ประวัติ ของ ลัทธิประทับใจ

ในช่วงที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งเศสนั่นคือจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงบูรณะกรุงปารีสและทำสงคราม อากาเดมีเดโบซาร์ (Académie des Beaux–Arts) มีอิทธิพลต่อศิลปะของฝรั่งเศสในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ศิลปะในช่วงนั้นถือว่าเป็นออกไปทางอนุรักษนิยมซึ่งไม่ว่าจะคิดใหม่ทำใหม่อย่างไรก็ต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของสถาบัน จึงกล่าวได้ว่า สถาบันได้วางมาตรฐานให้กับการวาดภาพของฝรั่งเศส นอกจากจะกำหนดเนื้อหาของภาพวาดแล้ว (ยกย่องแนวศาสนาและประวัติศาสตร์รวมไปถึงภาพเหมือนของคน) สถาบันยังกำหนดเทคนิคที่ศิลปินต้องใช้ พวกเขายกย่องสีแบบทึบ ๆ ตามแบบเก่า ๆ ยิ่งสะท้อนภาพให้เหมือนกับความจริงเท่าไรยิ่งดี สถาบันยังสนับสนุนให้เหล่าจิตรกรลบร่องรอยการตระหวัดแปรง และที่สำคัญต้องแยกศิลปะออกจากบุคลิกภาพ อารมณ์ และเทคนิคการทำงานของตัวศิลปินเอง

"มื้อเที่ยงบนสนามหญ้า"

ในปี ค.ศ. 1863 คณะกรรมการได้ปฏิเสธผลงานที่ชื่อว่า "มื้อเที่ยงบนสนามหญ้า" (Le déjeuner sur l’herbe") โดยเอดัวร์ มาแน เพราะว่ามันแสดงภาพผู้หญิงเปลือยนั่งอยู่ข้าง ๆ ผู้ชายใส่เสื้อผ้าสองคนขณะที่ทั้งสามกำลังไปปิกนิกกัน ตามความเห็นของคณะกรรมการ ภาพเปลือยนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ในภาพวาดเชิงประวัติศาสตร์และเชิงสัญลักษณ์ แต่จะมาแสดงกันผ่านภาพธรรมดาดาด ๆ เช่นนี้ถือว่าต้องห้าม

เอดัวร์ มาแน (ไม่ใช่มอแน) อับอายยิ่งนักกับการที่พวกกรรมการปฏิเสธโดยใช้คำพูดแบบเจ็บแสบ ซึ่งทำให้บรรดาศิลปินฝรั่งเศสทั้งหลายเริ่มแสดงความไม่พอใจกันมาก ถึงแม้มาแนจะไม่ถือว่าตัวเองเป็นพวกลัทธิประทับใจ เขาก็เป็นคนเปิดอภิปรายในร้านกาแฟแกร์บัว (Guerbois) ที่ซึ่งกลุ่มศิลปินในลัทธิประทับใจมารวมตัวกันและมีอิทธิพลต่อการค้นหารูปแบบใหม่ของกลุ่มกลุ่มนั้น

ภายหลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ได้ทอดพระเนตรงานหลายชิ้นที่ถูกปฏิเสธ ก็ทรงออกกฎหมายว่าสาธารณชนมีสิทธิ์ในการตัดสินงานศิลปะด้วยตัวเอง และงานแสดงภาพที่ถูกปฏิเสธ (Salon des refusés) ก็ถูกจัดขึ้น แต่ถูกนักวิจารณ์ศิลปะโจมตีอย่างมากเป็นเวลาหลายปี และในปี ค.ศ. 1874 นั่นเอง บรรดาศิลปินในลัทธิประทับใจ (ถึงแม้จะไม่รู้จักว่าชื่ออะไรกันบ้าง) ก็ได้จัดงานแสดงภาพวาดของตัวเอง ภายหลังจากที่ไปร่วมงานแสดง นักวิจารณ์นามว่า หลุยส์ เลอรัว (นักแกะสลัก จิตรกร และนักเขียนบทละครที่มีชื่อเสียง) ได้เขียนบทวิจารณ์แบบเจ็บ ๆ แสบ ๆ ลงในหนังสือพิมพ์เลอชารีวารี โดยเน้นการโจมตีไปที่ภาพวาดโดยจิตรกรที่ไม่มีชื่อเสียงในขณะนั้น และตั้งชื่อบทความนั้นว่า "การแสดงภาพวาดของจิตรกรลัทธิประทับใจ" เลอรัวประกาศว่า ภาพวาดที่ชื่อว่า Impression, Sunrise ของมอแนนั้นอย่างมากสุดก็เป็นแค่ภาพร่างแบบลวก ๆ จะให้เรียกว่าเป็นผลงานที่สมบูรณ์แล้วก็อย่าหวังเลย

ถึงแม้คำว่าลัทธิประทับใจจะเป็นคำเสียดสีของนักเขียนท่านนี้ แต่พวกศิลปินกลับชื่นชอบมันและเห็นว่าเป็นคำเรียกแบบให้เกียรติกัน ถึงแม้รูปแบบและมาตรฐานของแต่ละคนจะแตกต่างแปรเปลี่ยนไปแต่สิ่งที่ร้อยรัดพวกเขาให้เป็นหนึ่งเดียวคือจิตวิญญาณแห่งความเป็นขบถและความเป็นตัวของตัวเองถึงแม้ในอดีต การวาดภาพจะถูกมองอยู่เสมอว่านำเสนอสิ่งต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์และทางศาสนาในลักษณะที่เป็นทางการ แต่ความจริงศิลปินหลายท่านก็วาดภาพถึงสิ่งที่สามารถพบเห็นในชีวิตประจำวัน จิตรกรชาวดัตช์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อย่างเช่นยัน สเตน มุ่งเน้นไปที่วัตถุธรรมดา แต่ว่างานของพวกเขาก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการจัดองค์ประกอบภาพแบบเก่า ๆ ในการจัดวางฉาก เมื่อศิลปะในลัทธิประทับใจเกิดขึ้น พวกศิลปินก็สนใจในการวาดภาพต่อสิ่งธรรมดาดาด ๆ และนิยมการเก็บภาพด้วยวิธีใหม่

ในช่วงนั้นภาพถ่ายก็กำลังเป็นที่นิยมและกล้องถ่ายรูปก็พกพาได้ง่ายขึ้น ส่วนภาพถ่ายก็ให้ความสมจริงขึ้นเรื่อย ๆ ภาพถ่ายก็เป็นแรงบันดาลใจให้พวกศิลปินในลัทธิประทับใจ บันทึกไม่ใช่เฉพาะแสงที่มาตกกระทบต่อภูมิประเทศเท่านั้นหากแต่เป็นชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ภาพถ่ายและภาพพิมพ์แบบญี่ปุ่น (Japonisme) ผสมผสานกันกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พวกศิลปินในลัทธิประทับใจ ค้นคิดวิธีแบบใหม่และใช้มุมมองของภาพที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว

ภาพวาดของแอดการ์ เดอกา ที่ชื่อว่า "ชั้นเรียนเต้นรำ" (La classe de danse) แสดงให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลทั้งสองด้าน หนึ่งในนั้นเป็นภาพนักเต้นรำกำลังจัดชุดของหล่อนและด้านล่างขวามือเป็นภาพของพื้นว่างเปล่า