ศิลปะและวรรณคดี ของ วัฒนธรรมกัมพูชา

ทัศนศิลป์

ประวัติของทัศนศิลป์ในกัมพูชาย้อนหลังไปถึงยุคของนครวัดที่นิยมจารึกลงบนศิลา และได้รับศิลปะแบบตะวันตกเข้าสู่ประเทศด้วย แต่ศิลปะพื้นบ้านและศิลปะสมัยใหม่ตกต่ำลงในสมัยเขมรแดงที่มีการสังหารศิลปินและการทำลายศิลปะ ศิลปินที่รอดชีวิตได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล องค์กรเอกชนและต่างประเทศมากขึ้น

ดนตรี

ในช่วง พ.ศ. 2503 – 2513 สิน สีสมุทและรส ศรีสุทธาเป็นนักร้องที่โด่งดังในประเทศ หลังจากที่ทั้งสองคนเสียชีวิตได้มีนักร้องรุ่นใหม่เกิดขึ้นและกัมพูชาได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น

ดนตรีคลาสสิกของกัมพูชาเช่นพิณเพียต นิยมบรรเลงในงานเทศกาลต่างๆ และประกอบการแสดงระบำ เครื่องดนตรีประกอบด้วยโรเนียตเอกหรือระนาดเอก โรเนียตทุงหรือระนาดทุ้ม กองวงตวจหรือฆ้องวงเล็กและกองวงทมหรือฆ้องวงใหญ่ กลองสัมโพ กลองสกอร์ทมและสราไลหรือปี่

นาฏศิลป์

ดูบทความหลักที่: นาฏศิลป์ในประเทศกัมพูชา
ระบำเทพอัปสรา

นาฏศิลป์ในประเทศกัมพูชาแบ่งได้เป็นนาฏศิลป์คลาสสิก นาฏศิลป์พื้นบ้านและการแสดงทางสังคม นาฏศิลป์คลาสสิกเกิดขึ้นในราชสำนัก มีความคล้ายคลึงกับนาฏศิลป์ไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 จะแสดงในงานเฉลิมฉลอง เทศกาลสำคัญและเพื่อการท่องเที่ยว ช่วง พ.ศ. 2503 เป็นยุคทองของนาฏศิลป์คลาสสิก บัลเลต์หลวงของกัมพูชาได้รับการยกย่องว่าเป็นความทรงจำของโลก นาฏศิลป์ของกัมพูชานิยมแสดงเกี่ยวกับเรื่องเรียมเกอร์หรือรามเกียรติ์ เช่นระบำสุวรรณมัจฉาและระบำมณีเมขลา ระบำอัปสราเป็นการแสดงของกัมพูชาที่กำเนิดจากรูปนางอัปสราสมัยพระนคร เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ริเริ่มโดยพระนโรดม บุปผาเทวีก่อนสมัยเขมรแดงปกครองประเทศ และได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของกัมพูชา

ระบำพื้นบ้านของกัมพูชาเป็นการแสดงที่รูปแบบไม่ได้กำหนดตายตัวเช่นระบำคลาสสิก การแต่งกายเป็นไปตามการแต่งกายของกลุ่มชน เช่น ชาวจาม ชาวเขมรบนเผ่าต่างๆ และชาวนา นิยมบรรเลงด้วยวงมโหรีระบำเชิงสังคมเป็นการแสดงในโอกาสที่มีการเฉลิมฉลองทางสังคมเช่น รอมวง รอมกบัจ รอมสาละวันและลำเลียบ บางส่วนได้รับอิทธิพลจากการแสดงพื้นบ้านของลาวยกเว้นรอมกบัจที่ได้อิทธิพลจากระบำราชสำนักมาก

วรรณคดี

ดูบทความหลักที่: วรรณคดีกัมพูชา
ภาพวาดเรื่องวรวงศ์

วรรณคดียุคเริ่มแรกของกัมพูชาเป็นจารึกบนศิลาซึ่งเล่าถึงการสืบเชื้อสายของราชวงศ์ การศาสนา อาณาเขตยึดครอง และการจัดการภายในราชอาณาจักร เอกสารภาษาเขมรที่เก่าแก่ที่สุดเป็นการแปลพระไตรปิฎกและอรรถกถาจากภาษาบาลี เขียนโดยพระสงฆ์ลงบนใบลาน

เรียมเกอร์เป็นรามายณะฉบับเขมรที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียและยังมีอิทธิพลต่อระบำคลาสสิก และเป็นเรื่องที่มีประวัติการนำมาแสดงเก่าแก่ที่สุดในกัมพูชา กัมพูชามีวรรณกรรมมุขปาฐะที่หลากหลาย ซึ่งไม่มีการเขียนจนกระทั่งได้รับอิทธิพลจากยุโรป เรื่องที่มีชื่อเสียงมากคือวรวงศ์และสรวงศ์หรือวรวงศ์และเสารวงศ์ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าชายเขมรสององค์ มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่พระตะบอง ตุมเตียว เป็นเรื่องแนวความรักที่เป็นที่นิยมในกัมพูชา โครงเรื่องคล้ายโรมิโอและจูเลียตของเชคสเปียร์ โดยมีที่มาจากกวีนิพนธ์ของพระปทุมเถระ (โสม)

หนังตะลุง

นังสเบกธม

นัง สเบกมีลักษณะใกล้เคียงกับหนังใหญ่ในประเทศไทย วายังของมาเลเซียและอินโดนีเซียในบริเวณเกาะชวาและบาหลี ทำให้คาดว่าต้นกำเนิดของนัง สเบกมาจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีผู้นิยมน้อยลง นัง สเบกในกัมพูชามี 3 ชนิดคือ

  • นังสเบกธม ส่วนใหญ่เล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ บรรเลงประกอบด้วยพิณพาทย์
  • นัง สเบก โตจ หรือนังกาลูน หรืออายัง ใช้หุ่นตัวเล็กกว่าและเล่นได้หลายเรื่องมากกว่า
  • สเบก เปาร์ ใช้หุ่นที่มีสี

ภาพยนตร์

ภาพยนตร์ในกัมพูชาเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 พระนโรดม สีหนุเองทรงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์และในสมัยระบอบสังคมของพระองค์เป็นยุคทองของภาพยนตร์ก่อนจะตกต่ำลงในสมัยเขมรแดง

กีฬา

ดูบทความหลักที่: กีฬาในประเทศกัมพูชา
เยาวชนกัมพูชาที่ฝึกชกมวย

นับแต่ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาเข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาในระดับโลกมากขึ้น ฟุตบอลกลายเป็นกีฬายอดนิยมเช่นเดียวกับศิลปะการต่อสู้เช่น ประดัลเสรี ปกกโต และมวยปล้ำกัมพูชา

ปกกโตเป็นศิลปะการต่อสู้แบบโบราณในกัมพูชา และคาดว่าเป็นต้นกำเนิดของกีฬามวยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบในภาพแกะสลักสมัยนครวัด และมีการแต่งกายคล้ายกับทหารโบราณของกัมพูชา และถือเป็นศิลปะการสู้รบของทหาร ประดัลเสรีเป็นมวยพื้นบ้านของกัมพูชา มีภาพสลักของการต่อสู้ที่คล้ายประดัลเสรีที่นครวัดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับจุดกำเนิดของกีฬามวยในภูมิภาค มวยปล้ำกัมพูชาเป็นกีฬายอดนิยมอย่างหนึ่งในกัมพูชา นิยมจัดแข่งขันช่วงเทศกาลปีใหม่

สหพันธ์ฟุตบอลกัมพูชาเป็นผู้ควบคุมกีฬาฟุตบอลในกัมพูชา และฟุตบอลทีมชาติกัมพูชา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2476 และเป็นสมาชิกฟีฟ่าตั้งแต่ พ.ศ. 2496 เป็นสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลเอเชียใน พ.ศ. 2500 สนามกีฬาแห่งชาติพนมเปญเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ จุคนได้ 50,000 คน ตั้งอยู่ในพนมเปญ