ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ของ ลูปังฮีนีรัง

เพลงลูปังฮีนีรังเริ่มต้นขึ้นจากทำนองเพลงมาร์ชซึ่งประธานาธิบดีเอมีลีโอ อากีนัลโด ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาขึ้นเพื่อใช้ในพิธีการประกาศเอกราชจากสเปน ภารกิจการสรรหาเพลงดังกล่าวนี้ได้มอบหมายให้จูเลียน เฟลีเป (Julián Felipe) เป็นผู้ดำเนินการ และได้มีการนำไปใช้แทนเพลงมาร์ชซึ่งอากีนัลโดไม่สามารถหาทำนองอันเป็นที่พอใจได้ ชื่อของเพลงมาร์ชใหม่ที่เฟลิเปประพันธ์ขึ้นนี้มีชื่อว่า “มาร์ชาฟีลีปีนามักดาโล” (สเปน: Marcha Filipina Magdalo "มาร์ชกลุ่มมักดาโลฟิลิปปินส์") ทั้งนี้ คำว่า "มักดาโล" เป็นชื่อกลุ่มการเมืองของเอมีลีโอ อากีนัลโด ซึ่งเคลื่อนไหวภายใต้การนำของขบวนการกาตีปูนันในพื้นที่จังหวัดคาวิเต้ ถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญยิ่งกลุ่มหนึ่งในกระบวนการก่อตั้งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเพลงนี้เป็น “มาร์ชานาเซียวนัลฟีลีปีนา” (สเปน: Marcha Nacional Filipina "มาร์ชประจำชาติฟิลิปปินส์") ตามการประกาศรับรองเพลงชาติอย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ 1 ในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1898 อันเป็นเวลา 1 วันก่อนจะทำพิธีการประกาศเอกราชของฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ และได้บรรเลงครั้งแรกโดยวงโยธวาทิตซาน ฟรันซิสโก เด มาลาบอง ในพิธีประกาศเอกราช เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ปีเดียวกัน

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1899 โฆเซ ปาลมา ได้นิพนธ์บทกวี “ฟีลีปีนัส” (สเปน: "Filipinas") เป็นภาษาสเปน และได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ “ลา อินดีเพนเดนเซีย” ("La Independencia") เมื่อวันที่ 3 กันยายน ปีเดียวกัน บทกวีดังกล่าวได้ใช้เป็นบทร้องสำหรับทำนองเพลงชาติในเวลาต่อมา[4][5]

กฎหมายของฟิลิปปินส์ระบุไว้ว่าบทเพลงชาติต้องบรรเลงตามทำนองเพลงที่ประพันธ์และเรียบเรียงโดยจูเลียน เฟลีเปเสมอ แต่ต้นฉบับของทำนองเพลงที่เฟลีเปได้เรียบเรียงไว้นั้นหาได้มีการค้นพบไม่[6][7] ต่อมาในคริสต์ทศวรรษที่ 1920 จังหวะดนตรีของเพลงลูปังฮีนีรังได้เปลี่ยนเป็น 4/4 เพื่อให้เหมาะสมกับการขับร้อง และบันไดเสียงเพลงได้เปลี่ยนจากบันไดเสียง C major ในต้นฉบับ เป็น G majorแทน[7]

ระหว่างช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1920 เมื่อมีการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยธงชาติของฟิลิปปินส์ ซึ่งห้ามการใช้สัญลักษณ์แห่งชาติของชาวฟิลิปปินส์ทั้งหมด รัฐบาลอาณานิคมของสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจดำเนินการแปลเพลงชาติฟิลิปปินส์จากภาษาสเปนออกเป็นภาษาอังกฤษ บทแปลฉบับแรกที่ดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นผลงานของปาซ มาร์เกซ เบนิเตซ (Paz Marquez Benitez) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นกวีที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ทว่าบทแปลที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากที่สุดนั้น คือบทประพันธ์อันมีชื่อว่า “ฟิลิปปินฮีม” (อังกฤษ: Philippine Hymn "เพลงสรรเสริญฟิลิปปิน") อันเป็นผลงานร่วมของวุฒิสมาชิกชาวฟิลิปปินส์ กามีโล โอเซียส (Camilo Osías) และแมรี เอ. เลน (Mary A. Lane) สตรีชาวอเมริกัน บทแปลดังกล่าวเป็นที่รับรองด้วยรัฐบัญญัติซึ่งตราโดยรัฐสภาฟิลิปปินส์เมื่อ ค.ศ. 1938

สำหรับบทแปลภาคภาษาตากาล็อก ได้เริ่มปรากฏขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1940 จากผลงานแปลฉบับแรกอันมีชื่อว่า “ดิวา นัง บายัน” (ตากาล็อก: Diwa ng Bayan "จิตวิญญาณแห่งประเทศ") ซึ่งใช้ขับร้องในช่วงแห่งการยึดครองฟิลิปปินส์ของญี่ปุ่น ตามติดด้วยบทร้องซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดอันมีชื่อว่า “โอ ซินตัง ลูปา” (ตากาล็อก: O Sintang Lupa “โอ้แผ่นดินที่รัก”) ซึ่งเป็นผลงานของ จูเลียน ครูซ บัลมาเกดา (Julian Cruz Balmaceda), อิลเดฟองโซ ซันโตส (Ildefonso Santos) และฟรันซิโก กาบาโย (Francisco Caballo) บทร้อง “โอ ซินตัง ลูปา” ภายหลังได้รับรองเป็นบทร้องสำหรับเพลงชาติเมื่อ ค.ศ. 1948 ทั้งนี้ นอกเหนือจากการรับรองบทร้อง “ดิวา นัง บายัน” เพื่อใช้เป็นเพลงชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาเพลงนี้ถูกแทนที่ด้วยบทเพลง “อาวิท ซา ปากลีคา นัง บากง ฟิลิปินัส” (ตากาล็อก: Awit sa Paglikha ng Bagong Pilipinas "เพลงสรรเสริญแห่งการกำเนิดฟิลิปปินส์ใหม่") และ เพลงชาติญี่ปุ่น “คิมิงะโยะ[8]

ระหว่างสมัยแห่งการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซนั้น เกรกอรีโอ เอร์นันเดซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวนบทร้องฉบับภาษาตากาล็อก บทเพลงชาติอันมีชื่อว่า “ลูปังฮีนีรัง” ก็ได้ปรากฏบทร้องฉบับภาษาฟิลิปิโนในที่สุด เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1956 มีการปรับแก้บทร้องอีกเล็กน้อยในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 จนปรากฏเป็นบทร้องเพลงชาติฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลงานการแปลของ เฟลิเป ปาดียา เด เลออน (Felipe Padilla de León) บทร้องฉบับภาษาฟิลิปีโนนี้ได้รับการยืนยันสถานะอย่างเป็นทางการด้วยรัฐบัญญัติแห่งสาธารณรัฐ เลขที่ 8491 หรือกฎหมายว่าด้วยธงชาติและสัญลักษณ์ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งบัญญัติขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1998 ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวหาได้รับรองบทร้องต้นฉบับภาษาสเปนและฉบับภาษาอังกฤษไว้ไม่[6]

แอมเบธ โอแคมโป (Ambeth Ocampo) นักประวัติศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าความหมายดั้งเดิมบางส่วนของบทกวี “ฟีลีปีนัส” ได้ตกหล่นไปจากการแปลข้ามภาษา ยกตัวอย่างเช่น ในวรรค “Hija del sol de oriente” จากต้นฉบับภาษาสเปนมีความหมายตามตัวว่า “บุตรีแห่งดวงตะวันบูรพา” วรรคดังกล่าวได้กลายเป็น "Child of the sun returning" ("ลูกแห่งตะวันที่หวนคืนมา" หรือ "ลูกแห่งพระอาทิตย์ขึ้น" โดยนัยย่อมแปลว่า "ลูกแห่งทิศตะวันออก") ในเพลง “ฟิลิปปินฮีม” และ “Perlas ng Silanganan” (“ไข่มุกแดนบูรพา”) ในบทร้องฉบับทางการในปัจจุบัน[9]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ลูปังฮีนีรัง http://books.google.com/?id=72VwCFtYHCgC http://books.google.com/?id=DGQMKex16AsC&pg=PA269&... http://books.google.com/?id=ffGdShrIrQAC http://books.google.com/?id=vQPpEa02N5kC&pg=PA10&d... http://books.google.com/books?id=72VwCFtYHCgC&pg=P... http://books.google.com/books?id=ffGdShrIrQAC&pg=P... http://news.inq7.net/opinion/index.php?index=2&sto... http://web.archive.org/web/20050526123412/http://n... http://babel.hathitrust.org/cgi/pt?seq=5&view=imag... http://www.msc.edu.ph/centennial/