การดำเนินชีวิต ของ วัฒนธรรมกัมพูชา

การเกิดและการตาย

การเกิดของเด็กเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจในครอบครัว การเกิดถือว่าเป็นอันตรายทั้งต่อแม่และเด็ก สตรีที่ตายเพราะการคลอดบุตรจะเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของปีศาจ ดังนั้น หญิงที่ตั้งครรภ์จึงมีข้อห้ามต่างๆมากมาย ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้ยังนิยมอยู่ในชนบท แต่น้อยลงแล้วในเขตเมือง[2]

ในมุมมองของชาวกัมพูชา การตายคือการสิ้นสุดของชีวิตหนึ่งและเป็นการเริ่มต้นของอีกชีวิตหนึ่ง ชาวพุทธในกัมพูชานิยมเผาศพและนำเถ้ามาเก็บในสถูปเจดีย์ในวัด

วัยเด็กและวัยรุ่น

เด็กหญิงชาวกัมพูชา

เด็กในกัมพูชาจะได้รับการเลี้ยงดูจนกว่าจะอายุประมาณ 2-4 ปี หลังจากนั้น เด็กจะมีอิสระมากขึ้น เด็กอายุ 5 ขวบจะสามารถช่วยดูแลน้องๆได้ เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มไปโรงเรียนเมื่ออายุ 7-8 ปี เมื่ออายุ 10 ขวบ เด็กหญิงจะเริ่มช่วยงานบ้านได้ ส่วนเด็กผู้ชายต้องช่วยงานในไร่นาภายใต้การควบคุมของผู้ใหญ่ วัยรุ่นมักจะจับกลุ่มในเพศเดียวกัน เด็กผู้ชายบางคนบวชเป็นสามเณร[2] ในยุคก่อนคอมมิวนิสต์ พ่อแม่มีอำนาจปกครองจนกว่าบุตรจะแต่งงาน การติดต่อระหว่างกลุ่มชนต่างอายุกัน จะต้องเลือกใช้คำพูดให้เหมาะสม

การแต่งงานและการหย่าร้าง

ดูบทความหลักที่: การแต่งงานแบบกัมพูชา
เจ้าบ่าวสวมชุดครุยและถือดาบ ส่วนเจ้าสาวสวมชุดสไบในงานแต่งงานแบบกัมพูชา

การเลือกคู่ครองเป็นเรื่องที่ซับซ้อนโดยจะต้องดูภูมิหลังทางสังคมประกอบด้วย พ่อแม่มีส่วนในการพิจารณาแต่ก็อาจจะคัดค้านได้ ผู้ชายจะแต่งงานในช่วงอายุ 19 – 25 ปี ส่วนผู้หญิงในช่วงอายุ 16 – 22 ปี การแต่งงานตามประเพณีใช้เวลาถึง 3 วันแต่หลังจาก พ.ศ. 2523 ใช้เวลาเพียงวันครึ่ง มีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในวันแต่งงาน ในชนบทจะมีการสวมด้ายมงคลและเวียนเทียน หลังแต่งงาน คู่สมรสจะไปอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายหญิงประมาณ 1 ปี หลังจากนั้น จะสร้างบ้านใหม่ใกล้ๆกัน[2]

การหย่าร้างนั้นถูกกฎหมาย เกิดขึ้นได้ง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องปกติ[2] ผู้ที่หย่าร้างแล้วสามารถแต่งงานใหม่ได้ แต่หญิงจะรอไว้ 10 เดือน เด็กมักจะอยู่กับมารดา

ประเพณี

ซัมเปี๊ยะห์ (การทักทายแบบกัมพูชา)

ในวัฒนธรรมเขมรถือว่าศีรษะเป็นของสูง การสัมผัสศีรษะหรือหันเท้าไปทางศีรษะจึงไม่สุภาพ การทักทายจะใช้ “ซัมเปี๊ยะห์”ที่คล้ายการไหว้ของไทย การสบตากับผู้สูงอายุถือว่าไม่สุภาพ