การบุกและเข้าจับกุมของตำรวจ ของ ลิงซิลเวอร์สปริงส์

การบรรยายถึงลักษณะของห้องทดลองจากปาเชโก

ปาเชโกเขียนว่าเขาพบว่าเหล่าลิงต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่โสโครก เขาพบศพลิงทั้งที่ถูกแช่แข็งในตู้เย็น และที่ลอยอยู่ในฟอร์มาลดีไฮด์[2] เขาอ้างว่า ห้องผ่าตัดเต็มไปด้วยเอกสารกระจัดกระจายอยู่ ไม่เว้นแม้แต่ใต้โต๊ะผ่าตัด โดยบนพื้นถูกปกคลุมไปด้วยเสื้อผ่าเปื้อน ๆ รองเท้าเก่า ๆ  รวมไปถึงอุจจาระและปัสวะหนู แมลงสาบพบได้ทั้งในลิ้นชัก บนพื้น และรอบ ๆ อ่างล้างมือ เขากล่าวว่าลวดกรงถูกปกคลุมไปด้วยความสกปรกและสนิม พื้นกรงนั้นเต็มไปด้วยอุจจาระและปัสวะ ลิงทั้ง 17 ตัวมักหยิบเศษอาหารที่ตกไปยังถาดของเสียใต้กรง เขาอ้างว่ากรงไม่ได้รับการทำความสะอาดมาเป็นเวลาหลายเดือน แถมในกรงยังไม่มีจานอาหาร ทำให้อาหารต้องปนกับอุจจาระ เหล่าลิงได้แต่เพียงนั่งบนเส้นลวดของพื้นกรงโดยปราศจากที่รองนั่ง เขาเขียนว่าลิง 12 ตัวถูกตัดเส้นประสาทสัมผัส ในจำนวนนั้นมีนิ้ว 39 นิ้วซึ่งผิดรูปหรือหายไป เขาบรรยายว่าพวกมันมีอาการทางประสาท และมักโจมตีแขนหรือขาที่ถูกตัดเส้นประสาทราวกับว่ามันเป็นวัตถุแปลกปลอม[5]

การตรวจจับและบุกค้นอย่างไม่เป็นทางการ

ปาเชโกตัดสินใจบันทึกสภาพแวดล้อมในห้องทดลอง เขาบอกทับว่าเขาอยากทำงานตอนกลางคืน และถ่ายรูปสภาพความเป็นอยู่ของเหล่าลิง เขานำรูปไปเผยแพร่ต่อกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ในเดือนกรกฎาคม ในกลุ่มนั้น คลีฟแลนด์ อมอรี ได้ให้เงินเขาซื้อกล้องที่ดีกว่าเดิมและเครื่องรับส่งวิทยุพกพา เพื่อให้คนดูต้นทางด้านนอกสามารถติดต่อเขาได้หากมีคนมา ในเดือนสิงหาคมปาเชโกเริ่มเชิญชวนสัตวแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เข้ามาดูห้องทดลองเพื่อเป็นพยาน วอชิงตันโพสต์ รายงานว่านักวานรวิทยา กีซา เทเลกี จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน เขียนว่าเขาไม่เคยเห็นห้องทดลองที่ถูกละเลยขนาดนี้มาก่อน นักจิตวิทยา โดนัลด์ บาร์นส์ ซึ่งเคยเป็นนักวิจัยไพรเมต กล่าวว่ามันเป็น "สภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่และผิดหลักอนามัยสำหรับไพรเมต" และยังเป็นภัยต่อคน สัตวแพทย์ท้องถิ่น ริชาร์ด วิทซ์แมน เห็นด้วยว่าห้องทดลองอยู่ในสภาพสกปรกมาก ทว่าเขาบอกว่าเหล่าลิงดูจะได้รับอาหารเพียงพอและมี "สุขภาพค่อนข้างดี"[2]

ปาเชโกรายงานสถานการณ์ต่อตำรวจ นำไปสู่การบุกค้นห้องทดลองในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2524 ภายใต้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ของรัฐแมรี่แลนด์ ก่อนการบุกค้น พีตา (PETA) ได้นำข่าวไปบอกต่อสื่อ เป็นผลให้มีนักข่าวและช่างภาพหลายคนไปยังที่เกิดเหตุสร้างความไม่พอใจต่อตำรวจ ต่อมานายตำรวจให้การว่าเหล่าลิงได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพโสโครก ริชาร์ด สเวน ผ้นำการบุกค้นบอกกับ เดอะวอชิงตันโพสต์ ในพ.ศ. 2534 ว่า "มันโสโครกอย่างที่สุด สกปรกมาก ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน ผมได้เข้าบุกค้นมาหลายต่อหลายที่ ผมได้ทำงานเกี่ยวกับการฆาตกรรม สารเสพติด แต่ว่านี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกเป็นห่วงสุขภาพตนเองทันทีเมื่อก้าวเข้าไปในห้อง" ทับถูกแจ้ง 17 ข้อหาเกี่ยวกับการทารุรกรรมสัตว์และการเพิกเฉยต่อการรักษาสัตว์[2]

ตำรวจนำเหล่าลิงจากห้องทดลองไปยังห้องใต้ดินของบ้านหลังหนึ่งซึ่งมี ลอรี เคเนลี สมาชิกองค์การส่งเสริมการมีมนุษยธรรมท้องถิ่นเป็นเจ้าของ ปีเตอร์ คาร์ลสัน เขียนใน เดอะวอชิงตันโพสต์ ว่าพวกลิงได้รับของเล่น ถูกหวีด้วยแปลงสีฟันโดยนักเคลื่อนไหว ถูกดูแล 24 ชั่วโมงต่อวัน และยังได้รับอนุญาตให้ดูละครตอนบ่ายอีกด้วย ทนายความของทับไปยังศาลเพื่อขอเหล่าลิงคืน หลังจากนั้น 10 วัน ผู้พิพากษาได้ทำการอนุญาต ทว่าอยู่ ๆ เหล่าลิงก็หายไป เคเนลี เจ้าของบ้านนั้นไม่อยู่บ้านในขณะนั้น และบอกว่าเธอไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ริชาร์ด สเวน นายตำรวจผู้นำการบุกค้นได้จับกุมเคเนลีและขังเธอไว้ในคุกท้องถิ่นเป็นเวลาหนึ่งคืน ต่อมาพีตาได้รับข่าวว่าหากไม่มีเหล่าลิงเป็นหลักฐานก็จะไม่สามารถจับกุมทับได้ หลังจากนั้น 5 วัน อยู่ ๆ เหล่าลิงก็กลับมา จากนั้นไม่นานทับก็ได้รับเหล่าลิงคืน[2]

การตอบโต้ของทับ

ทับกล่าวว่าเขาถูกจัดฉาก เขาบอกว่าห้องทดลองของเขาได้รับการทำความสะอาดก่อนที่เขาจะพักร้อน ทว่าปาเชโกกลับไม่ยอมทำความสะอาดกรง ไม่ยอมดูแลเหล่าสัตว์ จึงทำให้เกิดการรายงานผิด ๆ เกี่ยวกับการทารุณกรรม ระหว่างที่ทับพักร้อนในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นเวลาสองอาทิตย์ มี 7 วันที่เหล่าสัตว์ควรได้รับอาหาร และที่กรงควรได้รับการทำความสะอาด ทว่าผู้ดูแลทั้งสองคนกลับไม่ได้มาทำงาน ทับประมาณความเป็นไปได้ของการขาดงานถึงเจ็ดครั้งภายในระยะเวลา 2 อาทิตย์ครึ่งของพนักงาน ว่ามีโอกาสเพียง 7 ในล้านล้านเท่านั้น หากคำนวนจากบันทึกการมาทำงาน สามในเจ็ดวันนั้น ปาเชโกได้พาคนเข้าไปดูเหล่าลิง[14] จอห์น คันซ์ นักศึกษาบัณฑิตศึกษาซึ่งเป็นผู้ช่วยวิจัยของทับกล่าวว่า ผู้ดูแลเพียงแค่ใช้โอกาสที่ทับไม่อยู่ในการหยุดงานเท่านั้น[2]

ระหว่างการตัดสินของทับและคันซ์ในศาลเมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน พ.ศ. 2524 ทับกล่าวต่อหน้าศาลว่าเหล่าลิงได้รับการดูแลที่ "อ่อนโยน" และมี "บันทึกสุขภาพที่ดีเยี่ยม" เขาอ้างว่าพวกมันไม่ได้รับการดูแลจากสัตวแพทย์เลยตลอดเวลาสองปีเพราะว่าเขาเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาลิงที่ถูกตัดเส้นประสาท เพื่อตอบโต้รูปถ่ายของลิงที่มีแผลเปิดและผ้าพันแผลที่กำลังย่อยสลายบนแผล เขาบอกว่าการใช้ขี้ผึ้งทาแผลและผ้าพันแผลเป็นอันตรายต่อลิงมากกว่าการไม่รักษา เนื่องจากลิงไม่มีความรู้สึกเจ็บบนแขนหรือขาที่ถูกตัดเส้นประสาทและมักเรียนรู้ที่จะเพิกเฉย เขากล่าวต่ออีกว่าการทาแผลด้วยขี้ผึ้งหรือปิดด้วยผ้าพันแผลเป็นการเรียกร้องความสนใจส่งผลให้เหล่าสัตว์มักกัดหรือเกาแผล ผ้าพันแผลอาจเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อแผลนั้นรุกรามหรือติดเชื้อ และบางทีการปล่อยให้ผ้าพันแผลย่อยสลายไปเองก็ดีกว่าการนำออก ทับยังให้การอีกว่ารูปบางรูปของปาเชโกได้ถูกจัดฉากให้เกินจริง[15] ใน พ.ศ. 2540 นอร์แมน ดอยดจ์ เขียนว่าทับกล่าวว่าเหล่าลิงในรูปนั้นถูกจัดให้อยู่ในท่าที่ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนการทดลอง[16] ซึ่งขัดต่อการให้การของปาเชโก ส่วนเรื่องของความสกปรกนั้น ทับกล่าวว่า "ห้องลิงนั้นเป็นล้วนแต่เป็นที่สกปรก" และยังกล่าวว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาในห้องทดลอง ที่อุจจาระจะอยู่บนพื้นและที่อาหารจะหล่นไปสู่ถาดรองของเสียใต้กรง เขากล่าวว่าลูกจ้างได้ใช้ไม้กวาดและไม้ถูพื้นเพื่อทำความสะอาดและนำของเสียบนถาดรองไปทิ้งแทบทุกวัน เขาอ้างว่าเหล่าลิงได้รับผลไม้สดสองครั้งต่อสัปดาห์ และเขาไม่เห็นด้วยกับสัตวแพทย์ที่บอกว่าลิงเพศเมียนั้นมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์[15]

การสืบสวนโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ

สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐ) (NIH) ซึ่งได้ให้เงินสนับสนุนงานวิจัยของทับ ได้ระงับเงินทุนอุดหนุนการวิจัยจำนวน 115,000 เหรียญสหรัฐของเขา[15] สถาบันได้ริเริ่มการสืบสวนด้วยตัวเอง และส่งสำนักงานการป้องกันความเสี่ยงงานวิจัย (Office for the Protection from Research Risks - OPRR) เพื่อไปประเมินห้องทดลองของทับ โดย OPRR พบว่าการดูแลสัตว์ของห้องทดลองไม่ผ่านเกณฑ์ และสรุปว่าห้องทดลองไม่ถูกสุขอนามัยอย่างมาก การสืบสวนโดย OPRR ทำให้ NIH ได้ตัดสินใจถอนเงินสนับสนุนที่เหลือสำหรับการทดลอง จำนวนกว่า 200,000 เหรียญสหรัฐ เพราะมีการละเมิดข้อบังคับในการดูแลสัตว์[17] วิลเลียม รับ และ โจ ฮีลด์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จาก NIH เขียนในจดหมายข่าว ประสาทวิทยาศาสตร์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2526 ว่าลิงซึ่งถูกตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2524 และเคยผ่านการผ่าตัดแบบเดียวกันมาก่อน ไม่ได้มีแผลอย่างลิงทั้งห้าตัวในห้องทดลองของทับ "บนฐานของข้อสังเกตเหล่านี้" พวกเขาเขียนว่า "ดูเหมือนว่ากระดูกที่หัก บาดแผลที่ฉีกขาด บาดแผลที่ถูกเจาะ การช้ำ และรอยขีดข่วน รวมไปถึงการติดเชื้อ อาการอักเสบทั้งแบบฉับพลันและแบบเรื้อรัง และการตายเฉพาะส่วน นั้นไม่ใช่ผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการตัดเส้นประสาทรับความรู้สึก"[10] หลังการอุทธรณ์ เมื่อพ.ศ. 2550 ดอยดจ์เขียนว่า สมาคมผู้เชี่ยวชาญจำนวน 67 สมาคมได้แสดงตัวในนามของทับ และ NIH ได้กลับผลตัดสินที่จะไม่สนับสนุนงานวิจัยของเขา[18]

ใกล้เคียง

ลิงซิลเวอร์สปริงส์ ลิงคินพาร์ก ลิงซ์สเปน ลิงซ์ยูเรเชีย ลิงซ์แอร์ ลิงซ์แคนาดา ลิงคินพาร์กอันเดอร์กราวด์ 9: เดโมส์ ลิงคินพาร์กอันเดอร์กราวด์ XIV ลิงคินพาร์กอันเดอร์กราวด์ XIII ลิงคินพาร์กอันเดอร์กราวด์ 4.0

แหล่งที่มา

WikiPedia: ลิงซิลเวอร์สปริงส์ http://www.animal-rights-library.com/texts-m/pache... http://www.curledup.com/mindbrai.htm http://www.brown.edu/Research/Primate/lpn27-3.html http://hubel.med.harvard.edu/papers/Arewewillingto... http://dels.nas.edu/ilar_n/ilarjournal/40_1/40_1Ro... http://www.psy.uab.edu/taub.htm //dx.doi.org/10.1146%2Fannurev.ne.14.030191.000245 http://www.strokeassociation.org/presenter.jhtml?i... https://books.google.com/books?id=Iheg3hkj99AC&pg=... https://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9B...