ภูมิหลัง ของ ลิงซิลเวอร์สปริงส์

เอ็ดเวิร์ด ทับ

เอ็ดเวิร์ด ทับ (เกิดเมื่อ พ.ศ. 2474) เป็นนักประสาทวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรมซึ่งขณะนี้ทำงานอยู่ที่ มหาวิทยาลัยของอลาบาม่า ณ เบอร์มิงแฮม (University of Alabama at Birmingham) เขาเริ่มสนใจด้านพฤติกรรมนิยมขณะศึกษาวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้ศึกษาต่อภายใต้ความดูแลของจิตวิทยาการทดลอง เฟรด เคลเลอร์ และ วิลเลี่ยม เอ็น ชอเอ็นเฟลด์ เขารับทำงานในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยในห้องปฏิบัติการด้านประสาทวิทยา เพื่อจะเข้าใจระบบประสาทมากยิ่งขึ้น และได้มีส่วนร่วมในการทดลองการตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกในลิง

เส้นประสาทรับความรู้สึก (afferent nerve) คือ เส้นประสาทซึ่งส่งกระแสประสาทจากผิวหนังและอวัยวะรับสัมผัสอื่น ๆ ไปยังไขสันหลังและสมอง การตัดเส้นประสาทรับความรู้สึก (Deafferentation) เป็นการผ่าตัดโดยการเปิดไขสันหลังออกเพื่อตัดเส้นประสาทรับความรู้สึก ทำให้กระแสประสาทส่งไปไม่ถึงสมอง ลิงที่ถูกตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกของแขนหรือขา จะไม่สามารถรับรู้หรือสัมผัสได้ว่าแขนหรือขาของตนอยู่ในตำแหน่งไหน  ทับได้พูดต่อศาลในการพิจารณาคดีเมื่อ พ.ศ. 2524 ว่าเป็นอันยากที่จะดูแลเหล่าลิงซึ่งถูกตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกเนื่องจากพวกมันเห็นแขนหรือขาที่ถูกตัดเส้นประสาทเป็นดั่งวัตถุแปลกปลอม และมักพยายามกัดมันออก[10] ทับยังคงทำงานกับเหล่าลิงที่ถูกตัดเส้นประสาทที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์จนจบปริญญาเอก เมื่อพ.ศ. 2513[2] เขาได้ทำการทดลองหลายอย่างเกี่ยวกับการตัดเส้นประสาทด้วยความเชื่อว่ามันเป็นการวิจัยบริสุทธิ์ เขาตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกของลิงทั้งตัว เพื่อให้พวกมันไม่สามารถรู้สึกถึงทุกส่วนของร่างกาย โดยการนำตัวอ่อนของลิงออกมาจากมดลูก ก่อนจะตัดเส้นประสาท และใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปยังมดลูก เพื่อให้ลิงเกิดมาโดยไม่รู้สึกถึงร่างกายตนเอง

เมื่อสมัยทับเริ่มงานวิจัยของเขาในห้องทดลองประสาทวิทยา ผู้คนเชื่อว่าลิงจะไม่สามารถใช้แขนหรือขาที่พวกมันไม่มีความรู้สึกได้ นอร์แมน ดอยดจ์เขียนว่า ทับสงสัยว่าที่ลิงไม่ใช่แขนหรือขาที่ไร้ความรู้สึกนั้นเป็นเพียงเพราะพวกมันยังสามารถใช้แขนที่ยังใช้การได้หรือเปล่า เขาทดสอบความคิดของเขาด้วยการตัดเส้นประสาทของแขนข้างหนึ่งและมัดแขนอีกข้างไว้ด้วยผ้าคล้องแขน เขาพบว่าลิงใช้แขนที่ไร้ความรู้สึกเพื่อกินอาหารและขยับตัวไปรอบ ๆ  ต่อมาด้วยความคิดที่ว่าหากลิงไม่ยอมใช้แขนที่ไร้ความรู้สึกเพียงเพราะว่ามันสามารถใช้แขนอีกข้างได้ ดังนั้นการทำให้แขนทั้งสองข้างของลิงไม่มีความรู้สึกจึงเป็นการบังคับให้พวกมันใช้แขนที่ไม่มีความรู้สึกนั้น โดยผลการทดลองของเขาก็ได้สนับสนุนความคิดนี้ ดอยดจ์เขียนว่าทับได้จุดประกายความคิดใหม่ โดยการเดาว่า เหล่าลิงไม่ใช้แขนหรือขาที่ไม่มีความรู้สึกเพียงเพราะพวกมันเรียนรู้ที่จะไม่ใช้ เป็นความคิดที่เขาเรียกว่า "การไม่ใช้จากการเรียนรู้ (learned non-use)"[11]

อเล็กซ์ ปาเชโก

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2524 อเล็กซ์ ปาเชโก (เกิดเมื่อ พ.ศ. 2501) ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาบัณฑิตศึกษา ณ มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ได้อาสาเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในห้องปฏิบัติการของทับ เดอะวอชิงตันโพสต์ เขียนว่าเขาเติบโตมาในประเทศเม็กซิโก เป็นบุตรของแพทย์ และอยากจะเป็นนักบวช เขากล่าวว่าการที่เขาได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงฆ่าสัตว์ในช่วงยุค 70 นั้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง เขาอ่านหนังสือ การปลดปล่อยสัตว์ (Animal Liberation) ซึ่งเขียนโดย ปีเตอร์ ซิงเกอร์ (พ.ศ. 2524) เลิกกินเนื้อสัตว์ และผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ เขาทำงานบนเรือต่อต้านการล่าวาฬ ทำงานที่ Sea Shepherd Conservation Society และเข้าร่วม Hunt Saboteurs Association ในประเทศอังกฤษ เมื่อเขากลับไปที่สหรัฐเพื่อเรียนรัฐศาสตร์ ณ จอร์จวอชิงตัน เขาร่วมทีมกับ อินกริด นิวคิร์ก ในการก่อตั้งกลุ่มพีตา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 ด้วยความที่เขาอยากมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องทดลองการวิจัยสัตว์เขาได้ไล่ดูรายชื่อของห้องทดลองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและได้เลือกสมัครตำแหน่งในห้องทดลองที่ใกล้บ้านเขาที่สุด[2] ทับเสนอตำแหน่งที่ไม่มีค่าตอบแทนให้กับอเล็กซ์ และให้เขาทำงานร่วมกับ Georgette Yakalis[5]

เหล่าลิง

ในสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ทับได้ทำการทดลองการตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกกับลิงแสม  (Macaca fascicularis) เพศผู้จำนวน 16 ตัว และลิงวอก (Macaca mulatta) เพศเมียหนึ่งตัว แต่ละตัวมีความสูงประมาณ 35 ซม โดยทุกตัวเกิดในธรรมชาติ ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ลิงแต่ละตัวถูกขังเดี่ยวในกรงเหล็กขนาด 45 x 45 ซม โดยปราศจากที่นอน ชามอาหาร หรือสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ในสภาพแวดล้อม พวกมันอยู่ในห้องขนาด 1.4 ตารางเมตร[12] ปาเชโกอ้างว่าลิง 12 จาก 17 ตัวถูกตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกจากแขนข้างใดข้างนึงหรือทั้งสองข้าง ขัดกับ จดหมายข่าวไพรเมตห้องทดลอง ซึ่งกล่าวว่ามีเพียง 10 ตัวเท่านั้นที่ถูกตัด โดยที่ลิงอีก 7 ตัว อยู่ในกลุ่มควบคุม[13]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: ลิงซิลเวอร์สปริงส์ http://www.animal-rights-library.com/texts-m/pache... http://www.curledup.com/mindbrai.htm http://www.brown.edu/Research/Primate/lpn27-3.html http://hubel.med.harvard.edu/papers/Arewewillingto... http://dels.nas.edu/ilar_n/ilarjournal/40_1/40_1Ro... http://www.psy.uab.edu/taub.htm //dx.doi.org/10.1146%2Fannurev.ne.14.030191.000245 http://www.strokeassociation.org/presenter.jhtml?i... https://books.google.com/books?id=Iheg3hkj99AC&pg=... https://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9B...