ลักษณะและข้อมูลทั่วไป ของ ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930-1940 ทั่วโลกประสบปัญหามากมาย ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ การเหยียดผิว การปกครองแบบเผด็จการ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความพินาศจากระเบิดปรมาณู ทำให้สังคมโลกและสังคมอเมริกันตั้งคำถามกับระบบคุณค่าแบบเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษยธรรม วิทยาศาสตร์ หรือในเรื่องของเหตุผล กระแสลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมจึงเกิดขึ้นในฐานะเป็นงานศิลปะที่แสดงออกถึงความเป็นขบถต่อระบบคุณค่าเดิม ๆ และตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านั้น

การที่จะให้คำจำกัดความของลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะการแบ่งประเภทของผลงานว่ามาจากลัทธิหรือกระแสใด เกิดขึ้นโดยการจัดการของนักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งต่างจากศิลปินที่ไม่ต้องการถูกกำหนดกรอบว่าผลงานของเขาจะต้องเป็นไปในแนวทางไหน ศิลปินที่ถูกเรียกว่าเป็นลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม แต่ละคนต่างก็ได้รับอิทธิพลและเทคนิคมาจากลัทธิก่อนหน้านี้แตกต่างกันไป เช่น เทคนิคการเขียนภาพของศิลปินในลัทธิเหนือจริงที่เรียกว่า "การเขียนภาพแบบกระแสสำนึก" (écriture automatique) ซึ่งหมายถึงการปล่อยให้ภาพวาดหรือตัวอักษรแล่นไหลไปตามกระแสสำนึกโดยไม่มีการตัดทอนหรือลบแก้ใด ๆ ทั้งสิ้น ก็นำไปสู่เทคนิคการหยดสีอย่างฉับพลันลงบนผ้าใบที่วางบนพื้นของแจ็กสัน พอลล็อก ซึ่งเป็นศิลปินลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมที่มีชื่อเสียงที่สุด ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมจึงถูกนำมาใช้กับผลงานที่มีลักษณะแตกต่างกันของศิลปินหลายคนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในนิวยอร์ก แม้แต่งานที่อาจไม่เป็นงานนามธรรมและไม่เป็นงานสำแดงพลังอารมณ์ ก็อาจถูกเรียกว่าลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมได้ด้วยเช่นกัน จึงอาจกล่าวโดยรวมว่าศิลปะลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมเป็นงานนามธรรมที่เสนอการแสดงออกทางความคิดเรื่องจิตวิญญาณ จิตใต้สำนึก และจิตใจ ซึ่งตั้งคำถามต่อระบบคุณค่าแบบเดิม ๆ สิ่งที่พอจะบ่งบอกว่าเป็นลักษณะของงานสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมมีเพียงความนิยมในการใช้ผืนผ้าใบขนาดใหญ่เขียนภาพ ซึ่งเป็นภาพนามธรรมที่มีการแสดงอารมณ์ออกมาอย่างรุนแรงเท่านั้น