การวิพากษ์ทุนนิยมของมาคส์ ของ ลัทธิมากซ์

บทความนี้เกี่ยวข้องกับ
เศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์
แนวคิด
เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิมาคส์
ภาพเขียนใน ค.ศ. 1911 สะท้อนการวิพากษ์ทุนนิยมของมาคส์ โดยแสดงให้เห็นว่าชนชั้นปกครองมีจำนวนน้อยทว่ากดขี่ขูดรีดชนชั้นล่างลงมาซึ่งมีจำนวนมากกว่า

อิทธิพลทางความคิดทั้ง 2 ส่วนแสดงให้เห็นใน ค.ศ. 1884 ผ่านหนังสือของมาคส์ชื่อ "เอกสารต้นฉบับทางเศรษฐศาสตร์ และปรัชญา (Economics and Philosophical Manuscript 1884)" ซึ่งมาคส์กล่าวถึงความทุกข์ทน 4 ชนิดของแรงงานต่างด้าว (four alienated labor suffocations) ที่เกิดขึ้นในยุคทุนนิยมอันได้แก่

  • ความทุกข์ทนจากผลิตผล (product) ที่ผู้ผลิตไม่ได้ใช้ผลผลิต
  • ความทุกข์ทนจากกระบวนการการผลิตที่ต้องทุกข์ทนทำงานหามรุ่งหามค่ำ (a torment productive activity)
  • ความทุกข์ทนจากสภาวะของการผลิตที่ไม่ได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ผลิต (humans produce blindly and not in accordance with their truly human powers)
  • ความทุกข์ทนจากการที่ต้องผลิตเพื่อแลกเปลี่ยนมากกว่าเพื่อความพึงพอใจของมนุษย์ (the relation of exchange replaces the satisfaction of mutual need)

ซึ่งถือว่าเป็นการวิพากษ์ระบบคิดของสังคมทุนนิยมที่คิดแต่เรื่องของ กำไร – ขาดทุน, ค่าเช่า, การแลกเปลี่ยน, ค่าจ้าง ฯลฯ จากทฤษฎีดังกล่าวมาคส์จึงมองว่าในสังคมทุนนิยมนั้นแรงงานจึงเป็นผู้ถูกขูดรีด (the exploited) มูลค่าส่วนเกิน (surplus value) จากวิธีแห่งการผลิต (means of production) ให้ทำงานเกินความจำเป็น ในความคิดของมาคส์กระบวนการดังกล่าวนี้จะสร้างความกดดันให้กับโครงสร้างทางสังคม ทำให้เกิดชนชั้น (class) และนำไปสู่การปฏิวัติสังคมในที่สุด มาคส์มองว่าความคิดเป็นผลผลิตที่สะท้อนโดยตรงของวัตถุ ความคิดและวัตถุจึงสัมพันธ์กัน มาคส์มองว่าประวัติศาสตร์คือการต่อสู้ระหว่างชนชั้น (classes) ซึ่งหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์คือ ค้นหากฎซึ่งคุมพฤติกรรมของสังคมมนุษย์ และกฎที่คุมพฤติกรรมในอนาคตด้วย สำหรับมุมมองของมาคส์ในเรื่องดังกล่าวจึงสามารสรุปคร่าว ๆ ได้ว่าคือ [2]

  • รากฐานของประวัติศาสตร์คือการต่อสู้ระหว่างชนชั้น
  • เศรษฐกิจเป็นรากฐานของปรากฏการณ์ในสังคม

มาคส์ได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือชื่อ "ว่าด้วยทุน (Das Kapital)" ว่า รูปแบบการผลิตทุนนิยมบังคับให้กรรมกร (Labour) จำเป็นต้องขายแรงงานของตนเองในราคาถูกแก่นายทุน ดังนั้นกำไรของนายทุน แท้จริงแล้วเกิดจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากค่าแรงของกรรมาชีพ เพื่อกำไร ชนชั้นนายทุนจึงต้องพัฒนาเครื่องมือและวิธีการการผลิตให้ก้าวหน้าขึ้นตลอดเวลา ต้องขยายตลาดสินค้า แหล่งวัตถุดิบและกิจการไปทั่วโลก การผลิตแบบทุนนิยมนี้ได้ทำให้เกิดความปั่นป่วนและวิกฤตทางเศรษฐกิจแบบวัฏจักร นั่นคือการผลิตล้นเกิน ท่ามกลางโลกที่อดอยากขาดแคลน เพื่อแก้ไขวิกฤตการผลิตล้นเกิน และรักษาราคาของผลผลิตให้สูงกว่าต้นทุน จึงต้องทำลายผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด พยายามขยายตลาดใหม่และใช้ตลาดเก่าให้เป็นประโยชน์ ซึ่งผลสุดท้ายก็จะนำไปสู่วิกฤตรอบด้านที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคมรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในที่สุด จากปรากฏการณ์ดังกล่าว มาคส์เห็นว่า สิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมทุนนิยมนั้นเป็นจริงเฉพาะกับผู้ที่มีทรัพย์สิน ไม่ใช่สำหรับกรรมาชีพและคนยากจน การที่มนุษย์ถูกทำให้ยอมรับว่ามีความรวยหรือความจนนั้นมาคส์เรียกว่าจิตสำนึกหลอกลวงและจอมปลอม (False Conciousness)

จิตสำนึกหลอกลวงและจอมปลอมกำหนดพฤติกรรมในสังคมมนุษย์ให้ถูกครอบงำโดยปัจจัยในการผลิต คือ ทุน, เครื่องมือ และที่ดิน ที่สำคัญคือ แรงงานเป็นตัวกำหนด และผลักดัน ซึ่งส่งผลให้เกิดชนชั้นทางสังคม มาคส์เรียกความคิดเหล่านี้ว่า "วัตถุนิยมประวัติศาสตร์" (historical materialism) โดยมีตรรกะดังนี้[3]

  • ทุกสิ่งเป็นไปตามกฎของวิภาษวิธีของเฮเกิล ดังนั้น
  • ทุกสิ่งย่อมมีการสูญสลาย และย่อมมีสิ่งเกิดใหม่ ประวัติศาสตร์ของสังคมเป็นวิวัฒนาการของการต่อสู้ทางชนชั้น
  • การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ ในเชิงปริมาณ ย่อมก่อให้เกิดคุณภาพ ในทางวัตถุ คือ สภาวะ ในทางสังคม คือการปฏิวัติ
  • ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกฎ 3 ข้อ ข้างต้น
  • มนุษย์ที่สมบูรณ์ (ในสังคมคอมมิวนิสต์) คือผู้ที่มีจิตสำนึกต่อสังคม เพราะได้รับการพัฒนา และวิวัฒนาการทางความคิด และวัตถุมาอย่างยาวนาน