สภาพสังคม ของ ราชวงศ์เซาเตเลวูร์

ผู้ปกครองเซาเตเลวูร์ที่นันมาโตลเป็นเจ้าของดินแดนและประชากร โดยยกดินแดนบางส่วนให้ชนชั้นนำเพื่อกำกับการเก็บเกี่ยวของสามัญชน สามัญชนจะต้องมอบบรรณาการผลไม้และปลาให้กับผู้ปกครอง[2]

บรรณาการประกอบด้วยสาเกเป็นส่วนมากในฤดูรัก (ฤดูแห่งความอุดมสมบูรณ์) ขณะที่เปลี่ยนไปเป็นมัน เผือกและสาเกหมักในฤดูอิซล (ฤดูแห่งความขาดแคลน) นอกจากนี้มีการมอบอาหารทะเลให้กับเซาเตเลวูร์ในเวลาที่ระบุไว้ ระบบบรรณาการระยะแรกเป็นไปตามฤดูกาล อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป การเรียกร้องของเซาเตเลวูร์ทำให้ประชาชนอดอยากและใช้ชีวิตเยี่ยงทาส ด้วยการที่พวกเขาต้องใช้แรงงานและมอบวัสดุเกือบทั้งหมดให้กับเซาเตเลวูร์เป็นลำดับแรก ความไม่พอใจของผู้คนนำไปการลอบสังหารไม่ต่ำกว่าสองครั้ง แต่เซาเตเลวูร์อื่นก็ขึ้นมามีอำนาจแทนที่คนก่อน[1][2][9] นอกจากนี้มักพบการต่อต้านผู้กดขี่ด้วยการต่อต้านคำสั่งและขโมยวัตถุดิบที่จะมอบให้เซาเตเลวูร์[1]

เซาเตเลวูร์บางคนมีใจกรุณา เช่น อิเนน มเวย์สถาปนาระบบอภิชนาธิปไตยและไรปเว็นลัง ซึ่งเป็นนักเวทย์ที่ชำนาญ อย่างไรก็ตามเซาเตเลวูร์ผู้อื่นเป็นที่รู้จัึกในฐานะผู้อำมหิต เช่น ซากน มเวย์เก็บภาษีชาวโปนเปย์อย่างโหดเหี้ยม และไรปเว็นลาเกใช้เวทมนต์เพื่อระบุตำแหน่งชาวโปนเปย์ที่อ้วนที่สุดและกินเขา ขณะที่เกจิปาเรลงได้รับการจดจำในฐานะที่มีภรรยาตะกละ ส่วนผู้ปกครองถัดมาอย่างซาไรเต็น ซัปว์เป็นผู้สถานปนาธรรมเนียมผลไม้แรกบนเกาะโปนเปย์[8]

การแบ่งเขตการปกครอง

แผนที่เทศบาลของโปนเปย์ในปัจจุบันห้าแห่ง แต่ในสมัยเซาเตเลวูร์มีหน่วยการปกครองระดับบนเพียงสามแห่งเท่านั้น

ในรัชสมัยของเซาเตเลวูร์ มโวนมเวย์แบ่งโปนเปย์ออกเป็น 3 เวย์หรือรัฐ ภาคตะวันออกเรียกว่าโกปวาเล็ง (มาโตเลนีม) ประกอบด้วยพื้นที่ 7 ส่วน ได้แก่ เว็นอิก เปย์ตี, เว็นอิก เปย์ตัก, เอนีมวัน, เลเดา, เซนิเปน, เลปินเซ็ตและเตเลวูร์ ส่วนภาคตะวันตกเรียกว่ามาเล็นโกปวาเล (กิจี) ประกอบด้วย 4 พื้นที่ ได้แก่ โอโนนเล็ง, เกปีเล็ง, เลนปเว็ลและอะทอลล์อันต์ และภาคเหนือเรียกว่าปวาปวาลิก ประกอบด้วย ปาลีกีร์, โซเก็ส, ติปเว็น โดงาลัป, กามาร์, นันมาอีร์และเกาะปะกิน ระบบการปกครองรวมศูนย์ได้รวมระดับการแบ่งเขตปกครองย่อยที่มีก่อนหน้าเข้ามาไว้และนำโครงสร้างชนชั้นนำท้องถิ่นมาใช้ ต่อมาอูและเน็จกลายเป็นรัฐทางตอนเหนือ ซึ่งนำไปสู่การก่อกำเนิดของเทศบาล 5 แห่งบนเกาะโปนเปย์ในปัจจุบัน[1]

โซเกนเป็นดินแดนที่มั่งคั่งภายใต้การปกครองของเซาเตเลวูร์[12][13] ขณะที่โอโนนเล็งมีอำนาจปกครองตนเองสูงมาก พื้นที่กิจีและเกปีเล็งทางตะวันตกมีชื่อเสียงในการต่อต้านการปกครองของเซาเตเลวูร์ที่อยู่ทางตะวันออก[1]

ที่เมืองหลวงนันมาโตล ผู้ปกครองเซาเตเลวูร์พัฒนาระบบตำแหน่งแบ่งชั้นเพื่อแสดงถึงอาชีพ ซึ่งรวมถึง ที่ปรึกษา ผู้เตรียมอาหาร องครักษ์ประจำประตูและองครักษ์ย่านที่อยู่อาศัย[1]

ตามตำนานกล่าวว่าผู้ปกครองราชวงศ์เซาเตเลวูร์ไม่มีความสนใจและเกี่ยวข้องกับกิจการทางทหาร เนื่องจากโดยรวมแล้วเป็นยุคสมัยแห่งสันติ แม้ว่าชาวโปนเปย์พื้นเมืองจะได้รับความทุกข์และมีความไม่พอใจเกี่ยวกับการปกครอง[1][8]

ศาสนา

ข้อมูลเพิ่มเติม: นันมาโตล
แผนที่นันมาโตล

ศาสนาในสมัยราชวงศ์เซาเตเลวูร์มีลักษณะของอารามหินขนาดใหญ่และพื้นที่สุสาน การถวายอาหารและการทำนายศักดิ์สิทธิ์ ลัทธิบูชาราชวงศ์เซาเตเลวูร์พบได้ที่นันมาโตล ที่จะมีการถวายบรรณาการแด่เทพสายฟ้านานซัปเว หรือเดากาเตา ซึ่งเป็นที่มาของความชอบธรรมของราชวงศ์เซาเตเลวูร์ ชาวโปนเปเดิมเคารพนานซัปเว ซึ่งจากนันมาโตล ลัทธิบูชานานซัปเวแผ่กระจายไปยังพื้นที่อื่นของโปนเปย์ ส่วนลัทธิบูชาอื่นที่พบเช่นลัทธิบูชาปลาไหลน้ำจืดและลัทธิบูชาเทพอิลาเกะ[1][11]

เซาเตเลวูร์ไม่ประสบความสำเร็จในความพยายามที่จะแนะนำให้ชาวโปนเปย์บูชาเทพของตนนานีโซน ซัปว์ ซึ่งชาวโปนเปย์เคารพพอเป็นพิธีเท่านั้น ผู้ปกครองเซาเตเลวูร์ใช้ปลาไหลมอเรย์นานซัมโวลในฐานะตัวกลางของนานนีโซน ซัปว์ ผู้ที่ระบุว่าเทพต่างถิ่นจะพอใจด้วยการกลืนกินบรรณาการในรูปของเต่า ชนชั้นนักบวชนำโดยหัวหน้านักบวชโซว์กีเซเล็งเป็นผู้มีอำนาจและอิทธิพลในสังคมโปนเปย์[1][11]

พิธีกรรม กัมปา ที่จัดเป็นประจำทุกปีเป็นเครื่องยืนยันการอุทิศของชาวโปนเปย์แด่เทพและวิญญาณแห่งแผ่นดิน ส่วนพิธี ซาเกา เป็นการยืนยันการมีอำนาจเหนือของเซาเตเลวูร์ โดยพิธีกรรมส่วนมากเกี่ยวข้องกับการเตรียมของขวัญแด่ผู้ปกครอง[1]

การถวายอาหาร โดยเฉพาะแด่เซาเตเลวูร์ มีเต่าและสุนัข ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมรวมอยู่ด้วย เต่า (เวย์) แทนการแบ่งเขตการปกครอง 3 ส่วน (เวย์) และเป็นศูนย์กลางตำนานที่สองพี่น้องต้องสังเวยแม่ของพวกเขา คือ เต่าที่ให้ชีวิต เพื่อให้เซาเตเลวูร์กิน หลังจากที่พวกเขาพูดอย่างติดตลกว่าจะขายเธอเพื่อแลกกับการลิ้มลองเนื้อสุนัขของเซาเตเลวูร์ ส่วนสุนัขมีสถานะที่สำคัญมากในสังคม โดยผู้ปกครองเซาเตเลวูร์ เนื่องจากเซาเตเลวูร์ถูกมอบอำนาจการปกครองโดยสุนับในตำนานอย่างโอนุนมาตาไก (ผู้เผ้าดูดินแดน)[1]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ราชวงศ์เซาเตเลวูร์ http://scholarspace.manoa.hawaii.edu/bitstream/han... http://www.uoregon.edu/~wsayres/pohnpei/NanMadol.h... //doi.org/10.1016%2Fj.yqres.2016.08.002 //doi.org/10.1016/j.yqres.2016.08.002 //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://books.google.com/books?id=-2eyAAAAIAAJ https://books.google.com/books?id=-QSYktkf81wC https://books.google.com/books?id=00fNj3w_lN0C https://books.google.com/books?id=01zpM4GUpX0C https://books.google.com/books?id=5fS5CSCOLqIC