ศิลปินคนสำคัญในกลุ่มเซอร์เรียลลิซึม ของ ลัทธิเหนือจริง

  • จอร์โจ เดอ คิริโก (Giorgio de Chirico) (พ.ศ. 2431-2521) จิตรกรชาวอิตาลีที่พวกเซอร์เรียลลิซึมชื่นชมและยกย่องผลงานของเขา ในช่วงแรกที่เสนอทัศนียภาพหรือบรรยากาศของความเร้นลับ เหงา เศร้า และมีวัตถุที่มีความหมายบ่งชี้นัยทางเพศแต่เมื่อคิริโกเปลี่ยนแนวทางการวาดภาพ พวกเซอร์เรียลลิซึมผิดหวังมาก ไม่ยอมรับให้เข้ากลุ่ม แต่กระนั้นเบรอตงก็ยกย่องนวนิยายของคิริโก เรื่อง Hebdomeros พ.ศ. 2472 ว่าสะท้อนถึงการผจญภัยทางจิตในลักษณะซับซ้อนเข้าใจยากแต่จริงใจ และเป็นต้นแบบของนวนิยายเรื่อง Nadja ของเบรอตง
  • เรอเน เครอแว็ล (René Crevel) (พ.ศ. 2443-2478) นักเขียน-กวีชาวฝรั่งเศส เป็นเซอร์เรียลลิซึมในยุคแรกซึ่งแยกตัวออกไปจากกลุ่มเพราะเบรอตงมองว่า “พฤติกรรมรักร่วมเพศ” ของเขาอาจบิดเบือนและทำลายเจตนาของกลุ่ม เครอแว็ลเข้าร่วมกับเซอร์เรียลลิซึมอีกครั้งในตอนที่เขาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส เขาเป็นคนหนึ่งที่หาทางไกล่เกลี่ยและพยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้เบรอตงและกลุ่มเซอร์เรียลลิซึมแสดงสุนทรพจน์ในที่ประชุม เมื่อไม่สำเร็จ เขาเสียใจมากประกอบกับความเจ็บป่วยจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการรมแก๊ส
ซัลบาดอร์ ดาลี
  • ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) (พ.ศ. 2447-2532) จิตรกรชาวฝรั่งเศส เข้าร่วมกลุ่มเซอร์เรียลลิซึมในปี พ.ศ. 2472 และกลายเป็นสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญในกลุ่ม ในช่วงพ.ศ. 2473 ดาลีกระตุ้นให้กลุ่มเน้นความสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยปรับให้เข้ากับแรงปรารถนาหรือจินตนาการของศิลปิน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างงานศิลปะกับชีวิตระหว่างผลงานกับพฤติกรรมผู้สร้าง ดาลีสนใจพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะแขนงจิตวิเคราะห์และชีววิทยา และได้นำมาประยุกต์ในภาพวาดของเขา เขาชอบเล่นกับ ความขัดแย้ง ทั้งในผลงานและในพฤติกรรมของตนเองเพื่อยั่วยุและเรียกร้องความสนใจ แต่การกระทำเช่นนี้บางครั้งก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่กลุ่มและเบรอตง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความชื่นชมต่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ในปี พ.ศ. 2477 ความไม่พอใจนี้ทวีขึ้นเรื่อย ๆ และถึงขั้นแตกหัก ในปี พ.ศ. 2483 เบรอตงไม่ยอมให้ดาลีอยู่ในกลุ่ม กล่าวหาว่าเขาแสวงหาความสำเร็จทางการค้ามากเกินไป ทั้งยังสร้างผลงานในระยะหลังที่ “เลียนแบบตัวเอง” เมื่อมีการแสดงนิทรรศการเซอร์เรียลิซึมนานาชาติที่นิวยอร์กในปี พ.ศ. 2485 เบรอตงไม่อนุญาตให้ดาลีนำผลงานของเขามาแสดงด้วยเพราะถือว่าเขาไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม
  • ฌูอัน มิโร (Joan Miró) (พ.ศ. 2436-2526) จิตรกรประติมากรชาวสเปน เขาสามารถเสนอความฝันความคิดซ้ำย้ำภายในตัวออกมาอย่างฉับพลัน และเป็นอัตโนมัติในภาพวาดสีน้ำมันของเขาได้ นอกจากนี้ยังสามารถก้าวข้ามเขตแดนของจิตรกรรม ด้วยการทำ Papiers Colles คอลลาจประติมากรรม วัตถุ ในระหว่างที่เกิดสงครามกลางเมืองสเปนและสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาวาดภาพสัตว์ประหลาดที่ก้าวร้าวน่ากลัว และภาพชุด “ผู้หญิง” ที่ถูกแปรสภาพ รวมทั้งภาพชุด “Las Constellations” ด้วย ภาพชุดหลังนี้กลุ่มสนับสนุนให้จัดแสดงที่นิวยอร์กในปี พ.ศ. 2485 และต่อมาเบรอตงเขียนบทกวีร้อยแก้ว โดยใช้ชื่อเดียวกัน ภาพจิตรกรรมและบทกวีชุดนี้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501
  • คาร์ล ยุง (Carl Jung) (พ.ศ. 2418-2504) จิตแพทย์ชาวสวิส พวกเซอเรียลส์ลิซึมเพิ่งมาสนใจแนวคิดของเขาเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในแง่การเทียบเคียงจิตวิเคราะห์กับการเล่นแร่แปรธาตุ แต่ไม่ชอบทฤษฏีของเขาเกี่ยวกับ “จิตไร้สำนึกร่วม” และวิธีการวิเคราะห์ที่เชื่อมโยงกับเรื่องศาสนา นอกจากนี้พวกเขายังขุ่นเคืองที่ยุงร่วมมือกับพวกนาซีเพื่อทำลายทฤษฏีของฟรอยด์ ในช่วงปี พ.ศ. 2479-2483
  • ฌ็อง อาร์ป (Jean Arp) (พ.ศ. 2430-2509) ประติมากร จิตรกร และกวีชาวฝรั่งเศส เป็นเพื่อนสนิทของแอร์นสท์ หลังจากเป็นสมาชิกกลุ่มดาดา ได้ส่งผลงานจิตรกรรมมาร่วมแสดงในนิทรรศการเซอร์เรียลลิซึมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2468 และเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเป็นประจำนับตั้งแต่ย้ายมาตั้งหลักแหล่งในฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2469 แต่มิได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม ในปี พ.ศ. 2474 เขาเริ่มทำงานประติมากรรมจริงจัง ทดลองทำ Pepies dechires และเริ่มเบนความสนใจไปในทาง abstraction โดยที่มิได้ตัดไมตรีกับเบรอตงและพวกเซอร์เรียลลิซึม สร้างศิลปะแอบสแตรคซึ่งมีผู้ที่ตั้งชื่อให้ว่า “art concret” โดยเน้นรูปทรงชีวภาพ นอกจากความสามารถทางทัศนศิลป์แล้ว อาร์พยังเขียนบทกวีได้ดีทั้งเป็นภาษาเยอรมันและฝรั่งเศส มีผู้เปรียบว่ากวีนิพนธ์ของเขาดูแปลก สนุกและมีลีลางดงามเปรียบได้กับ “ลวดลายดอกไม้ที่ประดับมงกุฎของเซอร์เรียลลิซึม”
  • หลุยส์ อารากง (Louis Aragon) (พ.ศ. 2430-2525) กวีชาวฝรั่งเศส เดิมเป็นนักศึกษาแพทย์แต่ใจฝักใฝ่ทางอักษรศาสตร์เช่นเดียวกับเบรอตง หลังสงครามได้พบกับเบรอตงและชูโปล์ท์ที่ก่อตั้งวารสาร Litterature (พ.ศ. 2462) ร่วมกับกลุ่มดาดาและต่อมาร่วมก่อตั้งกลุ่มเซอร์เรียลลิซึม พ.ศ. 2467 สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 และเริ่มบ่ายเบนแนวคิดและกิจกรรมวรรณศิลป์จากแนวเซอร์เรียลลิซึมในที่ประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์ ในเมือง Khakov และแยกตัวออกจากกลุ่มเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2478 ผลงานกวีนิพนธ์ที่สำคัญในช่วงที่เป็นสมาชิกกลุ่มเซอร์เรียลลิซึมได้แก่ Les Paysans de Paris พ.ศ. 2469 และผลงานวิจารณ์ศิลปะที่สำคัญในช่วงนี้ ได้แก่ La Peinture au defi พ.ศ. 2473 ซึ่งกล่าวถึงภาพคอลลาจและชี้ให้เห็นความแตกต่างของคอลลาจแบบคิวบิสต์และแบบเซอร์เรียลลิซึมตลอดจนความสำคัญของการสร้างสรรค์ anti-art เช่นในศิลปะสมัยใหม่
  • และอีกมากมาย[2]
La mysticité charnelle de René Crevel