยกองกำลังทหารราบ ผลจากสงครามครั้งนี้กองทัพพม่าปราชัยอย่างย่อยยับ มองโกลได้ยึดเมืองที่มีประชากรกว่า 110,200 ครอบครัว ตามชายแดนพม่า

ต่อมาในปี พ.ศ. 1830 (ค.ศ. 1287) กุบไลข่านได้ส่งกองทัพเพื่อพิชิตอาณาจักรพุกาม ภายใต้การบังคับบัญชาโดยแม่ทัพอีเซน เตมูร์ พระราชนัดดาของพระองค์ แม่ทัพอีเซนได้นำทัพบุกไปถึงเมืองหลวงของอาณาจักรพุกาม และยึดเมืองหลวงอาณาจักรพุกามไว้ได้ พระเจ้านรสีหบดีของพม่าจึงได้ยอมจำนนต่อมองโกลและส่งเครื่องราชบรรณาการเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อมองโกลทุกปี มีข่าวว่ากษัตริย์พม่าได้ปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยการเสวยยาพิษเพราะด้วยความเสียพระทัยอย่างใหญ่หลวง

อาณาจักรอันนัมและอาณาจักรจามปา

กุบไลข่านได้ส่งทูตเชิญพระเจ้าตรัน ถั่น ทอน กษัตริย์อาณาจักรอันนัม และพระเจ้าชัยอินทรวรมันที่ 6 แห่งอาณาจักรจามปา เสร็จไปเยือนราชสำนักของพระองค์ที่เมืองต้าตูอาณาจักรมองโกล แต่ปรากฏว่าไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดเสร็จไป เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง ในปี พ.ศ. 1824 (ค.ศ. 1281) กุบไลข่านจึงตัดสินพระทัยที่จะปฏิบัติการโต้ตอบอย่างรุนแรง โดยให้แม่ทัพโซดูพร้อมด้วยทหาร 5,000 นาย เรือ 100 ลำ เดินทางถึงอาณาจักรจัมปา และยึดเมืองหลวง ซึ่งก็สามารถยึดได้อย่างรวดเร็ว และพบว่าพระเจ้าชัยอินทรวรมันที่ 6 ได้นำทัพล่าถอยไปซ่อนอยู่ตามภูเขาภายในเขตตะวันตก ต่อมากุบไลข่านได้ส่งกำลังเสริมไปช่วยแม่ทัพโซดูอีก 15,000 นาย แต่ปรากฏว่าต้องประสบปัญหายุ่งยากหลายประการ เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศ ต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนชื้นและโรคภัยต่าง ๆ ทำให้การทำสงครามดำเนินไปได้น้อยมาก กุบไลข่านจึงส่งกองทัพที่แข็งแกร่งนำโดยเจ้าชายโตกอนเพื่อไปเสริมกับกองทัพของแม่ทัพโซดูโดยใช้เส้นทางของอาณาจักรอันนัมเป็นทางผ่านแต่พระเจ้าตรัน ถั่น ทอนทรงปฏิเสธไม่ยอมให้ใช้ดินแดนของอาณาจักรอันนัมเป็นทางผ่านไปบุกรุกอาณาจักรจัมปา ดังนั้นเจ้าชายโตกอนจึงต้องรวมทัพใหญ่ทำสงครามกับอาณาจักรอันนัม

การทำสงครามกับอาณาจักรอันนัมในช่วงแรก กองทัพมองโกลต้องพบกับอุปสรรคหลายอย่างเช่นอากาศร้อนชื้น ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 1830 (ค.ศ. 1287) พวกเขาได้รวมกันเข้าเป็นกองทัพใหญ่ นำโดยเจ้าชายโตกอน และมุ่งตรงไปกรุงฮานอย และพบว่ากษัตริย์แห่งอาณาจักรอันนัมและพระโอรสได้เสร็จหนีไปแล้ว ต่อมากษัตริย์แห่งอาณาจักรอันนัมก็ได้ตัดสินใจยอมจำนนโดยส่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวาย และปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อราชสำนักกุบไลข่านต่อไป ด้วยเหตุผลคล้ายกันทางพระเจ้าชัยอินทรวรมันที่ 6 แห่งอาณาจักรจามปาก็ได้ยอมจำนนและส่งเครื่องราชบรรณาการไปสวามิภักดิ์ราชสำนักกุบไลข่านเช่นเดียวกัน

อาณาจักรสุโขทัย

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

กุบไลข่านทรงส่งกองทัพแผ่อำนาจลงทางใต้เพื่อล้มล้างราชวงศ์ซ่งทางตอนใต้ของจีน ซึ่งผลจากการยกทัพตามไล่ล่าพวกราชวงศ์ซ่งดังกล่าว เป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้กองทัพมองโกลรุกรานลงมายังเขตมณฑลยูนนานในปี พ.ศ. 1796 (ค.ศ. 1253)

หลังจากเคลื่อนกองทัพเข้ายึดมณฑลยูนนานและโจมตีอาณาจักรน่านเจ้าในยูนนานแตกแล้ว ตามข้อสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์ถือว่าอาณาจักรน่านเจ้าเป็นอาณาจักรของไทย ที่ถูกกองทัพมองโกลโจมตีจึงได้อพยพลงมาทางใต้มาอยู่ในเขตแหลมทอง และได้ตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นแต่ข้อมูลดังกล่าวนี้ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า อาณาจักรน่านเจ้าเป็นของไทยจริงหรือไม่

สรุปได้ว่าช่วงที่กองทัพมองโกลแผ่แสนยานุภาพโดดเด่นที่สุดเป็นช่วงเดียวกับการตั้งกรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1800 (1257) ซึ่งเป็นอาณาจักรของตนอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก

หลักฐานสำคัญในพงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 2 แปลเรื่องราวการติดต่อระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับราชวงศ์มองโกลได้สรุปไว้ว่ากุบไลข่านทรงปรึกษาขุนนางข้าราชการระดับสูงเกี่ยวกับการเตรียมทัพไปปราบปรามแคว้นต่าง ๆ ทางใต้ มีสุโขทัย ละโว้ สุมาตรา และอื่น ๆ เป็นเมืองขึ้น ปรากฏว่าขุนนางชื่อ เจี่ย หลู่ น่าต๋าไม่เห็นด้วยและได้กราบบังคมทูลเสนอแนะให้ทรงชักชวนให้ผู้นำดินแดนต่าง ๆ อ่อนน้อมยอมสนับสนุนก่อน หากไม่ยอมจึงยกกองทัพไปโจมตี นี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่กุบไลข่านทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี และขอให้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักมองโกล เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออาณาจักรมองโกล ปราฏว่ามีอาณาจักรในดินแดนต่าง ๆ กว่า 20 อาณาจักรยอมรับข้อเสนอ รวมทั้งอาณาจักรสุโขทัยด้วย (ช่วงระหว่างประมาณ พ.ศ. 1822 - 1825)

พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 12 เป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงคณะทูตชุดแรกจากอาณาจักรมองโกลในสมัยกุบไลข่าน เดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 1825 (ค.ศ. 1282) ทูตคณะนี้นำโดยเหอจี จี่ นายทหารระดับสูงเป็นหัวหน้าคณะ แต่ขณะนังเรือแล่นผ่านฝั่งทะเลอาณาจักรจามปา ได้ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต ผลจากคณะทูตนี้ถูกประหารชีวิตก่อนจะเดินทางไปยังอาณาจักรสุโขทัยทำให้อาณาจักรสุโขทัยไม่ทราบว่ามองโกลพยายามส่งทูตมาติดต่อ

พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 17 กล่าวถึงคณะทูตมองโกลชุดที่สองเดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในปี พ.ศ. 1835 (ค.ศ. 1292) ภายหลังจากข้าหลวงใหญ่ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยของมณฑลกวางตุ้ง ได้ส่งคนอัญเชิญพระราชสาส์นอักษรทองคำของกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยไปยังนครหลวงข่านมาลิก (ต้าตู หรือปักกิ่งปัจจุบัน) คณะทูตมองโกลชุดที่สองได้อัญเชิญพระบรมราชโองการของกุบไลข่านให้พ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปเฝ้า พระบรมราชโองการนี้แสดงให้เห็นนโยบายของอาณาจักรมองโกลเรียกร้องให้ผู้นำของอาณาจักรต่าง ๆ ไปเฝ้ากุบไลข่าน แต่มิได้บังคับให้เป็นไปตามนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตามแต่ประการใด

พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่นที่ 18 กุบไลข่านได้ส่งคณะทูตชุดที่สามมาสุโขทัย โดยได้อัญเชิญพระบรมราชโองการให้พ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปเฝ้า หากมีเหตุขัดข้องให้ส่งโอรสหรือพระอนุชาและอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน ซึ่งปรากฏว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตาม แต่ส่งคณะทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปแทน

อาณาจักรสิงหะส่าหรี

อาณาจักรสิงหะส่าหรี

พระเจ้าเกียรตินครแห่งชวาทรงแข็งข้อต่อต้านมหาอำนาจของกุบไลข่าน เนื่องมาจากพระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการรวมดินแดนเข้าด้วยกันเป็นอาณาจักรใหญ่ จนทำให้พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงศาสนาไปเป็นศาสนาพุทธแบบตันตระ และได้สถาปนาสัมพันธไมตรีด้วยการอภิเษกกับเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์อาณาจักรจัมปา พระองค์ทรงแสวงหาทางควบคุมการค้าขายเครื่องเทศที่มีกำไรงาม ซึ่งมีฐานอยู่ในเขตหมู่เกาะโมลุกกะ และต้องอนุรักษ์ให้ชาวชวาเป็นกลางเกี่ยวกับการค้าขายโดยเฉพาะ พระองค์ทรงเกรงว่ากุบไลข่านทรงตั้งพระทัยที่จะกำจัดการควบคุมการค้านี้

พระองค์ทรงมีพฤติกรรมต่อต้านขุนนางเม่ง จี หนึ่งในคณะทูตของกุบไลข่านที่เดินทางไปถึงชวาในปี พ.ศ. 1832 (ค.ศ. 1289) และได้กราบทูลให้พระองค์ทรงยอมจำนนแก่อาณาจักรมองโกล การตอบสนองของพระองค์อย่างหยิ่งยโสคือทรงใช้เหล็กประทับตราที่เผาไฟร้อนจัดประทับลงใบหน้าของทูตผู้โชคร้ายคนนี้อย่างโหดเหี้ยม เหตุร้ายแรงดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นข้ออ้างของกุบไลข่าน ทรงเริ่มส่งกองทัพไปปราบปรามกษัตริย์ชวาทันที โดยให้แม่ทัพชี่ปี และแม่ทัพอิโก มู ซุ รวบรวมกำลังพลและเสบียงจากมณฑลฝูเจี้ยน กวางซี และหูกวาง เป็นทัพใหญ่ไปโจมตีชวา

แม่ทัพชี่ปีได้รับมอบหมายให้บังคับบัญชาทหารภาคพื้นดิน ส่วนแม่ทัพอิโก มู ซู ชาวอิกเกอร์ สายเลือกมองโกล ได้รับมอบหมายให้เตรียมเรือ และรวบรวมทหารเรือที่เชี่ยวชาญด้านยุทธนาวี ปลายปี พ.ศ. 1835 กองทัพใหญ่ได้เคลื่อนพลออกจากมณฑลจวนโจว พร้อมด้วยกำลังทหารจำนวน 20,000 นาย เรือลำเลียงพล 1,000 ลำเสบียงกรังสำหรับใช้ทั้งปี และแท่งเงินบริสุทธิ์น้ำหนักรวม 40,000 ออนซ์สำหรับใช้ซื้อหาสิ่งของเพิ่มเติม

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 1836 กองกำลังทหารราบของแม่ทัพชี่ปีได้ยกทัพขึ้นฝั่งส่วนแม่ทัพอิโก มู ซุ คุมกองเรือใกล้ชายฝั่ง พระเจ้าเกียรตินครแห่งชวาทรงทราบข่าวการโจมตีของกองทัพมองโกลใกล้จะเกิดขึ้น ดังนั้นพระองค์จึงรีบส่งกองทัพขนาดใหญ่ไปยังอาณาจักรจามปาและบางส่วนในคาบสมุทรมลายู ซึ่งพระองค์ทรงคาดว่าเป็นจุดที่กองทัพข้าศึกจะยกพลขึ้นฝั่งก่อนที่จะเคลื่อนพลมุ่งหน้าไปชวา แต่การส่งกองทัพใหญ่ไปอยู่ห่างไกล กลายเป็นจุดอ่อนของพระเจ้าเกียรตินคร สำหรับผู้นำอีกหลายฝ่ายที่ต่อต้านพระองค์ หนึ่งในกลุ่มผู้นำที่เป็นปรปักษ์พระองค์ก็คือ พระเจ้าชัยขัตติยวงศ์ผู้นำรัฐเคดิรี (ดาหา) ได้ก่อการปฏิวัติต่อต้านพระองค์โดยโจมตีกองทัพรักษาพระองค์จนแตกพ่าย และได้ปลงพระชนม์พระเจ้าเกียรตินครด้วยพระองค์เอง ในที่สุดอำนาจของพระเจ้าเกียรตินครก็ตกไปอยู่ในพระหัตถ์ของเจ้าชายวิชัยพระชามาดา (ราชบุตรเขย) ผู้ทรยศของพระองค์ ต่อมาพระองค์ทรงคิดหาทางแก้แค้นให้กับความพ่ายแพ้ของพระสัสสุระ (พ่อตา หมายถึง พระเจ้าเกียรตินคร) โดยพระองค์ได้ทรงเสนอยอมจำนนแก่กองทัพมองโกล ในทางกลับกันเพื่อให้ช่วยปราบปรามผู้ก่อการปฏิวัติอีกทอดหนึ่ง นายทหารคนสนิทของพระองค์เป็นคนนำความลับไปแจ้งแก่กองทัพมองโกลเกี่ยวกับการเข้าเมือง ท่าเรือ แม่น้ำ และแผนที่รัฐเคดิรี ทางกองทัพมองโกลตกลงร่วมปฏิบัติการโดยได้นำกองเรือแล่นตรงไปยังเมืองท่ารัฐเคดิรี ส่วนแม่ทัพชี่ปีนำกองทหารราบบุกขึ้นฝั่งแล้วเตรียมทัพโจมตี ภายในสัปดาห์เดียว กองทัพของเขาก็ได้เข้าปะทะกับกองทัพรัฐเคดิรี ผลการสู้รบกันอย่างหนักทำให้สังหารทหารรัฐเคดิรีได้ถึง 5,000 นายในที่สุดพระเจ้าชัยขัตติยวงศ์ทรงยอมแพ้และถูกตัดสินให้ปลงพระชนม์ทันที

แม้ว่ากองทัพมองโกลจะประสบความสำเร็จดังกล่าว แต่ผู้นำทั้งสองถูกหลอกโดยไม่มีใครคาดคิด เมื่อเจ้าชายวิชัยได้ตรัสขอให้จัดกำลังทหารมองโกลไม่ต้องติดอาวุธจำนวน 200 นาย คอยอารักขาตามเสร็จพระองค์ไปยังเมืองมัชปาหิต ซึ่งทรงอ้างว่าที่เมืองนั้นพระองค์ทรงเตรียมพิธียื่นข้อเสนอยอมจำนนผู้แทนกุบไลข่านอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่าผู้นำทั้งสองของกองทัพมองโกลได้กราบทูลตกลงและเห็นด้วย โดยมิได้สงสัยพฤติกรรมการหลอกลวงของเจ้าชายวิชัยเลยแม้แต่น้อย

เหตุการณ์ร้ายได้เกิดขึ้น ระหว่างทางมุ่งหน้าไปยังเมืองมัชปาหิตกองกำลังทหารของเจ้าชายวิชัยได้ลอบซุ่มโจมตีทหารมองโกลที่ตามเสด็จไป ส่วนกองทัพมองโกลภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพชี่ปีและแม่ทัพอิโก มู ซุ ซึ่งรออยู่ที่เมืองเคดิรี ถูกกองทัพใหญ่ของเจ้าชายวิชัยโอบล้อมโจมตีโดยที่ไม่มีใครคาดคิด แม่ทัพมองโกลทั้งสองได้นำกองกำลังตีฝ่าวงล้อมเพื่อมุ่งหน้าไปยังกองเรือที่จอดอยู่ท่าเรือ ในที่สุดแม่ทัพชี่ปีถึงกับต้องล่าถอย และตัดสินใจวิ่งหนีไปยังเรือที่จอดอยู่ที่ท่าเรือ แต่ปรากฏว่าเขาต้องสูญเสียชีวิตของทหารราบไปกว่าสามพันคน เมื่อกลับไปถึงมองโกล กุบไลข่านก็ได้สวรรคตในปี พ.ศ. 1837 และก็ไม่มีผู้นำคนใดที่จะนำกองทัพไปปราบปรามอาณาจักรสิงหะส่าหรี (อินโดนีเซีย) อีกเลย

วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง