ปฏิกิริยา ของ วิกฤตการณ์การเมืองไทย_พ.ศ._2556–2557

รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผู้รับผิดชอบ ในการป้องกันปราบปราม ระงับยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร ตามประกาศลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556[326] ออกคำสั่งที่ 404/2556 ลงวันเดียวกัน เพื่อให้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เป็นหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. มีภารกิจในการป้องกันปราบปราม ระงับยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร ดังกล่าว โดยมอบหมายให้ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ[327] ต่อมา มีการออกประกาศอีกสองฉบับ เพื่อขยายกำหนดผลบังคับใช้ และขยายเขตพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ฯ ลงวันที่ 18 ตุลาคม[328], วันที่ 25 พฤศจิกายน[329] และวันที่ 25 ธันวาคม[330] รวมถึงออกคำสั่ง กอ.รมน.อีกสองฉบับ เพื่อกำหนดให้ ศอ.รส.ยังคงเป็นศูนย์อำนวยการฯ ต่อไป ลงวันที่ 18 ตุลาคม[331][332], วันที่ 26 พฤศจิกายน[333] วันที่ 26 ธันวาคม[334]

ทั้งนี้ปรากฏว่า ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน มีพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ประกาศตนเป็นผู้กำกับดูแลงานของ ศอ.รส. ก่อนที่ต่อมา เมื่อเวลา 11:30 น. วันที่ 2 ธันวาคม พลตำรวจเอก ประชา กับสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันแถลงข่าว ใจความสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้สุรพงษ์ เป็นผู้กำกับดูแลงานของ ศอ.รส. เพื่อเป็นผู้ทำความเข้าใจ กับนานาประเทศให้รับทราบ และเข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง ตนจึงขอมอบหน้าที่กำกับดูแลงาน ศอ.รส.ให้แก่สุรพงษ์ เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแล ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[335]

เมื่อมีการปิดกรุงเทพมหานครในช่วงต้นเดือนมกราคม 2557 กระทรวงคมนาคมเปิดเว็บไซต์ ศูนย์อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน เพื่อรวบรวม บริการขนส่งมวลชน การเดินทาง จุดเชื่อมต่อ เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา จุดจอดรถยนต์ เพื่อเดินทางต่อโดยระบบขนส่งสาธารณะ ประชาชนสามารถตรวจสอบ จุดจอดรถ และจุดให้บริการขนส่งสาธารณะ ระหว่างการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ของ กปปส.[336]

ต่อมาในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยให้มีผลบังคับใช้ ระหว่างวันที่ 22 มกราคม ถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557 เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่มีแนวโน้ม จะรุนแรงยิ่งขึ้นต่อจากนี้ เนื่องจากยังคงมีกลุ่มบุคคล ที่ก่อความวุ่นวาย และนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ ล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน คำสั่งและหมายของศาล ยุยงให้ประชาชนบุกรุก และยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง ตัดน้ำประปาและไฟฟ้า ปิดระบบฐานข้อมูล พยายามจะเข้าควบคุมตัวผู้บริหาร หรือบุคคลสำคัญซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนใช้กำลังขัดขวางการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ซึ่งกำลังจะจัดให้มีขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 อันกระทบต่ออำนาจอธิปไตย และสิทธิของปวงชนชาวไทย ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย นอกจากนี้ ยังมีบุคคลบางกลุ่ม ก่อเหตุร้ายต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหาย และไม่ปลอดภัยต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สิน ในสถานการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลยุยงประชาชน ให้ละเมิดกฎหมายมากยิ่งขึ้นอย่างยืดเยื้อ เพื่อก่อให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ และเกิดความเสียหาย หรือไม่ปลอดภัย ต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน ของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่สงบ และมุ่งหมายให้ได้มาซึ่งอำนาจ ในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทาง ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย[337]

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้จัดตั้งหน่วยงาน กำกับดูแลสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. และมีกรรมการประกอบด้วย ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการศูนย์, พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้อำนวยการ[338] ซึ่งแตกต่างจากอดีตรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ตั้งชื่อหน่วยงานกำกับดูแลสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 นั้นว่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้อำนวยการ[339]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการชุมนุม

นกภป.

พลอากาศเอก กันต์ พิมานทิพย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ, นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550, พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และ พันโท กมล ประจวบเหมาะ สมาชิกวุฒิสภา อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกันแถลงข่าว ถึงสถานการณ์ทางการเมือง พร้อมทั้งประกาศจัดตั้ง กลุ่มนายทหารตำรวจนอกประจำการที่จงรักภักดีต่อสถาบันฯและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (นกภป.) โดยมี พลอากาศเอก กันต์ เป็นประธาน[340]

พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์

ตามที่ปรากฏเป็นข่าว พลตรี หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นอนุวงศ์พระองค์หนึ่ง ที่สนับสนุน กปปส.และการชุมนุม อย่างเปิดเผย[341][342][343]

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงโพสต์พระฉายาลักษณ์ซึ่งทรงถักเปียด้วยโบสีธงชาติไทยลงในอินสตาแกรม จึงมีผู้ตีความอย่างกว้างขวางว่า เป็นการสนับสนุนการชุมนุม แม้พระองค์จะมิได้ออกพระโอษฐ์ถึงเรื่องดังกล่าว[344] หนังสือพิมพ์ ดิอินดิเพนเดนต์ (The Independent) รายงานความเห็นของนักวิเคราะห์การเมืองไทยผู้หนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อว่า การแสดงออกของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็น การประกาศสงคราม และเป็นสัญลักษณ์ว่า พระราชวงศ์ไทยสนับสนุนขบวนการต่อต้านนี้อย่างเต็มที่[344] ขณะที่แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ (Andrew MacGregor Marshall) นักวารสารศาสตร์เชิงการเมืองชาวสกอตกล่าวว่า "อภิชนหัวเก่าไม่เคยสนใจประชาธิปไตยอยู่แล้ว พวกเขาเพียงต้องการมั่นใจว่า เมื่อกษัตริย์สวรรคต พวกเขาจะสามารถควบคุมสภานิติบัญญัติไว้ได้"[344]

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556 โดยกลุ่มนักวิชาการกว่า 150 คนซึ่งร่วมลงชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับที่ 1 และมีการจัดแถลงข่าว เมื่อเวลา 13:00 น. วันเดียวกัน ที่ห้องจุมพฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ร่วมแถลงการณ์ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ, รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์[345], รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, รองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล และ อาจารย์ ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ[346]

โดยมีจุดยืนร่วมกันในเบื้องต้นคือ ไม่เห็นด้วยกับการนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการที่กองทัพไทยแทรกแซงการเมือง รักษาและขยายพื้นที่ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย พร้อมทั้งเผยแพร่คำขวัญของกลุ่มว่า "เคารพกติกาประชาธิปไตย เข้าสู่การเลือกตั้ง ไม่มอบอำนาจให้คนกลาง" และออกเป็น 3 ข้อเสนอหลัก ดังต่อไปนี้

  1. การก่อตั้งสภาประชาชน ด้วยการอ้างอิงมาตรา 3 ถือว่า ไม่สอดคล้องประชาธิปไตย หลักนิติธรรม ไม่สามารถทำได้
  2. ข้อเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลางหลังยุบสภา ตามมาตรา 7 เป็นการพยายามตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย
  3. เสนอการร่วมออกแบบการทำประชามติ ในการแก้ไขหรือยืนยันการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ควรเป็นทางออกของสังคม

โดยในจำนวนผู้ลงชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับที่ 1 มีนักวิชาการที่สำคัญหลายท่าน อาทิเช่น ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, รองศาสตราจารย์ ชาตรี ประกิตนนทการ , ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร , รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข , รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ รัชชกูล , รองศาสตราจารย์ ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา , รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ , รองศาสตราจารย์ ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ , ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ , รองศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี , รองศาสตราจารย์ ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรพศ ทวีศักดิ์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกริช สังขมณี เป็นต้น[346]

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย อุเชนทร์ เชียงเสน (นักกิจกรรม) , วรพจน์ พันธุ์พงศ์ (นักเขียน และสื่อมวลชน), วาด รวี (นักเขียน), ปราบดา หยุ่น (นักเขียน), ซะการีย์ยา อมตยา (นักเขียน), ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข (สื่อมวลชน), อัลเบอท ปอทเจส (นักเขียน นักแปล ) เป็นต้น[346]

รวมทั้งมีการเปิดหน้าแฟนเพจทางเฟซบุ๊กชื่อ "สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย" เพื่อเป็นสื่อกลาง

ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม โดยมีรายชื่อของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์ สาวตรี สุขศรี[347]นักวิชาการกลุ่มดังกล่าว
ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ถูกตำรวจออกหมายเรียกให้ไปพบที่สภ.ช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่[348]และในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 รองศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ถูกทหารเรียกให้ไปรายงานตัวที่ ค่ายกาวิละ[349]

กลุ่มคนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับ กปปส.

ในเครือข่ายสังคม มีการตั้งกลุ่ม "คนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับ กปปส." ในเว็บไซต์ change.org เพื่อรณรงค์ให้สุเทพ ยุติการชุมนุม และเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557[350]

กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล

กลุ่มดังกล่าวมีการแสดงความเห็นด้วยต่อพรบ.นิรโทษกรรม[351]เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556กลุ่มนี้จัดชุมนุม หน้าศาลอาญาในวันที่ 11 สิงหาคม 2556 นำโดย ผศ.ดร.สุดา รังกุพันธุ์ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย[352]

พอกันที !ž หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2557 ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน มีกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ จัดโดยแฟนเพจเฟซบุ๊ก พอกันที!ž หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง ภายในงานมีกิจกรรมเขียนโพสต์อิต แสดงความในใจ ต่อสถานการณ์ทางการเมือง มีเวทีเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปราศรัย คนละ 5 นาที ซึ่งมีผู้ร่วมกิจกรรมให้หลายคนให้ความสนใจ จากนั้นมีการแจกเทียนให้ผู้ชุมนุมคนละ 1 เล่ม และร่วมกันแปรอักษรภาพมนุษย์ เป็นรูปเครื่องหมายสันติภาพ และจุดเทียน พร้อมร่วมกันอ่านแถลงการณ์ หยุดการณ์ชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง และตะโกนคำว่า พอกันที เอาเลือกตั้ง ไม่เอาเทือกตั้ง อยู่นานหลายนาที ก่อนจะแยกย้ายกันจับกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้จัดกิจกรรม กล่าวว่า หลังจากที่เห็นภาพภรรยาของตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปะทะที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง และเห็นการ์ด กปปส.ที่เสียชีวิตในวันต่อมา รู้สึกอัดอั้นตันใจอยู่คนเดียว จึงตั้งแฟนเพจดังกล่าวขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่แสดงออกสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่จะนำไปสู่เงื่อนไขความรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอีก โดยเรียกร้องให้มีการเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นมาเป็นครั้งที่สองแล้ว ไม่ได้มีใครแกนนำ ไม่คิดจะยกระดับการชุมนุม โดยเชื่อว่าผู้มาร่วมชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ จะพัฒนาไปเองตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วม ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว มีกำหนดจัดขึ้นทุกวันศุกร์ โดยครั้งแรกคือ วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556[353]

ปฏิกิริยาจากนานาชาติ

  •  สหรัฐ - แมรี ฮาร์ฟ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า ทางการสหรัฐฯ ขอเรียกร้องทุกฝ่าย งดเว้นความรุนแรง อดทนอดกลั้น และเคารพหลักนิติรัฐ ขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐฯ ก็แสดงความชื่นชมรัฐบาลที่แสดงความอดกลั้นมาโดยตลอด โดยขณะนี้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่การทูต กำลังประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกระดับ เพื่อสนับสนุนการเจรจาสันติภาพ ประชาธิปไตย และหาทางออกทางการเมือง[355]
  • สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น - ศาสตราจารย์ ดันแคน แมกคาร์โก (Duncan McCargo) อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลีดส์ แห่งสหราชอาณาจักร ผู้ศึกษาการเมืองไทยอย่างยาวนาน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ โกลบอลสแควร์ (Global Square) วิเคราะห์ถึงผู้ชุมนุมฝ่ายสุเทพ ที่เริ่มรวมตัวกันปิดกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 เนื่องจากต้องการสถาปนาพวกตนซึ่งเป็นอภิชนกลุ่มเล็ก ๆ ในเมืองหลวง และเคยเป็นชนชั้นปกครองมากว่า 30 ปี กลับคืนสู่อำนาจ ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า การปฏิรูปประเทศ และกดดันให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปในระหว่างปฏิรูป ทั้งพยายามยุแยงให้ฝ่ายทหารปฏิวัติด้วย[356]

การสำรวจความคิดเห็นประชาชน

เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น ของประชาชนกลุ่มตัวอย่าง ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,975 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-16 มกราคม ในหัวข้อ “คนกรุงฯ กับการเข้าร่วม ปิดกรุงเทพฯ” โดยมีข้อคำถามต่าง ๆ ที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วม กับการชุมนุมกลุ่ม กปปส. คปท. และ กปท. ของคนกรุงเทพมหานคร พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากระบุว่า ไม่เคยเข้าร่วม คิดเป็นร้อยละ 71.04 ส่วนอีกร้อยละ 28.96 เคยเข้าร่วม; สำหรับการมีส่วนร่วม ชุมนุมปิดกรุงเทพฯ กับกลุ่ม กปปส. ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากระบุว่า ไม่ได้เข้าร่วม คิดเป็นร้อยละ 80.10 ส่วนอีกร้อยละ 19.90 ไปเข้าร่วมด้วย[357]

ใกล้เคียง

วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2549 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975 วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา วิกฤตการเงิน ค.ศ. 1907 วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิกฤตการณ์การเมืองไทย_พ.ศ._2556–2557 http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2014/02/0... http://www.abc.net.au/news/2014-02-04/an-us-warns-... http://english.cntv.cn/20140202/100036.shtml http://www.china.org.cn/world/2013-12/04/content_3... http://bangkok.coconuts.co/2014/01/29/10000-police... http://bangkok.coconuts.co/2014/01/29/thailands-po... http://bangkok.coconuts.co/2014/03/17/afp-new-thai... http://america.aljazeera.com/opinions/2013/12/the-... http://www.aljazeera.com/news/asia-pacific/2014/01... http://www.aseanaffairs.com/thailand_news/politics...