สาเหตุ ของ วิกฤตการณ์การเมืองไทย_พ.ศ._2556–2557

ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ

วรชัย เหมะ และ นิยม วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนักเคลื่อนไหวร่วมกับ นปช. เป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... (ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ) ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติวาระแรกในเดือนสิงหาคม 2556[63] ต่อมาในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ได้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งมีบุคคลสำคัญ เช่น ถาวร เสนเนียม, สนธิ บุญยรัตนกลิน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น[64]

กลุ่มต่อต้านทักษิณที่เรียกว่า "กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" ตลอดจนพรรคประชาธิปัตย์ จัดการประท้วงบนท้องถนนก่อนสมัยประชุมรัฐสภา แต่ไม่ได้รับแรงสนับสนุน[65] ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการพิจารณา 35 คน ซึ่งจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมายังสภาฯ เพื่อพิจารณาในวาระสองและสาม คณะกรรมาธิการส่งร่างกฎหมายที่ได้รับการทบทวนแล้วเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556[66] ร่างกฎหมายดังกล่าวเปลี่ยนจากเดิมที่จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะแก่ผู้ชุมนุม ไม่รวมถึงแกนนำการชุมนุม และผู้สั่งการ ซึ่งรวมถึงผู้นำรัฐบาลและทหาร เป็น "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" ซึ่งรวมการนิรโทษกรรมให้ทั้งแกนนำการชุมนุม และผู้สั่งการด้วย ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2556 ความผิดที่จะได้รับนิรโทษกรรมนี้รวมข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวงของทักษิณ ตลอดจนข้อกล่าวหาฆ่าคนของอภิสิทธิ์และสุเทพด้วย ต่อมา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 นาย นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาได้มีมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ 141 เสียง ส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ถูกยับยั้งไว้ 180 วัน[67]

การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ว่าด้วยที่มาของวุฒิสภา

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ... ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะเปลี่ยนรูปแบบของวุฒิสภาจากที่สมาชิกมาจากทั้งการเลือกตั้งและแต่งตั้ง มาเป็นสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเหมือนก่อนรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549[68][69]

วิกิซอร์ซมี คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕–๑๘/๒๕๕๖

วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ทั้งกระบวนการและเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเรื่องกระบวนการ ศาลพิจารณาว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณานั้นมิได้เป็นฉบับเดียวกับที่เสนอแต่แรก แต่ได้นำร่างที่จัดทำขึ้นใหม่มาพิจารณาในสมัยประชุม ศาลยังพิจารณาว่า การนับระยะเวลาย้อนหลังไปทำให้เหลือระยะเวลาขอแปรญัตติเพียงหนึ่งวันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนออกเสียงแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้เข้าประชุม ในประเด็นเรื่องเนื้อหา ศาลพิจารณาว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเปิดให้ญาติของผู้แทนราษฎรเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาและจะทำให้วุฒิสภาไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างตรงไปตรงมา รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มิได้ห้ามญาติของผู้แทนราษฎรเป็นสมาชิกวุฒิสภาและส่งผลให้สภานิติบัญญัติได้สมญาว่า "สภาผัวเมีย" ศาลยังพิจารณาว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มุ่งตัดอำนาจในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในอนาคตไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการเปลี่ยนวุฒิสภาเป็นให้สมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะทำลายระบบสองสภา[70][71]

นันทวัฒน์ บรมานันท์ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าบางส่วนของคำวินิจฉัยนี้ มีถ้อยคำที่แสดงถึงความไม่พอใจ ในการดำเนินกิจกรรมของสภาผู้แทนราษฎร[72] ยิ่งไปกว่านั้น ศาลยังเห็นว่า ตนเองมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ตามหลักการแยกใช้อำนาจเช่นเดียวกับการตรวจสอบและถ่วงดุล แต่นักวิชาการกฎหมายบางคนแย้งว่า ศาลไม่สามารถแทรกแซงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะสภานิติบัญญัติไม่ได้กำลังใช้อำนาจนิติบัญญัติ หากเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างสามอำนาจ[73][74][75] พรรคเพื่อไทยปฏิเสธคำวินิจฉัยดังกล่าว โดยอ้างว่า ศาลไม่มีอำนาจเหนือกรณีนี้[76]

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย สมาชิกพรรคเพื่อไทย และนักวิชาการส่วนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญพึงระวังว่า การวินิจฉัยจะล่วงละเมิดพระราชอำนาจ เนื่องจากยังไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยและได้มีการส่งกฎหมายฉบับนี้ให้มีพระบรมราชวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว[77]คำท้าทายดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่พอใจเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมายุ 86 พรรษา ซึ่งมากแล้ว เป็นที่รับทราบว่ากฎหมายใด ๆ ก็ตามมักได้รับการประกาศเป็นพระบรมราชโองการเสมอ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สมาชิกพรรคเพื่อไทยฟ้องร้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการกระทำอันเป็นกบฏต่อแผ่นดิน

พรรคเพื่อไทยปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลในกรณีดังกล่าวมาตลอด และยังคงยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2556 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวคืน โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยผ่านเป็นกฎหมาย[78]

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัดสินเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2557 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา 308 คนถูกแจ้งข้อหาละเมิดกฎหมายไทย แต่ไม่รวมนักการเมือง 73 คน รวมทั้งยิ่งลักษณ์ อันเนื่องจากการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งหากทั้ง 308 คนนี้ถูก ป.ป.ช. วินิจฉัยว่าผิดจริง ก็อาจส่งผลให้ถูกวุฒิสภาห้ามเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นเวลาห้าปี[79]

การขับตระกูลชินวัตร

เอเชียเซนตินัล รายงานอ้างนักธุรกิจคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแกนนำ กปปส. ว่า เหตุแห่งการประท้วงนั้นหาใช่เพียงการโค่นรัฐบาล แรงจูงใจแท้จริงคือขับทุกร่องรอยของอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากอำนาจ และออกจากประเทศ และกำจัดอิทธิพลใด ๆ ที่ยังเหลือค้างอยู่ แหล่งข่าวของ เอเชียเซนตินัล รายงานว่า หลังรัฐประหาร มีแผนขับยิ่งลักษณ์ ชินวัตรออกนอกประเทศเช่นเดียวกับพี่ชาย หรือไม่ก็จับเธอขังคุกหรือให้โทษเธอเพื่อห้ามมิให้เธอเข้าสู่การเมืองอีกครั้งเมื่อ คสช. อนุญาตให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอาจเป็นในเดือนตุลาคม 2558[80]

อื่น ๆ

นักวิเคราะห์จากต่างประเทศให้ความเห็นว่าประเด็นการสืบราชสันตติวงศ์เป็นปัจจัยหนึ่งของความขัดแย้งนี้[81][82]

ร่างพระราชบัญญัติกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาทเป็นปัจจัยหนึ่งของความขัดแย้งนี้ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 ให้ร่างพระราชบัญญัติฯ ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ[83]

ใกล้เคียง

วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2549 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975 วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา วิกฤตการเงิน ค.ศ. 1907 วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิกฤตการณ์การเมืองไทย_พ.ศ._2556–2557 http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2014/02/0... http://www.abc.net.au/news/2014-02-04/an-us-warns-... http://english.cntv.cn/20140202/100036.shtml http://www.china.org.cn/world/2013-12/04/content_3... http://bangkok.coconuts.co/2014/01/29/10000-police... http://bangkok.coconuts.co/2014/01/29/thailands-po... http://bangkok.coconuts.co/2014/03/17/afp-new-thai... http://america.aljazeera.com/opinions/2013/12/the-... http://www.aljazeera.com/news/asia-pacific/2014/01... http://www.aseanaffairs.com/thailand_news/politics...