กัมมันตจิตรกรรม ของ ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม

กัมมันตจิตรกรรมของพอลล็อก

ในปี ค.ศ. 1947 แจ็กสัน พอลล็อก ได้พัฒนาเทคนิคการวาดภาพขึ้นใหม่ที่เรียกว่า "กัมมันตจิตรกรรม" (action painting) โดยได้รับการช่วยเหลือจากลี แครสเนอร์ ภรรยาของเขา เทคนิคที่ว่านี้ใช้วิธีการหยดสีลงบนผืนผ้าใบที่วางอยู่บนพื้นหรืออาจใช้สีจากกระป๋องโดยตรง พอลล็อกสร้างงานอย่างเป็นตัวของตัวเองสูงและมีลักษณะด้นสด (improvise) วิธีหนึ่งของเขาที่มีชื่อเสียงมากคือ การเต้นรำไปรอบ ๆ ผืนผ้าใบแล้วหยดสีลงไป โดยการทำเช่นนี้เขาอ้างว่าเป็นการกระตุ้นสิ่งที่อยู่ภายในของเขา (inner) ลงไปสู่ผืนผ้าใบด้วยตรง ซึ่งเป็นรูปแบบของภาพวาดอัตโนมัติหรือจิตใต้สำนึก พอลล็อกได้ทำลายขนบของศิลปะอเมริกันลง เขามุ่งประเด็นทั้งหมดไปที่สิ่งที่เป็นนามธรรมด้วยงานที่มีสเกลขนาดใหญ่และการกลวิธีในการสร้างรูปลักษณ์ได้กลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

สำหรับลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมความจริงของภาพวาดนั้นตรงไปตรงมาและเป็นการแสดงออกอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการของศิลปินที่ถ่ายทอดแรงกระตุ้นภายในของเขาออกมา ภาพวาดกลายเป็นเหตุการณ์ (event) ละคร (drama) ของการเปิดเผยตัวเอง นี่เป็นแนวคิดของกัมมันตจิตรกรรม แม้ว่าวิลเลิม เดอ โกนิง จะอยู่ในกลุ่มเดียวกับพอลล็อก แต่งานของเขานั้นแตกต่างออกไป ทั้งในด้านเทคนิคและสุนทรียศาสตร์ ในงานชุด Women series of six paintings ช่วงปี ค.ศ. 1950-1953 เขาวาดภาพหญิงสาวมีมีความสูงขนาดสามในสี่ นี่เป็นงานที่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังสร้างงานในรูปแบบนามธรรมด้วย อย่างไรก็ตามเขามีความเชื่อที่แรงกล้าเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ภายในของศิลปินเช่นเดียวกับพอลล็อก และอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างนั้นก็สามารถถูกอ่านได้โดยผู้ชม

วิธีการและภาวะอัตโนมัติ

ศิลปินลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมที่อยู่ในกลุ่มกัมมันตจิตรกรรมมักอาศัยวิธีการที่เรียกว่า "ภาวะอัตโนมัติ" (automatism) ในการสร้างงาน ภาวะอัตโนมัติได้ปลดปล่อยจินตนาการของศิลปิน ทำให้เขาสามารถค้นหาสภาวะความเป็นสากลจักรวาลภายในตัวเขาซึ่งซ่อนอยู่ภายในจิตใต้สำนึกได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังทำให้ศิลปินสามารถแสดงออกได้ด้วยความกล้าเสี่ยงกล้าทดลองด้วยวิธีการที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ทำให้เกิดรูปทรงที่มีพลังเคลื่อนไหว ก่อให้เกิดการให้น้ำหนักต่อวิธีของการวาดภาพมากกว่าเดิม และที่สำคัญคือทำให้เกิดการค้นพบภาษาใหม่ในการแสดงออกที่เป็นต้นแบบไม่ซ้ำใคร

นักทฤษฎีศิลปะให้ความเห็นว่าวิธีการทำงานจิตรกรรมของพอลล็อกเป็นการขยายขอบเขตการเขียนอัตโนมัติของลัทธิเหนือจริง เขาควบคุมเหตุการณ์ (สถานการณ์) บนผ้าใบ แต่เห็นได้ชัดเจนว่าเขาไม่ได้ควบคุมลักษณะการเกิดรูปร่างใด ๆ บนผืนผ้าใบ ดังที่เขาได้กล่าวว่า เป็นการปล่อยให้พลังและการเคลื่อนไหวที่มองเห็นได้ (Energy and motion made visible) ทำงาน พอลล็อกมีความเชื่อว่าเขาวาดภาพออกมาจากจิตใต้สำนึก (painting out of the unconscious)

การปลดปล่อยจิตใต้สำนึกออกมาสำหรับศิลปินลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม ได้แก่ การเขียนภาพสด ๆ (improvisation) และการปาดป้ายอย่างฉับพลันทันที (spontaneous gesture) ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลบางประการจากลัทธิเหนือจริง ซึ่งศิลปินพยายามหาวิธีที่ความบังเอิญจะมีโอกาสเข้ามาแสดงบทบาทมากที่สุดในงานศิลปะ วิธีการหนึ่งที่เรียกว่า "ภาพทาบสี" (decalcomania) นั้น คล้ายกับการเล่นสนุกกับสีของเด็กนักเรียน โดยการนำเอากระดาษหรือผ้าใบที่ระบายสีไว้มาประกบกันแล้วดึงออกมา ก็จะได้พื้นผิวหน้าที่ไม่ได้คาดหวังมาก่อนเกิดขึ้น แม้เราจะสามารถคาดเดาผลได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป ซึ่งนับว่าการควบคุมของมนุษย์ก็ได้ถูกลดความสำคัญลงไปอย่างมาก เช่นเดียวกับพอลล็อกและฟรานซ์ ไคลน์ ที่ถือว่าความสดฉับพลันเป็นหัวใจสำคัญ แรงผลักดันอิสระจากจิตของมนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่จะปลดปล่อยพลังแห่งธรรมชาติ ความกลมกลืนที่แท้จริงเกิดจากการทำงานของพลังจากแรงผลักดันอิสระจากจิตของมนุษย์นั่นเอง