อรรถาธิบาย ของ ลัทธิอำนาจนิยม

แนวคิดเรื่องระบอบอำนาจนิยมเป็นผลจากบริบททางการเมืองหลังทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ที่โลกได้แบ่งระบอบการปกครองต่างๆ ออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ตามอุดมการณ์ทางการเมือง คือ ระบอบประชาธิปไตย และระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยระบอบอำนาจนิยมถูกมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจนิยมได้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบครั้งแรกโดยฮวน เจ. ลินท์ (Juan J. Linz) ในปี ค.ศ. 1964 ลินท์ ระบุว่าระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมนั้นจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติพื้นฐาน 3 ประการอันได้แก่ 1) พหุนิยมแบบจำกัด 2) การมุ่งไปที่จิตใจมากกว่าอุดมการณ์ 3) ปราศจากการระดมสรรพกำลังทางการเมือง (political mobilization) เพื่อการสนับสนุนในระยะยาว (Badie, 2011: 108)[5]

ความเป็นพหุนิยมแบบจำกัดนั้นเป็นลักษณะประการหนึ่งที่ทำให้อำนาจนิยมอยู่กึ่งกลางระหว่างเผด็จการเบ็ดเสร็จ กับประชาธิปไตย เพราะในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้มีพหุนิยมแบบเต็มรูปแบบ และเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไม่เปิดโอกาสให้มีพหุนิยมขึ้นในสังคมเลยนั้น ระบอบอำนาจนิยมกลับเปิดโอกาสให้ความแตกต่างหลากหลายบางประการดำรงอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการยอมให้มีคู่แข่ง หรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง คือ พรรคการเมืองอื่นๆ หรือภาคประชาสังคมบ้าง แต่กระนั้นสิ่งเหล่านี้ก็มักจะต้องถูกจำกัด และดำเนินกิจกรรมอยู่ได้ก็โดยความยินยอมของผู้นำอำนาจนิยม ภายในขอบเขตที่ถูกกำหนดไว้ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วการยอมให้มีความแตกต่างในสังคมอยู่บ้างนี้ ก็มักจะเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้แก่การปกครองโดยคณะทหาร (military junta) หรือผู้นำที่กุมอำนาจอยู่เบื้องหลังนั่นเอง ซึ่งความก้ำกึ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ระบอบอำนาจนิยมไม่มีการจัดระบบโครงสร้าง และอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังอย่างเป็นระบบและชัดเจน อันเป็นที่มาของลักษณะสำคัญประการที่สองก็คือ การมุ่งควบคุมจิตใจมากกว่าอุดมการณ์ ซึ่งส่งผลให้ระบอบการปกครองนี้ไม่สามารถระดมสรรพกำลังทางการเมือง เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากวัยรุ่นหนุ่มสาว นักวิชาการ และนักศึกษาปัญญาชนในสังคมได้นั่นเอง (Linz, 2000: 159-261)[6]