ลำดับเหตุการณ์ ของ วิกฤตการณ์การเมืองไทย_พ.ศ._2556–2557

การประท้วงร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม

พรรคเพื่อไทยซึ่งครอบงำสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลาประมาณ 4.00 น.[84]ในระหว่างการประกาศใช้กฎหมายพระราชบัญญัติ ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ใน บางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งร่างกฎหมายร่างสุดท้ายนั้นจะนิรโทษกรรมผู้ประท้วงซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2547 รวมทั้งยกการพิพากษาลงโทษฉ้อราษฎร์บังหลวงของทักษิณ และบอกล้างข้อกล่าวหาฆ่าคนของอภิสิทธิ์ และสุเทพ[85][86] ร่างพระราชบัญญัตินั้นจุดชนวนการคัดค้านจากทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และขบวนการเสื้อแดงอันนิยมรัฐบาล[87] รัฐบาลถูกวิจารณ์ที่ผ่านการออกเสียงลงคะแนนในสมัยประชุมก่อนเช้าผิดปกติเพื่อป้องกันการคัดค้าน[1] คู่แข่งของทักษิณประท้วงต่อการทำให้ทักษิณพ้นจากความรับผิดการพิพากษาลงโทษ ฝ่ายผู้สนับสนุนทักษิณวิจารณ์ร่างพระราชบัญญัตินี้ว่าทำให้ผู้รับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 พ้นจากความรับผิด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 เกิดการประท้วงหลายจุดทั่วกรุงเทพมหานคร ตลอดจนต่างจังหวัด หลายมหาวิทยาลัยและองค์การออกแถลงการณ์ประณามร่างพระราชบัญญัติ สุเทพตั้งเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และใช้ถนนราชดำเนินกลางเป็นสถานที่ชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 จนถึง 12 มกราคม พ.ศ. 2557 ทว่า การสอบถามความเห็นอิสระซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 11 และ 13 พฤศจิกายนรายงานว่า ฝ่ายข้างมากที่สำรวจต้องการให้การประท้วงยุติ[88]

เมื่อเผชิญกับการคัดค้านอย่างแข็งขัน ยิ่งลักษณ์ออกคำแถลงกระตุ้นให้วุฒิสภาพิจารณาร่างกฎหมายนี้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ตามกำหนดการ สภาผู้แทนราษฎรไม่อาจเรียกคืนร่างพระราชบัญญัติหลังออกเสียงลงคะแนนแล้ว คำวินิจฉัยเป็นของวุฒิสภา ผู้นำพรรคเพื่อไทยยังสัญญาจะไม่รื้อฟื้นร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอื่นใดหากถูกวุฒิสภาปฏิเสธ ต่อมา วุฒิสภาลงมติปฏิเสธร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556[89][90]

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สุเทพประกาศยกระดับการชุมนุม เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ออกจากสภาทั้งหมด พร้อมประกาศมาตรการ 4 ข้อ ได้แก่ ให้หยุดงาน 3 วันคือ วันที่ 13 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เพื่อออกมาชุมนุม, งดชำระภาษีประจำปี, ประดับธงชาติไทยหน้าบ้าน, ถ้าพบเห็นรัฐมนตรีคนใด ให้เป่านกหวีดใส่ และเปิดตัวแกนนำอีก 8 คน คือ ถาวร เสนเนียม, สาทิตย์ วงศ์หนองเตย, อิสสระ สมชัย, วิทยา แก้วภราดัย, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ซึ่งสุเทพให้เป็นโฆษก, ชุมพล จุลใส, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งสุเทพให้เป็นแกนนำหลัก หากสุเทพไม่สามารถเป็นแกนนำหลักได้[91] ทั้งเก้ายื่นใบลาออกจากความเป็น ส.ส. ต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐสภา ในวันต่อมา[92]

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สุเทพประกาศยกระดับการชุมนุมอีกเป็นการถอนรากถอนโคน ระบอบทักษิณ เนื่องจากลักษณะเอื้อประโยชน์แก่สกุลชินวัตรและพวกพ้อง เป็นบ่อเกิดของเผด็จการรัฐสภาให้เป็นศูนย์รวมอำนาจ และล้มล้างการถ่วงดุลอำนาจเพื่อเอื้อต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวง พร้อมทั้งออกมาตรการเพิ่มเติมคือ การล่ารายชื่อถอดถอน ส.ส. ทั้ง 310 คน โดยจะยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายในวันที่ 19 พฤศจิกายน, ต่อต้านบุคคลในเครือข่าย ด้วยการเป่านกหวีดเมื่อพบเจอ, ต่อต้านสินค้าในเครือข่ายทุกชนิด และขอให้คนไทยทั้งหมดหยุดงานมารวมพลังต่อสู้ให้มากที่สุดจนกว่าจะได้รับชัยชนะ[93] การประท้วงประกอบด้วยหลายกลุ่ม ซึ่งรวมเครือข่ายพลเมืองเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มการเมืองสีเขียว เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กองทัพธรรมและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)[94]

การประท้วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการยึดสถานที่ราชการ

ผู้ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556ผู้ชุมนุมปิดแยกสามย่าน ในวันที่ 9 ธ.ค.56

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556 กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประท้วงบริเวณ ปตท.และมีผู้ถูกจับ 6 ราย[95]ในข้อหาบุกรุกหมายคดีดำ อ.3981/2556 ต่อมาศาลมีคำสั่งรอลงอาญาจำเลยทั้ง 6 ราย ปรับรายละ 5000 บาท[96]

พรรคเพื่อไทยปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญส่งผลให้จำนวนผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 23–24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 โดยมีผู้ประท้วงชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนินอย่างน้อย 100,000 คน ข้อมูลจำนวนคนนับผู้เข้าร่วมการชุมนุมได้ถึงหนึ่งล้านคน ฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการซึ่งปรองดองกับรัฐบาลหลังถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และจัดการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานก่อนคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าว กลับมาประท้วงตอบโต้เช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน มีผู้สนับสนุนมา 40,000 คน[97]อาทิ ไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สาโรจน์ หงษ์ชูเวช

วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีสุเทพเป็นผู้นำเริ่มเดินขบวนไปยังสำนักงานรัฐบาลหลายแห่งและบุกเข้าไปในกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงการต่างประเทศและกรมประชาสัมพันธ์ บังคับให้ปิดโดยไม่มีตำรวจเข้าแทรกแซง ยิ่งลักษณ์ประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในกรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี, อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี[98] เพิ่มเติมจากเขตกรุงเทพมหานครชั้นในซึ่งพระราชบัญญัติความมั่นคงฯ มีผลตั้งแต่เดือนที่แล้ว ทว่า ไม่มีการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างผู้ประท้วงและฝ่ายความมั่นคง ในวันที่ 26 พฤศจิกายน กลุ่มผู้ชุมนุม ปิดทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย [99]

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน ผู้ประท้วงดำเนินการต่อโดยชุมนุมนอกสำนักงานกระทรวงอีกสิบแห่ง ตัดไฟฟ้าและเชิญผู้ที่ทำงานในสำนักงานใหญ่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และจัดการยึดพื้นที่ประท้วงที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ผู้ประท้วงยังชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดยี่สิบสี่จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดภาคใต้ อันเป็นฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์[100]

ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ที่ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ สุเทพ เทือกสุบรรณประกาศก่อตั้ง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส. ประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มองค์กรประชาชนสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มนักวิชาการ นำโดยสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กลุ่มประชาคมนักธุรกิจสีลม เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เป็นต้น โดยมีสุเทพเป็นเลขาธิการของกลุ่ม ด้านผู้ชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลจนส่งผลให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องย้ายที่ทำงานออกจากทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 โดยย้ายไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ[101]

ผู้ประท้วงบุกเข้าไปในสำนักงานบริษัทโทรคมนาคมของรัฐ กสท โทรคมนาคมและทีโอทีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน รบกวนบริการอินเทอร์เน็ตเป็นเวลาหลายชั่วโมง[102]ในวันเดียวกัน นายธีรภัทร หรือเจมส์ ทองฤทธิ์ และ นายนพดล หรือเยน แก้วมีจีน ใช้อาวุธปืนยิง พลทหารธนะสิทธิ์ เวียงคำ ถึงแก่ความตายต่อมาพนักงานสอบสวนได้ฟ้องในคดีหมายดำ อ.626/2557[103]คดีหมายแดง อ.2405/2558 คดีอยู่ระหว่างศาลฎีกา

การปะทะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เหตุจลาจลบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง

การประท้วงมีสภาพสันติ[104]ก่อนการปะทะอย่างรุนแรงช่วงสั้น ๆ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน และ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556[33] ในคืนวันที่ 1 ธันวาคม ความรุนแรงปะทุ โดยมีการล้อม และยิงนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง นำมาซึ่งการต่อต้านรัฐบาลเสื้อแดงผู้สนับสนุนรัฐบาลใกล้สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน การลอบยิงทำให้นักศึกษาโจมตีรถแท็กซี่ซึ่งมีผู้สนับสนุนเสื้อแดง มีการยิงปืนใส่นักศึกษาทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และได้รับบาดเจ็บ 57 คน[33][32]ได้แก่ นายทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว นายสุรเดช คำแปงใจ นายวิโรจน์ เข็มนาค และ นายวิษณุ เภาภู่ [105]

พยานอ้างว่ามือปืนเป็นผู้ประท้วงเสื้อแดง ฝ่ายแกนนำ กปปส. สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อ้างว่า "เจ้าหน้าที่ตำรวจถอดเครื่องแบบออกแล้วใส่เสื้อแดงเพื่อโจมตีนักศึกษารามคำแหงหน้ามหาวิทยาลัย"[106] ต่อมา แกนนำ นปช. ยุติการชุมนุมในรุ่งเช้า[107]

การปะทะที่ทำเนียบรัฐบาลและกองบัญชาการตำรวจนครบาล

การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐในวันที่ 1 ธันวาคม 2556

วันที่ 1 ธันวาคม สุเทพ เลขาธิการ กปปส. ประกาศยกระดับการประท้วงในความพยายาม "ปฏิวัติประชาชน" วันนั้น ผู้ประท้วงพยายามบุกเข้าทำเนียบรัฐบาลและกองบัญชาการตำรวจนครบาล แต่ถูกตำรวจสกัดโดยใช้เครื่องกีดขวาง แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำ ขณะที่มีรายงานว่าผู้ประท้วงบางคนพยายามขว้างระเบิดน้ำมันเชื้อเพลิงใส่แถวตำรวจ มีทหารไม่มีอาวุธราว 2,700 นายถูกเรียกมาสนับสนุนตำรวจ บ่ายวันนั้น ยิ่งลักษณ์ต้องยกเลิกการสัมภาษณ์สื่อตามกำหนดและย้ายไปยังสถานที่ลับเมื่ออาคารที่เธออยู่นั้นถูกผู้ประท้วงล้อม[108][109] ผู้ประท้วงยังเข้าสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง ซึ่งรวมองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และบังคับให้แพร่ภาพคำปราศรัยสาธารณะของสุเทพ[110][111] อันเป็นการกระทำที่องค์การสื่อสารแห่งประณาม[112] ในคำปราศรัยทางโทรทัศน์ สุเทพว่า ผู้ประท้วงยึดอาคารรัฐบาลสิบสองแห่ง แต่ พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ปฏิเสธข้ออ้างนี้[113] ภายหลัง สุเทพประกาศฝ่ายเดียวว่าเขาพบกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เพื่อยื่นคำขาดให้ "คืนอำนาจประชาชน" ภายในสองวัน เขายืนยันท่าทีของเขาอีกครั้งว่า การลาออกของยิ่งลักษณ์หรือยุบสภาผู้แทนราษฎรยังยอมรับไม่ได้ และย้ำข้อเรียกร้องของเขาให้ตั้ง "สภาประชาชน" อันไม่ได้มาจากการเลือกตั้งซึ่งจะเลือกผู้นำ[114] ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวด้วยเหตุว่า การงดไว้ซึ่งกระบวนการประชาธิปไตยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[115] วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ตำรวจรื้อเครื่องกีดขวางออกและอนุญาตให้ผู้ประท้วงเข้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งลดความตึงเครียดเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[116] วันที่ 5 ธันวาคม 2556 พระองค์มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า บ้านเมืองของเราเป็นปึกแผ่นมั่นคง และร่มเย็นเป็นสุขมาช้านาน เพราะเรามีความยึดมั่นในชาติ และต่างบำเพ็ญกรณียกิจตามหน้าที่ ให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติ[117]

การยุบสภาผู้แทนราษฎร

หลังวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ สุเทพเรียกร้องให้ผู้ประท้วงยึดถนนแล้วเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 9 ธันวาคมใน "การต่อสู้ครั้งสุดท้าย" ซึ่งมีผู้ร่วมประท้วง 160,000 คน[118] วันที่ 8 ธันวาคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 153 คนร่วมกันลาออกในท่าทีซึ่งถูกมองว่าพยายามกดดันรัฐบาลเพิ่มเติม[119] ในการสนองต่อการประท้วงเข้มข้นนี้ ยิ่งลักษณ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และเสนอการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งอนุมัติภายหลัง[120] กปปส. ยืนกรานให้นายกรัฐมนตรีลาออกภายใน 24 ชั่วโมง ฝ่ายยิ่งลักษณ์ยืนกรานว่าเธอจะยังปฏิบัติหน้าที่ต่อจนการเลือกตั้งที่กำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 พร้อมกระตุ้นให้ผู้ประท้วงยอมรับข้อเสนอของเธอว่า "ถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว"[118]

ขณะเดียวกัน เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยอ้างยึดกองบัญชาการกองทัพบก เรียกร้องให้ทหารเข้าร่วมการประท้วง[121] พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก สนองเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน โดยกระตุ้นให้กลุ่มผู้ประท้วงไม่เกี่ยวข้องกับทหารและเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายระงับวิกฤตโดยสันติ[121] รัฐบาลงดเว้นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ โดยยึดไม้ตะบอง ปืนฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาแทน[113]

หลังยุบสภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556 สุเทพ เลขาธิการ กปปส. เรียกร้องให้ชุมนุมโดยมีคำขวัญเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ให้ยิ่งลักษณ์และคณะรัฐมนตรีลาออกทันที และการตั้งสภาประชาชนเพื่อเริ่มกระบวนการปฏิรูปเป็นเวลา 12 ถึง 18 เดือน

กลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2556

วันที่ 21 ธันวาคม 2556 พรรคประชาธิปัตย์แถลงว่าจะคว่ำบาตรการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์[122] ในการสนองต่อกระบวนการลงทะเบียนของผู้สมัครบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งซึ่งมีกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเดินขบวนไปยังสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น อันเป็นสถานที่ลงทะเบียน ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556 สุเทพ และ กปปส. นำการประท้วง โดยสุเทพประกาศว่า "หากรัฐบาลและ กกต. ยังยืนยันการเลือกตั้ง เขากำลังท้าทายความปรารถนาของประชาชน" ในวันเดียวกันได้มีคนนำปืนพกรีวอลเวอร์ พร้อมกระสุน 4 นัด เข้าไปที่ โรงแรมเจริญผล [123]โดยอัยการฟ้องต่อศาลในคดี อ.400/2557 ศาลตัดสินให้ริบของกลาง และจำคุก 1 ปี 6 เดือน

กปปส. ประมาณว่ามีผู้ร่วมเดินขบวน 3.5 ล้านคนในวันที่ 22 ธันวาคม ขณะที่กำลังความมั่นคงอ้างว่ามีผู้ประท้วงเข้าร่วมการเดินขบวนประมาณ 270,000 คน แหล่งข้อมูลระหว่างประเทศรายงานว่า มีผู้ประท้วงเข้าร่วมหลายหมื่นคน[124][125] ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยย้ำแผนการเลือกตั้งและคาดหมายการนำเสนอรายชื่อผู้สมัครบัญชีรายชื่อ 125 คนต่อ กกต.[126] วันเดียวกัน เกิดเหตุผู้ชุมนุม กปปส. ทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าวขณะปฏิบัติหน้าที่[127]

วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556 กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นปะทะกับตำรวจ มีผู้เสียชีวิตสามคน โดยเป็นตำรวจสองรายและประชาชนทั่วไปหนึ่งราย[128]เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 ราย ได้แก่ ดาบตำรวจณรงค์ ปิติสิทธิ์ นาย วสุ สุฉันทบุตร และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลตำรวจหนึ่งรายได้แก่ ดาบตำรวจ อนันต์ แลโสภา (เสียชีวิตวันที่ 5 มกราคม)[129] ผู้ประท้วงมีอาวุธเป็นหนังสติ๊กและสวมหน้ากากกันแก๊สเพื่อสู้กับตำรวจ รวมมีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 200 คน เนื่องจากความรุนแรงบานปลาย คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงออกแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งกระตุ้นให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้ง รองนายกรัฐมนตรี พงศ์เทพ เทพกาญจนา สนองต่อแถลงการณ์ดังกล่าวในนามของรัฐบาลว่า "วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ถูกกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายซึ่งให้อำนาจรัฐบาลเปลี่ยนแปลงวันนี้" เขาอธิบายเพิ่มว่า รัฐบาลยังเปิดอภิปรายกับผู้ประท้วง[130]

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกแถลงการณ์ต่อสื่อซึ่งเขาไม่ชี้ขาดโอกาสรัฐประหารอีกหนหนึ่ง โดยว่า "ไม่ว่าอะไรจะเกิด เวลาจะบอก เราไม่ต้องการก้าวล้ำขอบเขตอำนาจของเรา เราไม่ต้องการใช้กำลัง เราพยายามใช้สันติวิธี การพูดคุยและพบปะเพื่อระงับปัญหา" ในช่วงเดียวกัน ทางการออกหมายจับสุเทพโดยอ้างเหตุว่าก่อการกบฏ แต่ตำรวจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งด้วยเกรงความแตกแยกเพิ่มเติม[128]

การชุมนุมปิดกรุงเทพมหานคร

กลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกปทุมวัน 13 มกราคม 2557

จนวันที่ 28 ธันวาคม 2556 มี 58 พรรคการเมืองลงทะเบียนสำหรับการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งสรุปกระบวนการลงทะเบียนห้าวันเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556[131]มีผู้เสียชีวิตสองรายจากอาวุธปืนได้แก่ นายยุทธนา องอาจ[132]โดยถูกยิงที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์

เย็นวันที่ 27 ธันวาคม สุเทพประกาศในสุนทรพจน์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพมหานครว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลมีแผนปิดกรุงเทพมหานครในวันที่ 13 มกราคม 2557[37]

วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ได้แก่ นายพุทธศักดิ์ คล่องแคล่ว นายอรรถชัย อินทะโชติ นายชิดชัย ชมพูเจริญ นายอนุสรณ์ โหมดกุฬา นายพายุ แซจิว นายสุรนันท์ จันทรคาด สาเหตุการตายเนื่องจากถูกอาวุธปืนยิงเสียชีวิต บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)[133]

วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557 สุเทพปราศรัยที่สนามมวยราชดำเนิน ซึ่งอธิบายแผนการปฏิบัติประท้วงในวันที่ 13 มกราคมเพิ่มเติม เขาว่า นอกจากปิดแยกสำคัญ ได้แก่ ปทุมวัน สวนลุมพินี ลาดพร้าวและราชประสงค์แล้ว สำนักงานรัฐบาลทุกแห่งจะถูกตัดไฟฟ้าและน้ำประปา และพาหนะของรัฐบาลจะไม่สามารถใช้เลนฉุกเฉินได้ (เปิดให้แต่รถพยาบาล ผู้ที่ต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์ และรถโดยสารประจำทางสาธารณะ) บนถนนที่ถูกยึด[134] ในการแถลงข่าวซึ่งจัดในวันเดียวกัน ผู้นำนิยมรัฐบาล จตุพร พรหมพันธุ์ เปิดฉากการรณรงค์ใหม่เพื่อปกป้องกรุงเทพมหานครจากผู้ประท้วง ซึ่งเขาเรียกว่า "เครือข่ายอำมาตย์" จตุพรอธิบายว่ากำลังนิยมรัฐบาลจะ "ต่อสู้ภายใต้หลักสันติ" และจะมีแถลงการณ์เพิ่มเติม[135] วันที่ 3 มกราคม ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำ นปช. ชี้แจงการจัดชุมนุมคู่ขนานกับ กปปส. ใช้ชื่อว่า "เปิดประเทศ เปิดเจ้าของอำนาจอธิปไตย" โดยจะมีการชุมนุมเกือบทุกจังหวัด[136]

วันที่ 4 มกราคม หัวหน้าศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ประกาศสดทางโทรทัศน์ว่า ผู้ใดที่เข้าร่วมขบวนการประท้วงจะเป็นการละเมิดประมวลกฎหมายอาญาของไทย สุรพงษ์อธิบายปฏิบัติการปิดกรุงเทพว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศและเปิดเผยว่ารัฐบาลจะใช้แผนซึ่งรวมการใช้กำลังผสมพร้อมกันเพื่อรับมือกับการปิด ในการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไม่มีแถลงการมีส่วนเกี่ยวข้องของทหารอย่างชัดเจน แต่สุรพงษ์รับประกันผู้ชมว่าแผนของรัฐบาลเป็นไปตามมาตรฐานสากล[137]

วันที่ 5 มกราคม สุเทพนำผู้ประท้วงหลายพันคนผ่านทางตะวันตกของกรุงเทพมหานครในการเดินขบวนก่อนปิดกรุงเทพ[138] วันเดียวกัน รักษาการนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์แถลงบนหน้าเฟซบุ๊กของเธอว่า การเลือกตั้งเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับระงับความขัดแย้งทางการเมือง โดยว่า "ถ้าคุณไม่ต้องการให้รัฐบาลกลับคืนอำนาจ คุณต้องสู้กับเราในการเลือกตั้ง"[139] ยังเกิดการปะทะระหว่างผู้สนับสนุนจากกลุ่มแยกการเมืองทั้งสองในวันเดียวกันที่จังหวัดเชียงใหม่[140]

เมื่อเวลา 2.30 น. ของวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 สำนักงานใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ถูกยิงถล่มจากรถเก๋งโตโยต้า ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ พรรคยังไม่เข้าร่วมการประท้วงปิดกรุงเทพ[141]ผู้ชุมนุมได้ปิดศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ที่ตั้งของ กระทรวงพลังงาน และ บริษัท เอนเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ จำกัด จนเป็นเหตุให้ต้องปิดอาคารทั้ง 6 อาคาร ต่อมาได้มีการฟ้องร้องต่อศาลในคดีอาญาหมายดำ อ.831/2557 หมายแดง อ.3027/2560[142][143]ศาลตัดสินลงโทษจำคุก นพ.ระวี มาศฉมาดล 8 เดือนรอลงอาญา 2 ปี จำเลยรายอื่นจำคุก 2 เดือนแต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา

ธนาคารไทยพาณิชย์ แจ้งปิด สามสาขา ธนาคารอาคารสงเคราะห์แจ้งปิดหกสาขา ธนาคารกสิกรไทยแจ้งปิดสองสาขา ธนาคารกรุงเทพ แจ้งปิดสาขาเอนเนอร์ยี คอมเพล็กซ์[144] เย็นวันที่ 14 มกราคม 2557 มีความพยายามโจมตีพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง คราวนี้ผู้โจมตีพยายามระเบิดบ้านพักของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ การโจมตีล้มเหลวและทีมกอบกู้วัตถุระเบิดพบสลักระเบิดมือเอ็ม26 ที่ผลิตในสหรัฐ ทีมอนุมานว่า ระเบิดมือนั้นพยายามปาขึ้นหลังคาของห้องซึ่งปกติบิดาของอภิสิทธิ์อยู่ กรุงเทพมหานครสนับสนุนตำรวจผู้สืบสวนในการทบทวนผ่านการจัดหาเทปวงจรปิด[145] ชายสามคนและหญิงหนึ่งคนพร้อมระเบิดสี่ลูก ปืนและกระสุนถูกจับที่จุดตรวจถนนสุขุมวิทในเย็นวันเดียวกัน[146]

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนข้อกล่าวหาว่ายิ่งลักษณ์ประมาทในการจัดการข้อตกลงข้าวส่วนเกินกับประเทศจีน ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. โยงกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และข้าราชการอื่นอีกกว่าโหลแล้ว หาก ป.ป.ช. ตัดสินว่าผิด ยิ่งลักษณ์จะถูกถอดถอนจากตำแหน่ง[147]

วันที่ 17 มกราคม รักษาความปลอดภัย กปปส. รายงานว่าได้ยินเสียงระเบิดสองหรือสามครั้งที่ถนนแจ้งวัฒนะ สวนลุมพินี แยกลาดพร้าวและวังสวนผักกาด ยังมีรายงานอีกว่า มีการยิงจากรถเก๋งฮอนดา แอคคอร์ด แต่ไม่มีรายงานผู้ไดรับบาดเจ็บ เสียงระเบิดและปืนบีบให้กิจกรรมบนเวที กปปส. หยุดชั่วคราว ยังมีการปาระเบิดมือใส่บ้านพักผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ[148]มีผู้เสียชีวิตในวันดังกล่าว ได้แก่นายประคอง ชูจันทร์ ถูกระเบิดที่บริเวณถนนบรรทัดทอง เสียชีวิต

วันเดียวกัน มีการโจมตีด้วยระเบิดมืออีกหนใกล้ศูนย์การค้าโลตัส เจริญผล มีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บ 38 คน เสียชีวิต 1 คนระหว่างการเดินขบวนที่มีสุเทพเป็นผู้นำ รักษาความปลอดภัย กปปส. รายงานว่า ระเบิดถูกขว้างจากอาคารสามชั้นที่ถูกทำลายบางส่วน[149] ตำรวจนครบาลกล่าวว่า คลิปวิดีทัศน์ที่ตำรวจตรวจสอบแสดงชายสองคนกำลังมีกิริยาอาการน่าสงสัย[150][151]

วันที่ 19 มกราคม ช่วงบ่าย เกิดการโจมตีด้วยระเบิดอีกซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 28 คน ณ จุดชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถาวร เสนเนียม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งอยู่ที่จุดชุมนุมเชื่อว่าเขาเป็นเป้าระเบิด ชายไม่ทราบรูปพรรณขว้างวัตถุระเบิดใกล้เตนท์ศูนย์สื่อหลังเวทีชุมนุมแล้วหลบหนีเมื่อเวลา 13.30 น.[152] รักษาความปลอดภัยที่จุดชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยบนถนนราชดำเนินนอกถูกนำส่งโรงพยาบาลจากกระสุนปืนจากมือปืนไม่ทราบตัวในเย็นวันเดียวกัน[153] มีผู้เสียชีวิตในวันดังกล่าว ได้แก่นายอานนท์ ไทยดี ถูกระเบิดที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เสียชีวิต[154]

วันที่ 20 มกราคม กปปส. จังหวัดต่าง ๆ เคลื่อนรถปราศรัยเข้าปิดกั้น หน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี[155], นอกจากนี้ ยังมีผู้ชุมนุมเข้าปิดกั้นหรือนำรถปราศรัยเข้าปิดกั้นศาลากลางบางจังหวัดในภาคใต้ และมีผู้ชุมนุมเข้ายื่นหนังสือ อาทิ จังหวัดนครศรีธรรมราช, จังหวัดสุราษฎร์ธานี, จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดยะลา, จังหวัดชุมพร, จังหวัดสตูล, จังหวัดตรัง, จังหวัดสงขลา, จังหวัดกระบี่ และจังหวัดปัตตานี[156] กปปส. ในกรุงเทพมหานครเคลื่อนรถปราศรัยเข้าปิดกั้นหน้าธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่สะพานควาย[157], กรมทางหลวง[158], ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร[159], การทางพิเศษแห่งประเทศไทย[160] และโรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว[161]

วันที่ 28 มกราคม ที่บริเวณสโมสรกองทัพบกที่ นาย วิศรุต สีม่วง ถูกอาวุธปืนยิงที่ขา และ ด.ต.คงเพชร เพชรกันหา ถูกทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส[162]

วันที่ 29 มกราคม กลุ่มกปปส.ภาคใต้ได้เดินทางไปปิดศูนย์ไปรษณีย์ชุมพร[163]เพื่อไม่ให้มีการย้ายหีบบัตรเลือกตั้ง

วันที่ 30 มกราคม กลุ่มกปปส.ภาคใต้เดินทางไปปิดล้อมทางเข้า-ออก ศูนย์ไปรษณีย์ทุ่งสง ปิดล้อมทางเข้า-ออก ศูนย์ไปรษณีย์เขต 9 หาดใหญ่ และเดินทางไปกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 41 ค่ายอาภากรเกียรติวงศ์ หลังมีข่าวว่าบัตรเลือกตั้งอยู่ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 41 วัตถุประสงค์ของการเดินทางเพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนบัตรเลื่อนตั้งและหีบเลือกตั้ง[164]

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ผู้ประท้วง กปปส. เปิดพื้นที่ลาดพร้าวและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้สัญจรอีกครั้งหลังผู้ประท้วงรื้อเวทีชุมนุม ณ สถานที่ทั้งสองแล้วย้ายไปเสริมการยึดครองในและรอบสวนลุมพินี[165]

วันที่ 12 มีนาคม กลุ่มผู้ประท้วงได้เข้าปิดกระทรวงพาณิชย์ ส่งผลให้การ เสนอราคาประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล ผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟต) ครั้งที่ 7[166]ต้องยกเลิก

สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 รัฐบาลรักษาการโดยรักษาการนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ[167]ส่งผลให้รัฐบาลรักษาการมีอำนาจประกาศการห้ามออกจากเคหสถานเวลาค่ำคืน ตรวจพิจารณาสื่อ สลายการชุมนุม ใช้กำลังทหารเพื่อ "รักษาความสงบเรียบร้อย" ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยปราศจากข้อกล่าวหา ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนและประกาศให้บางส่วนของประเทศเข้าถึงไม่ได้[168] ตามคำแถลงอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ผู้ประท้วงเป็นสาเหตุของการวินิจฉัยดังกล่าวโดยการปิดกั้นสำนักงานรัฐบาลและธนาคาร และขัดขวางข้าราชการมิให้สามารถดำเนินธุระอาชีพของเขาได้และนำชีวิตส่วนตัวอย่างปลอดภัย[169] คำสั่งนายกรัฐมนตรีกำหนดให้ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง[170]รัฐบาลยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557[171]

วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557 ขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ถูกยิงในจังหวัดอุดรธานี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ตำรวจสรุปว่า เหตุโจมตีมีแรงจูงใจทางการเมืองและใช้ภาพจากโทรทัศน์วงจรปิดเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนและรายงานการเกี่ยวข้องของ "รถกระบะปิ๊กอัพสีบรอนซ์" ก่อนหน้าเหตุการณ์ในจังหวัดอุดรธานี มีเหตุโจมตีด้วยระเบิดมือสามครั้งซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน และได้รับบาดเจ็บหลายคน แต่ไม่มีการจับกุมคนร้ายขณะที่ทั้งรัฐบาลและผู้ประท้วงกล่าวโทษกันไปมา หลังข่าวการยิง สุเทพยังยืนกรานการยึดกรุงเทพมหานคร โดยว่า "เราจะสู้ต่อไปจนกว่าจะชนะ" และยังขู่ปิดสำนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศของประเทศไทย[172]

วันที่ 23 เมษายน กมล ดวงผาสุก แกนนำกลุ่ม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง และกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ถูกลอบยิงเสียชีวิตที่ลานจอดรถหน้าร้านอาหารครกไม้ไทยลาว ซอยลาดปลาเค้า 24 เขตลาดพร้าว[173]

วันที่ 24 มกราคม ศาลรัฐธรรมนูญไทยประกาศว่า การเลื่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์สามารถทำได้ตามคำวินิจฉัยของสมาชิก[174]

วันที่ 26 มกราคม สุทิน ธราทิน หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย กปท. ถูกยิงขณะปราศรัยบนรถกระบะระหว่างการชุมนุมที่สถานีเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะมีการเลือกตั้งล่วงหน้า และต่อมาเสียชีวิต[175] มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเก้าคน[176] และโฆษก กปปส. เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ บุตรบุญธรรมของสุเทพ ออกแถลงการณ์สาธารณะว่า "นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลรักษาการและผู้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ต้องรับผิดชอบเหตุการณ์วันนี้ มิฉะนั้นสาธารณะจะลุกขึ้นต่อต้านและเรียกร้องความยุติธรรม"[177]

วันเดียวกัน ยิ่งลักษณ์ประชุมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่ออภิปรายความเป็นไปได้ของการเลื่อนการเลือกตั้งเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งเกรงจะเกิดความรุนแรงในวันเลือกตั้ง ทว่า หลังการประชุมสามชั่วโมงที่สโมสรกองทัพบก รักษาการรองนายกรัฐมนตรี พงศ์เทพ เทพกาญจนา แจ้งสื่อว่าวันที่เลือกตั้งยังไม่เปลี่ยนแปลง กรรมการการเลือกตั้ง สมชัย ศรีสุทธิยากร แถลงว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งจะจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ให้ดีที่สุด โดยรวมการบังคับใช้มาตรการเพื่อป้องกันความรุนแรงและจัดการเลือกตั้งรอบสองแก่ผู้ออกเสียงลงคะแนนที่ถูกขัดขวางระหว่างการเลือกตั้งรอบแรก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เฉลิม อยู่บำรุง ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าศูนย์รักษาความสงบ ของรัฐบาล อธิบายว่าจะมีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10,000 นายเพื่อรับประกันความปลอดภัยของผู้ออกเสียงลงคะแนนระหว่างการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์[178] ระหว่างการประชุมที่สโมสรกองทัพบก ผู้สนับสนุน กปปส. ล้อมชายผู้หนึ่งและฟาดอิฐบนศีรษะเพราะถูกสงสัยว่ามิใช่ผู้สนับสนุน กปปส. ตำรวจนอกเครื่องแบบผู้หนึ่งเปิดฉากยิงเป็นการป้องกันตัว[179]

วันที่ 30 มกราคม มีการจัดประท้วงเพิ่มอีกระหว่างการรณรงค์ต่อต้านการเลือกตั้ง สุเทพนำผู้ประท้วงผ่านส่วนพื้นที่พาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ยิ้มและโบกมือแก่ผู้ผ่านไปมา และกระตุ้นให้ผู้อื่นเข้าร่วมการกระทำ 2 กุมภาพันธ์เพื่อป้องกันมิให้การออกเสียงเลือกตั้งของชาวไทยที่เจตนาเสร็จสมบูรณ์ ในการคาดการส่งเสริมการรบกวนผ่านการประท้วงเหล่านี้ ตำรวจไทยประกาศว่าจะมีการวางกำลังเพิ่ม 190,000 นายทั่วประเทศ โดยเน้นกรุงเทพมหานครและสิบจังหวัดภาคใต้[180]

วันที่ 31 มกราคม สุเทพประกาศว่า หน่วยเลือกตั้งจะสามารถเปิดทำการได้สำหรับการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ตามปกติ ทว่า แหล่งข้อมูลยังระบุว่า สุเทพเชื่ออย่างแรงกล้าว่า วันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะเป็นโมฆะเพราะปัญหากฎหมายหลายอย่างที่จะเกิดตามมา[181]

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ น.ส.ฐิพาพรรณ สุวรรณมณี ด.ญ.พัชรากร ยศอุบล และ ด.ช.กรวิทย์ ยศอุบล เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดบริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ถนนราชดำริ[182]คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 23/2557 เรียกให้ นาย ทยากร ยศอุบล คุณพ่อของ ด.ญ.พัชรากร ยศอุบล และ ด.ช.กรวิทย์ ยศอุบล เข้ารายงานตัวในวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์

ศูนย์รักษาความสงบ

ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2557 เรื่องจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ ให้ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ ให้พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว และ พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก เป็น รองผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ[183]วิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม อรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.สุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม สุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี คณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการสิริมา สุนาวิน เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์รักษาความสงบ ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต และ พันตำรวจโทหญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล เป็นโฆษกศูนย์รักษาความสงบ ที่ตั้งของศูนย์อยู่ภายในกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด[184]

โดยปกติแล้ว ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามกฎหมาย[185]และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามกฎหมาย แต่ในคำสั่งนี้ใช้คำว่า "ผู้แทน" จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ไม่ต้องการเข้าร่วมในศูนย์รักษาความสงบ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้มีที่ปรึกษาประจำศูนย์รักษาความสงบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 4-8/2557 อาทิ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นประธานที่ปรึกษาศรส. พงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรองประธานที่ปรึกษาศรส. จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ชัยเกษม นิติสิริ วราเทพ รัตนากร เป็นที่ปรึกษา อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นที่ปรึกษาและโฆษกและเลขานุการ ธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ปรึกษาและผู้ช่วยเลขานุการ

ปลอดประสพ สุรัสวดี พลเอก พฤณท์ สุวรรณทัต พลตำรวจเอก ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา สงวน ตียะไพบูลย์สิน [186]พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง พลตำรวจโท สุเทพ เดชรักษา พลตำรวจโท กวี สุภานนท์[187] พลตำรวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถ[188] จีรศักดิ์ สุคนธชาติ ประวิทย์ เคียงผล[189] พลตำรวจโท หาญพล นิตยวิบูลย์ พลตำรวจโท นเรศ นันทโชติ พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ พลตำรวจตรี กรเอก เพชรชัยเวส [190] พีรพันธุ์ พาลุสุข พลตำรวจตรี ประหยัชว์ บุญศรี เป็นที่ปรึกษา[191]

ภายหลังที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยึดอำนาจการปกครอง ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ ถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา[192]ตามคำสั่งคสช.ที่ 27/2557 พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ถูกปลดจากตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ธาริต เพ็งดิษฐ์ ถูกปลดจากตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง ถูกปลดจากตำแหน่ง ดร.สุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ถูกปลดจากตำแหน่ง[193]ตามคำสั่งคสช.ที่ 77/2557 สมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม ถูกปลดจากตำแหน่ง นาย ประวิทย์ เคียงผล ถูกปลดจากตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน [194]ตามคำสั่ง คสช.ที่ 81/2557 พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ ถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด [195]ตามคำสั่งคสช.ที่ 84/2557หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ถูกปลดจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2559 มีผล 18 ตุลาคม 2559 จำนวน ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับศูนย์รักษาความสงบถูกปลดจากตำแหน่งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีทั้งหมด 9 ราย

จำนวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับศูนย์รักษาความสงบถูกปลดโดยศาลปกครองสูงสุดมี 1 รายซึ่งถูกปลดก่อนรัฐประหารได้แก่ พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งถูกปลดโดยศาลปกครองสูงสุด[196]

นาย คณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ถูกคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 ย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2557[197] นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 75/2558 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 204/2558 และ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ถูกคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 ย้ายมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี[198]มีผลวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 โดยก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติย้ายให้เป้นที่ปรึกษาปปง. รวมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศรส.ถูกคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 ปลดและโยกย้ายหลังรัฐประหาร 3 ราย

พันตำรวจโทหญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล ถูกปลดจากตำแหน่งรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557[199] และถูกตั้งกรรมการสอบสวน[200]ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2559

ส่วน พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ ถูกปลดจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภาค 1 ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในวันที่ 17 กันยายน ปี พ.ศ. 2558 รวมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศรส.ถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปลดและโยกย้ายหลังรัฐประหาร 2 ราย

การเลือกตั้งทั่วไป

แม้ กปปส. ประกาศว่าจะไม่ขัดขวางกระบวนการเลือกตั้ง แต่ทำให้ไม่สามารถการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ใน 87 เขตเลือกตั้ง ส่วนมากในกรุงเทพมหานครและภาคใต้ของประเทศ เกิดการรบกวนใน 10 จังหวัด

ผู้ประท้วงทั่วประเทศพยายามคัดค้านการเลือกตั้งล่วงหน้าตามกำหนด เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภุชงค์ นุตราวงศ์ ว่า สามารถจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ยกเว้นจังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งสิ้นแล้ว มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั่วประเทศ 2.16 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพมหานคร 916,210 คน ราว 440,000 คนถูกขัดขวางมิให้ออกเสียงเลือกตั้ง สุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโสฮิวแมนไรต์วอช กล่าวว่า

เป็นวันเศร้าสำหรับประชาธิปไตยเมื่อสิทธิออกเสียงลงคะแนน [...] ถูกโจมตีโดยขบวนการทางการเมืองที่อ้างว่าต่อสู้เพื่อปฏิรูปและให้อำนาจประชาชน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้แสดงว่าเขากำลังต่อสู้เพื่อสิ่งตรงข้าม

วันก่อนการเลือกตั้ง เกิดความรุนแรงอีกในกรุงเทพมหานคร หลังผู้ชุมนุม กปปส. ปิดกั้นการส่งหีบเลือกตั้งจากสำนักงานเขตหลักสี่ และมีกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลราว 200 คนคัดค้าน กลุ่มชายติดอาวุธ กปปส. เริ่มยิงปืน[201][202][203] และมีการยิงโต้ตอบกันหลายนัด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยหกคน[204] ผลแห่งความรุนแรงทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินใจระงับการออกเสียงลงคะแนนในเขตหลักสี่[205] นอกจากนี้ ยังยกเลิกการออกเสียงลงคะแนนในจังหวัดชุมพร ตรัง พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สงขลาและสุราษฎร์ธานีเนื่องจากขาดบัตรเลือกตั้ง[206] ต่อมา มีการจับกุม "มือปืนป๊อปคอร์น" การ์ด กปปส. ซึ่งยิงปืนเล็กยาวเอ็ม16 ใส่ผู้ประท้วงสนับสนุนรัฐบาลและสารภาพว่า เขาใช้อาวุธที่หัวหน้าการ์ด กปปส. มอบให้[207][208]

แม้สุเทพอ้างซ้ำ ๆ ว่าการกระทำของเขาสันติและ "ปราศจากอาวุธ" แต่ภาพถ่ายและวิดีทัศน์ของการปะทะแสดงผู้ประท้วงสวมสายรัดข้อมือสีเขียวของการ์ด กปปส. กำลังใช้อาวุธอย่างปืนเล็กยาวจู่โจมชัดเจน[209][210][211] สุเทพไม่รักษาคำสัตย์ของถ้อยแถลงของตนที่ยืนยันว่าการเดินขบวนจะไม่ขัดขวางการออกเสียงลงคะแนนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์[212] เนื่องจากผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลสกัดกั้นการส่งหีบเลือกตั้งนอกเหนือไปจากขัดขวางมิให้ประชาชนไปออกเสียงลงคะแนน[213][214][215]

คณะกรรมการการเลือกตั้ง รายงานผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ร้อยละ 47.72 หรือ 20,530,359 คน จังหวัดที่มีอัตราผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 75.05 ส่วนกรุงเทพมหานคร มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 25.94[216] คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศว่า บัตรเลือกตั้งร้อยละ 12.05 เป็นบัตรเสีย และร้อยละ 16.57 ไม่ประสงค์ลงคะแนน คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประชุม 28 เขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครถูกกันมิให้ลงทะเบียนก่อนการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งเนื่องจากการประท้วงและแถลงว่าจะปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษากฎหมายก่อนบรรลุคำวินิจฉัย[206]

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 พรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เช่นเดียวกับยุบพรรคเพื่อไทยและเพิกถอนสิทธิพิเศษของผู้บริหาร ส่วนหนึ่งของคำร้องนั้น พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าการเลือกตั้งเป็นความพยายามของรัฐบาลเพื่อได้มาซึ่งอำนาจบริหารด้วยวิถีมิชอบด้วยยรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68[217][218] อันเป็นมาตราเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์อ้างเพื่อขอให้วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ด้านพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องกลับในการสนองต่อพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยขอให้ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิพิเศษของผู้บริหารโดยอ้างมาตรา 68 เช่นกัน โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า คำร้องของพรรคประชาธิปัตย์ให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะเป็นความพยายามล้มรัฐบาลนอกการปกครองระบอบประชาธิปไตย[219] วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องของทั้งสองพรรคไม่มีมูล[220]

หมายจับแกนนำประท้วง

ตามที่ศาลอาญาไทยอนุมัติหมายจับเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แกนนำเป้าหมายยืนยันว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อการรณรงค์ทางการเมืองแม้ศาลสืบสวนพบหลักฐานเพียงพอยืนยันว่าแกนนำดังกล่าวละเมิดพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งประกาศในกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี บางส่วนของจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดสมุทรปราการ ตามหมายจับ ตำรวจสามารถจับกุม 19 แกนนำและควบคุมตัวไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ที่คลอง 5 ในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ได้ไม่เกินเจ็ดวัน หมายนี้มีผลใช้ได้หนึ่งปีและต้องแจ้งการจับกุมต่อศาลภายในเวลา 48 ชั่วโมง[221]

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ศาลอาญาปฏิเสธการเสนอออกหมายจับแกนนำ กปปส. 13 คน ได้แก่ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข, จิตภัสร์ กฤดากร, สกลธี ภัททิยกุล, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, เสรี วงษ์มณฑา, ถนอม อ่อนเกตุพล, หลวงปู่พุทธะอิสระ, สาวิทย์ แก้วหวาน, คมสัน ทองศิริ, สุชาติ ศรีสังข์, ระวี มาศฉมาดล และนพพร เมืองแทน ทนายความ กปปส. อธิบายว่า ศาลยกคำร้องของดีเอสไอเพราะพฤติการณ์แห่งคดียังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะออกหมายจับและหากกลุ่มบุคคลเหล่านี้กระทำความผิด ก็มีกฎหมายอาญาที่สามารถดำเนินคดีได้อยู่แล้ว [222]

ต่อมา วันที่ 14 พฤษภาคม ศาลอาญา ยกคำร้องหมายจับ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด น.ส.อัญชะลี ไพรีรักษ์ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ นายสุริยะใส กตะศิลา นายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายกิตติชัย ใสสะอาด นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ และนายสำราญ รอดเพชร เพราะเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยของศาลอาญาในคดีอื่น ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณา ถือได้ว่าผู้ต้องหาดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลอาญาแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยดังกล่าวหลบหนีระหว่างการปล่อยชั่วคราว ศาลอาญาย่อมมีอำนาจที่จะบังคับให้นายประกันส่งตัวจำเลยต่อศาลในคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องไว้แล้วเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ดังนั้น พนักงานอัยการจึงสามารถฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นจำเลยต่อศาลได้โดยไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องศาล จึงไม่จำต้องออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 13 คนเพื่อนำตัวมาฟ้องคดี ให้ยกคำร้องในส่วนนี้[223]

และศาลอนุมัติหมายจับแกนนำกปปส. 30 ราย ได้แก่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายชุมพล จุลใส นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายอิสระ สมชัย นายวิทยา แก้วภราดัย นายถาวร เสนเนียม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายนิติธร ล้ำเหลือ นายอุทัย ยอดมณี พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ พ.ต.ท.สุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ นางสาวจิตภัสร์ กฤดากร ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ นายถนอม อ่อนเกตุพล พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม นายสาธิต เซกัล นายคมสัน ทองศิริ นายมั่นแม่น กะการดี นายประกอบกิจ อินทร์ทอง นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายพานสุวรรณ ณ แก้ว นางสาวรังสิมา รอดรัศมี นางทยา ทีปสุวรรณ พลอากาศโทวัชระ ฤทธาคนี และพลเรือเอกชัย สุวรรณภาพ แต่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับได้เพียงเท่าที่จำเป็นในการนำตัวส่งฟ้องต่อศาลเท่านั้น

การเลือกตั้งชดเชย

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 มีการจัดประชุมโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสมชัย กรรมการการเลือกตั้ง ภายหลังอธิบายว่า หากจะมีการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่สามารถลงสมัครได้ จำเป็นต้องมีพระราชกฤษฎีกาเป็นลายลักษณ์จากรัฐบาล ที่ประชุมตัดสินอย่างเป็นเอกฉะน์ว่าจำต้องแสวงพระราชกฤษฎีกาจากรัฐบาล และคณะกรรมการการเลือกตั้งเชื่อว่าสามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ในพื้นที่ห้าจังหวัด ระยอง ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและเพชรบุรีได้ไม่ยาก ศุภชัย สมเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า คณะกรรมการฯ กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 4–8 มีนาคม การเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 23 มีนาคม และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 30 มีนาคม[224]

คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดโอกาสแก่พลเมืองที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนได้ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เนื่องจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาล การเลือกตั้งล่วงหน้าจะจัดในวันที่ 20 เมษยน และกำหนดให้วันที่ 27 เมษายนเป็นวันเลือกตั้งสำหรับเขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ กปปส. ไม่เห็นชอบกับวันเลือกตั้งใหม่[225]

ตามวอลสตรีตเจอร์นัล วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 จำนวนผู้ประท้วงลดลงเหลือประมาณ 5,000 คน ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง เสนอว่าหลังการเลือกตั้งรอบถัดไป รัฐบาลจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงใน 18 เดือนเพื่อเปิดกระบวนการเลือกตั้งแบบใหม่ ถ้อยแถลงของร้อยตำรวจเอก เฉลิมมีขึ้นหลังยิ่งลักษณ์โพสต์ลงหน้าเฟซบุ๊กของเธอซึ่งชี้การเปิดให้นายหน้าบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยระงับความขัดแย้งทางการเมือง[180]

การยึดพื้นที่คืน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ มีผู้ยิงเอ็ม-79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส.แจ้งวัฒนะ มีผู้บาดเจ็บ 2 คน[226] วันที่ 10 กุมภาพันธ์ สุเทพเดินขบวนเพื่อระดมทุน นำไปให้ กปปส.จ้างทนายความ ช่วยชาวนาดำเนินคดีต่อรัฐบาล[227][228]

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ตำรวจพยายามยึดพื้นที่สาธารณะคืนจากกลุ่มผู้ประท้วงเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ขั้นแรก ตำรวจประชุมกันที่ลานพระราชวังดุสิตก่อนเคลื่อนเข้าแยกมิสกวันเพื่อเริ่มปฏิบัติการ มีการรื้อถอนเต๊นต์จากถนนราชดำเนินบนสะพานมัฆวาน แต่ผู้ประท้วงย้ายที่แล้วเมื่อตำรวจมาถึง จึงไม่เกิดความรุนแรง[229] ตำรวจปราบจลาจลยังเคลียร์ที่ประท้วงซึ่งเคยตั้งอยู่ที่แยกสำคัญใกล้ทำเนียบรัฐบาลและไม่เผชิญกับการต่อต้านจากผู้ประท้วง เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าปฏิบัติการความมั่นคงพิเศษของรัฐบาล อธิบายต่อสื่อว่า ปฏิบัติการนี้เป็นเครื่องบ่งชี้การสนองของรัฐบาลรักษาการต่อขบวนการประท้วง เฉลิมอธิบายว่า "เรากระตุ้นให้ผู้ประท้วงกลับบ้าน หากเขาไม่ฟัง เราจะมีการปฏิบัติเพิ่มเติม เราไม่สามารถปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ ประเทศของเราไม่สามารถทำงานอย่างนี้ได้" ทว่า ตำรวจงดปฏิบัติเพิ่มเติมหลังกลุ่มผู้เดินขบวนกลับจุดประท้วงที่ยังไม่เสียหายใกล้ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น ผู้ประท้วงราว 1,000 คนชุมนุมนอกกองบังคับการตำรวจนครบาลหลังปฏิบัติการนี้[180] วันเดียวกัน มีผู้ยิงเอ็ม 79 ใส่ศาลอาญา[230]

การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม บริเวณแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557

เช้าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ตำรวจเก้ากองร้อยยึดจุดกระทรวงพลังงานได้สำเร็จ และจับกุมผู้ประท้วงกว่า 140 คนหลังไม่ยอมออกจากพื้นที่[231][232] ขณะที่ตำรวจยังคงดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อยึดจุดประท้วงห้าจุดต่อไปนั้น สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นที่จุดประท้วงสะพานผ่านฟ้าที่ถนนราชดำเนินกลาง ผู้ประท้วงขัดขืนคำสั่งของตำรวจโดยนั่งลงบนถนนและสวดมนต์[233][234] ตำรวจผลักโดยมีความรุนแรงเล็กน้อย และต่อมาตั้งต้นทุบเวทีและเต๊นต์ สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อมีจำนวนผู้ประท้วงมากขึ้นพยายามขัดขวางเจ้าหน้าที่ แล้วตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลาย ขณะที่ตำรวจดำเนินการ พวกเขาถูกโจมตีด้วยแรงระเบิดและกระสุนปืน ตำรวจสนองด้วยกระสุนจริงแล้วล่าถอย[233][234] คลิปวิดีทัศน์ของบีบีซีแสดงชัดเจนว่า มีการปาระเบิดมือใส่แถวตำรวจจากที่ที่ผู้ประท้วงอยู่[235]

จนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ มีผู้เสียชีวิต 6 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายและพลเรือน 4 คน ได้แก่ นายสุพจน์ บุญรุ่ง ดาบตำรวจเพียรชัย ภารวัตร นายธนูศักดิ์ รัตนคช นายศรัทธา แซ่ด่าน นายจีรพงษ์ ฉุยฉาย สิบตำตรวจตรี ศราวุฒิ ชัยปัญหา และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 64 คนจากเหตุการณ์ที่สะพานผ่านฟ้า[233] รายงานของบีบีซี พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ระบุว่า รัฐบาลประกาศเจตจำนงยึดจุดที่ถูกยึดคืนเมื่อสิ้นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557[236]

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ มีผู้ยิงอาร์จีดี5 บริเวณแยกประตูน้ำ มีผู้บาดเจ็บ 6 ราย[237]

เกิดเหตุยิงปืนและขว้างระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน ได้แก่ นางพิศตะวัน อุ่นใจ ด.ญ.ฬิฬาวัลย์ พรหมชัย ด.ญ.ณัฐยา รอสูงเนิน และบาดเจ็บ 34 คนในจังหวัดตราดในเย็นวันที่ 22 กุมภาพันธ์[238] วันที่ 23 กุมภาพันธ์ มีผู้ยิงเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ ใกล้ที่ชุมนุม กปปส.แยกราชประสงค์ มีรายงานว่า การระเบิดของระเบิดมือ 40 มิลลิเมตรทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน เป็นเด็ก 2 คนและหญิง 1 คน ได้แก่ นางสาวฐิพาพรรณ สุวรรณมณี เด็กชายกรวิชญ์ ยศอุบล และ เด็กหญิงพัชรากร ยศอุบล[239] ชายขับรถตุ๊กตุ๊กคนหนึ่งถูกจับกุมในเวลาต่อมา[240] หลังจากนั้น ผู้ประท้วง กปปส. ในกรุงเทพมหานครพยายามขัดขวางกิจกรรมของธุรกิจตระกูลชินวัตรในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่กรมศุลกากรในเขตคลองเตย สถานีวอยซ์ทีวี และหลายกระทรวง เช่น กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพลังงาน[241]

การยกเลิกปิดกรุงเทพมหานครและเหตุการณ์ต่อเนื่อง

เย็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 สุเทพประกาศว่าจะยุบสถานที่ชุมนุมที่แยกปทุมวัน ราชประสงค์ สีลม และอโศก ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557 และขอโทษแก่ประชาชนผู้ไม่ได้รับความสะดวกจากการยึดกรุงเทพมหานคร กปปส. ย้ายสถานที่ชุมนุมไปยังสวนลุมพินี นับเป็นจุดสิ้นสุดของ "การปิดกรุงเทพมหานคร" และอีกหนึ่งเวทีชุมนุมที่ยังเหลืออยู่ คือ ที่แจ้งวัฒนะ ที่มีพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม (หลวงปู่พุทธะอิสระ) เป็นแกนนำ ซึ่งประกาศว่าจะไม่รื้อหรือย้ายเวทีไปไหนหลังจากการประกาศของสุเทพ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป ความมุ่งหมายหลักของขบวนการประท้วงจะเป็นการคว่ำบาตรและขัดขวางปฏิบัติการของผลประโยชน์ทางธุรกิจของตระกูลชินวัตร[242]

วันที่ 7 มีนาคม มีผู้ยิงเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส.สวนลุมพินี มีผู้บาดเจ็บ 5 คน[243] วันที่ 11 มีนาคม มีผู้ยิงเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส. มีผู้บาดเจ็บ 3 คน อาการสาหัส 1 ราย[244]

วันที่ 13 มีนาคม บริเวณซอยรัชดาภิเษก 17 มีผู้ใช้อาวุธปืนยิง นาย พรเทพ เทศกิจ เสียชีวิต และ นางสาว ราตรี คมแหลม ถูกอาวุธปืนยิงบาดเจ็บสาหัส[245]

วันที่ 14 มีนาคม ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองไม่ให้เนรเทศสาธิต เซกัล ชาวอินเดีย หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุม เป็นการชั่วคราว[246]

วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557 มีการแต่งตั้งจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นประธาน นปช. คนใหม่แทนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธิดา ถาวรเศรษฐ และแต่งตั้งณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นเลขาธิการ บนเวทีชุมนุมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[247][248] ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นปรับท่าทีเชิงรุกของคนเสื้อแดง[249][250]

การวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เดิมผู้ตรวจการแผ่นดินต้องการให้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ถูกเพิกถอน หลังจาก กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์วิชากฎหมายสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า ควรยกเลิกการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจยื่นคำร้องเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเท่านั้น ไม่อาจยื่นคำร้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแทน โดยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557[251][252]

ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียงหกต่อสามว่า เมื่อพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แต่การเลือกตั้งไม่สามารถแล้วเสร็จทั่วประเทศภายในวันดังกล่าวได้ พระราชกฤษฎีกาจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง ที่กำหนดให้การเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ และเมื่อพระราชกฤษฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย[253][254][255]

มีการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวอย่างหนักทั้งจากภาควิชาการ และพรรคเพื่อไทย อาทิ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์วิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันหลังจากยุบสภาผู้แทนราษฎร และพระราชกฤษฎีกาก็กำหนดวันเลือกตั้งตามเงื่อนไขดังกล่าว พระราชกฤษฎีกาจึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ[252] ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสมาชิกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยเสริมว่า กฎหมายจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ต่อเมื่อมีเนื้อหาสาระไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพราะมีบุคคลใดมาทำให้ไม่เกิดผลตามรัฐธรรมนูญ[256] คณิน บุญสุวรรณ อาจารย์วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลไร้เหตุผล เพราะพระราชกฤษฎีกาไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ไม่สามารถปฏิบัติให้เกิดผลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง[252][257] ส่วน วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการกฎหมาย ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลวินิจฉัยให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะเพราะไม่เสร็จสิ้นภายในวันเดียว แต่ศาลไม่พิจารณาว่า เหตุใดจึงไม่สามารถเสร็จสิ้นได้[258]

กานต์ ยืนยง ผู้อำนวยการสยามอินเทลลิเจนท์ยูนิต กล่าวว่า ค่อนข้างชัดเจนว่า องค์กรอิสระต้องการถอดถอนยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีทั้งคณะเพื่อสร้างช่องว่างแห่งอำนาจ โดยอ้างว่า ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ แล้วจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามอำเภอใจ[255] สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในสมาชิกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย กล่าวว่า ไม่แปลกใจกับคำวินิจฉัย แต่สลดใจมาก[259] ขณะที่สดศรี สัตยธรรม อดีตผู้พิพากษาและอดีตกรรมการการเลือกตั้ง วิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการแช่แข็งประเทศ และเรียกร้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้มากเพื่อ "นำประชาธิปไตยกลับคืนมา"[260]

พรรคเพื่อไทยแสดงความเสียใจต่อคำวินิจฉัย และกล่าวว่า ประเทศได้สูญเสียโอกาสที่จะก้าวเดินต่อไป และศาลได้สร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องเพื่อเปิดให้ล้มการเลือกตั้งทั้งหมดได้ด้วยการสร้างความปั่นป่วนที่หน่วยเลือกตั้งเพียงบางแห่งเท่านั้น[255][261] ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน แสดงความเห็นทำนองเดียวกันว่า "เป็นบรรทัดฐานว่า ต่อไปหากใครอยากล้มการเลือกตั้ง ให้หาคนออกมาประท้วงปิดถนนล้อมหน่วยเลือกตั้งไม่ให้มีการสมัครสัก 28 เขต แค่นี้การเลือกตั้งก็เป็นโมฆะ"[262]

วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 นั้นเอง กลุ่มนักเรียนนักศึกษาซึ่งใช้คำขวัญว่า "โปรดเคารพอนาคตของเรา" (Respect My Future) รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และใช้ผ้าดำคลุมอนุสาวรีย์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ประชาธิปไตยได้ตายลงแล้ว[263] ส่วนประชาชนอีกกลุ่มจัดกิจกรรมชื่อ "เคารพเสียงของเรา" (Respect My Vote) ที่หน้าบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่ทำการเดิมของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องให้ตุลาการลาออกเพราะ "ทำลายคุณค่าของเสียงประชาชน"[264] ขณะเดียวกัน สมาชิกพรรคเพื่อไทยแต่งดำเป็นเวลาหกวัน เพื่อไว้ทุกข์ให้แก่ตุลาการหกคนที่ลงมติล้มการเลือกตั้ง[265] และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในจังหวัดเชียงใหม่ก็ร่วมแต่งดำด้วย[266]

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากมีคำวินิจฉัย องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ได้เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้นขึ้นอยู่กับการปรึกษาพูดคุยระหว่างนายกรัฐมนตรีและกรรมการการเลือกตั้งเพื่อจัดการเลือกตั้ง พร้อมทั้งเสนอว่าไม่ควรจะเร่งรีบเพราะอาจจะนำไปสู่การโมฆะอีกครั้ง[267]

ทาง กปปส. โดยเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ ได้แถลงในวันเดียวกันหลังจากมีคำวินิจฉัยว่า กปปส. ยอมรับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นว่ารัฐบาลดื้อดึงที่จะให้มีการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมาทั้งที่ยังไม่พร้อม แต่อย่างไรก็นับเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกฝ่ายจะมาร่วมกันปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ส่วนสุเทพนั้นปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใด ๆ ต่อคำวินิจฉัย [268]

อย่างไรก็ดี ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยินดีกับคำวินิจฉัยนี้[269] และยืนยันว่า จะขัดขวางการเลือกตั้งครั้งต่อไป ๆ อีกจนกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสภาประชาชน[51][52]

การประท้วงดำเนินต่อและความรุนแรง

คดีการข่มขู่ ความรุนแรงและความผิดอาญาซึ่งการ์ดและผู้สนับสนุน กปปส. เป็นผู้ก่อ ถูกสาธารณะรายงาน ตำรวจจับกุมชายผู้รับสารภาพว่าได้รับว่าจ้างจาก กปปส. ให้ยิงใส่ผู้ประท้วงนิยมรัฐบาลในวันก่อนการเลือกตั้งที่เขตหลักสี่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บเจ็ดคน และชายคนหนึ่งเป็นอัมพาต "มือปืนป๊อปคอร์น" ซึ่งยิงปืนเล็กยาวเอ็ม16 ยังยอมรับว่า หัวหน้าการ์ด กปปส. ให้ปืนเขา[207][208] ศาลออกหมายจับอิสระ สมชัย อดีตสมาชิกสภาผูแทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์และแกนนำ กปปส. และรักษาความปลอดภัย กปปส. ห้าคน เขาถูกกล่าวหาว่าสั่งการ์ดให้กักขัง ทุบตีและฆ่าพลเรือนคนหนึ่งหลังพบว่ามีบัตรผู้สนับสนุนเสื้อแดง มีการกล่าวหาว่า ชายคนนั้นถูกการ์ดผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลหน่วงเหนี่ยวเป็นเวลาห้าวัน ถูกทุบตี จับมัดและทิ้งลงแม่น้ำบางปะกง[270][271] ผู้สนับสนุน กปปส. ชื่อ "ลิตเติลซัดดัม" ซึ่งถูกถ่ายภาพขณะบีบคอชายที่พยายามออกเสียงลงคะแนน ก็กำลังถูกค้นหา[272][273][274]

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ศูนย์รักษาความสงบ โดย นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงว่าจับ นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล และนายทศพล แก้วทิมา พร้อมการ์ดและผู้ร่วมกระทำผิดอีกจำนวนหนึ่ง รวมเป็นจำนวน 144 คน เป็นชาย 96 คน และหญิง 48 คน และจะดำเนินคดีตามความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 และมาตรา 11[275]ศูนย์รักษาความสงบแถลงว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 18 รายจากอาวุธปืนและเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557 กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล กปปส. นำโดยสุเทพ เดินขบวนรอบถนนกรุงเทพมหานคร จากสวนลุมพินีไปยังลานพระบรมรูปและรัฐสภา แล้วกลับมาสวนลุมพินีเพื่อยืนยันท่าทีว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งทั่วไป[276] ขณะที่พรรคการเมือง 53 พรรคเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45–60 วัน พรรคประชาธิปัตย์รับท่าทีของสุเทพ ซึ่งว่า พรรครัฐบาลเพื่อไทยจะใช้อำนาจที่ได้จากการเลืกอตั้งใหม่ผ่านกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทว่า พรรคไม่อธิบายเพิ่มเติมถึงการเข้าร่วมในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่มีแผน[276][277]วันที่ 1 เมษายน 2557 มีผู้ใช้อาวุธปืนยิง ส.อ.วสันต์ คำวงศ์ เสียชีวิต บริเวณทางด่วนแจ้งวัฒนะ

ณ เวทีชุมนุม กปปส. ที่สวนลุมพินีเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557 สุเทพปราศรัยผู้ชุมนุมและวางยุทธศาสตร์ในการรณรงค์เพื่อถอดถอนยิ่งลักษณ์จากบทบาทรักษาการนายกรัฐมนตรี เขาเรียกร้องให้เครือข่ายท้องถิ่น กปปส. รวบรวมรายชื่อสมาชิกทั่วประเทศและ "รอวันเผด็จศึก" โดยอธิบายต่อว่าเขาจะนำ "การต่อสู้ยืดเยื้อ" ซึ่งจะกินเวลา "อย่างน้อย 15 วัน" ผลลัพธ์ของทั้งสองเหตุการณ์ถูกนำเสนอว่าสำคัญต่อแนวทางการปฏิบัติในอนาคตของสุเทพ คือ คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ต่อยิ่งลักษณ์และคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่ายิ่งลักษณ์ละเมิดรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ ในกรณี ป.ป.ช. วินิจฉัยว่ามีความผิด สุเทพขอให้ผู้สนับสนุนรอคำสั่งต่อไป ทว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์มี่ความผิด สุเทพเรียกร้องให้มีการระดมมวลชนทันทีเพื่อให้เขาสวมบทบาท "องค์อธิปัตย์" เพื่อออกกฎบัตรใหม่ คล้ายกับผู้เผด็จการทหารในคริสต์ทศวรรษ 1960 สุเทพแถลงเป็นการยืนยันว่า "ผมจะสามารถสั่งให้ประหารใครก็ได้ด้วยชุดยิง แต่ผมจะเพียงอายัดทรัพย์สินเท่านั้น" หากเขาครองตำแหน่งปกครอง สุเทพแถลงว่า เขามีแผนแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามดุลยพินิจของตน ตามด้วยการกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เขาสามารถแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและ "สภาประชาชน" องค์กรนิติบัญญัติซึ่งมิได้มาจากการเลือกตั้งทั้งคู่ เพื่อดำเนินการ "ปฏิรูป" ประเทศ สุเทพยังแสดงการผูกมัดคืนอำนาจให้ประชาชนชาวไทยหลังนำการปฏิรูปไปปฏิบัติ แต่พูดถึงการประท้วงบนท้องถนนต่อไปหากรัฐบาลที่เขาแต่งตั้งไม่สามารถนำการปฏิรูปที่ กปปส. ชี้นำไปปฏิบัติได้สำเร็จ[278]

วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2557 เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส 2 ราย ทราบชื่อหนึ่งรายคือ นาย ศิริชัย เชียงแสน[279]

วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557 คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงกราดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม บาดเจ็บสาหัส 2 ราย ได้แก่ น.ส.ม่านฟ้า มุสิกะสินธร และ น.ส.ภาวิณี อุ่นเดช เนื่องจากถูกยิงเข้าที่หลัง บาดเจ็บ 3 ราย ได้แก่ น.ส.รุ่งอรุณ รถหวั่น นาย ศักดิ์ดา จำปาวงศ์ นาย ฤทธิชัย ช้างงาม [280]

วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 นายทหารนายหนึ่งกำลังรื้อถอนสิ่งกีดขวางที่วางใกล้จุดประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่แจ้งวัฒนะเมื่อการ์ดยิงปืนใส่เขา การโจมตีจบลงเมื่อการ์ดดูบัตรระบุรูปพรรณทหารของเขา[281]

วันที่ 1 พฤษภาคม เวลาประมาณ 22.00 น. เกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิด M79 ใส่เวทีชุมนุม กปปส.แจ้งวัฒนะ ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเป็นชายได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย และถูกส่งตัวมายัง รพ.มงกุฎวัฒนะ ทราบชื่อคือนายอติเทพ อ่อนจันทร์ [282]

วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เกิดเหตุการณ์ลอบยิง กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ได้แก่ นายนรายศ จันทร์เพ็ชร นายสมควร นวนขนาย และ นายมารุต เที่ยงลิ้ม

คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง

วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 สำนักนายกรัฐมนตรีย้ายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปเป็นเลขาธิการฯ แทนถวิล ต่อมาพลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พันตำรวจโท ทักษิณ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถวิลร้องศาลปกครองให้เพิกถอนการย้ายนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคมว่า การย้ายนั้นชอบด้วยกฎหมาย แต่ดุลยพินิจของการย้ายนั้นไม่มีเหตุผลอันสมควร เพราะไม่ปรากฏว่าถวิลปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือผิดพลาดหรือไม่ยอมตามนโยบายของรัฐบาล ศาลสั่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีย้ายถวิลกลับตำแหน่งเดิมภายในสี่สิบห้าวัน[283] สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศการย้ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2557 โดยมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 30 กันยายน 2554[284]

ต่อมา ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าการย้ายถวิลเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงกิจการปกติของรัฐบาล เอื้อประโยชน์ต่อสกุลชินวัตรหรือพรรคเพื่อไทย รัฐธรรมนูญห้ามมิให้ผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือรัฐมนตรี แทรกแซงกับกิจการปกติของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่นหรือพรรคการเมือง รวมทั้งการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง ลดตำแหน่งข้าราชการ หรือให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่ง[285]

วันที่ 3 เมษายน ศาลรัฐธรรมนูญตกลงรับวินิจฉัยคดี และสั่งให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงภายในสิบห้าวัน[285] มีการไต่สวนนัดสุดท้ายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557[286] และมีคำวินิจฉัยในวันรุ่งขึ้นทันทีคือ 7 พฤษภาคม 2557 ซึ่งชี้ว่านายกรัฐมนตรียังสามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ เพราะความเป็นรัฐมนตรียังคงมีอยู่ จนกว่ามีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ศาลวินิจฉัยว่าการย้ายถวิล เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี โดยว่า "พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ เป็นลุงของหลานอาของผู้ถูกร้อง ย่อมถือว่าเป็นเครือญาติของผู้ถูกร้อง จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและของประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาอำพรางหรือแอบแฝง เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)[287]" [288]

ศาลมีมติเอกฉันท์ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง นอกจากนี้ ศาลยังถอดถอนรัฐมนตรีอื่นอีกเก้าคน ที่ลงมติเห็นชอบการย้ายนี้[289][290] ซึ่งได้แก่ นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี, กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และพลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[291]

มีการจัดการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดรอบบริเวณศาล ระหว่างคำแถลงคำวินิจฉัยที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ และตุลาการออกจากศาลทันทีหลังคำแถลง[292] และมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดทำการตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 13 พฤษภาคม 2557[292] โดยศาลดูเหมือนกลับบรรทัดฐานของตนเอง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลยกฟ้องคำร้องคล้ายกันต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยอ้างเหตุผลว่า เขาออกจากตำแหน่งเมื่อยุบสภาผู้แทนราษฎร[293][294] นิวยอร์กไทมส์ยังแสดงความเห็นว่า ศาลบรรลุคำวินิจฉัยด้วย "ความเร็วผิดปกติ" เพราะมีคำวินิจฉัยเพียงหนึ่งวันหลังจากยิ่งลักษณ์ให้การต่อศาล[293] ด้านเดอะวอลสตรีทเจอร์นัล รายงานว่า มูลเหตุการถอดถอนยิ่งลักษณ์นั้น "ค่อนข้างคลุมเครือ"[295]

หลังฟังคำวินิจฉัย ยิ่งลักษณ์ออกมาแถลงการณ์ โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา[295] รัฐมนตรีที่เหลือเลือกนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี[296] ประธาน นปช.อธิบายคำวินิจฉัยดังกล่าวว่าเป็น "รัฐประหารโดยตุลาการ" และว่าพวกตนจะยังคงนัดหมายชุมนุม ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2557 ตามกำหนดเดิม[295]

การชุมนุมขับไล่รัฐบาลหลังถอดถอนนายกรัฐมนตรี

สุเทพเปิดฉากการประท้วงที่เรียกว่า "การต่อสู้ครั้งสุดท้าย" ด้วยระงับการสื่อข้อมูลจากภาครัฐ ตั้งแต่หลังเวลา 09.00 น. ของวันที่ 9 พฤษภาคม แกนนำระดับรองนำผู้ชุมนุมเดินขบวนไปประท้วงยังที่ทำการของสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบแอนะล็อกในส่วนกลาง ได้แก่ ไทยทีวีสีช่อง 3, ททบ.5, ช่อง 7 สี, โมเดิร์นไนน์ทีวี และเอ็นบีที แล้วค้างคืนที่นั่นเพื่อให้แน่ใจว่าสื่อเหล่านั้นจะไม่รายงานข่าวเบี่ยงเบนไปจากความจริง อย่างที่เคยกระทำ ซึ่ง สื่อเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล และต้องโน้มน้าวไม่ให้รายงานโฆษณาชวนเชื่อนิยมรัฐบาลอีกต่อไป เพราะเป็นการบิดเบือนความจริง โดยสุเทพตั้งใจขอความร่วมมือจากช่องโทรทัศน์เหล่านี้ให้แพร่ภาพคำแถลงของตนเมื่อได้ "ชัยชนะ" แล้ว ส่วนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และกลุ่มสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นฝั่งรัฐบาล และสนับสนุนฝากทักษินและเครือข่าย ได้ประณามการเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ว่า ผู้ชุมนุมกำลังคุกคามสิทธิพื้นฐานของสื่อมวลชนและเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลโดยปราศจากการแทรกแซง การรณรงค์คุกคามนี้ยังเคยเกิดขึ้นช่วงรณรงค์ปิดกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ด้วย[297] [298][299] [300]

ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมอันมีพระสุวิทย์ ธีรธมฺโมเป็นผู้นำ เดินขบวนไปยังสโมสรตำรวจ อันเป็นที่ตั้งของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยเกิดความรุนแรงระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจ ผู้ประท้วงรื้อรั้วลวดหนาม และเรียกร้องให้ ศอ.รส. ส่งผู้แทนมาเจรจากับพวกตนภายใน 5 นาที หลังเวลาผ่านไปตามคำขาด ผู้ประท้วงก็บุกรุกเข้าไป ทำให้ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำเข้าใส่จนผู้ประท้วงถอย ทำให้มีผู้ชุมนุม 4 คนบาดเจ็บ รวมทั้งพระสุวิทย์ ซึ่งปรากฏข่าวว่าอาพาธ ในวันที่ 10 พฤษภาคม[301]

รัฐประหาร

เมื่อเวลา 3.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึกในรูปของประกาศกองทัพบก โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 หลังประกาศกฎอัยการศึกแล้ว พลเอก ประยุทธ์ สั่งยุบ ศอ.รส. ซึ่งตั้งโดยรัฐบาลรักษาการ แล้วตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) โดยเป็นผู้บังคับบัญชาเอง กอ.รส. และสามารถเชิญตัวบุคคลมารายงานตัวได้ พลเอกประยุทธ์ยังสั่งให้ตำรวจ กองทัพเรือ กองทัพอากาศและกระทรวงกลาโหมอยู่ในบังคับของ กอ.รส.[302]

ในกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ทุกแห่ง[303] และมีการปิดกั้นถนนสายหลัก[304] เจ้าหน้าที่ยึดทำเนียบรัฐบาลคืนจากผู้ประท้วง กปปส.[305] และยังยึดสถานีโทรทัศน์ทุกแห่งในกรุงเทพมหานครและบางส่วนของประเทศ[306][307] ก่อนปิดบางสถานี รวมทั้งสถานีของ กปปส. และ นปช.[308] ภายหลัง พลเอก ประยุทธ์สั่งให้สื่อทั้งหมดแทนที่รายการปกติด้วยรายการของ กอ.รส. ทุกเมื่อตามที่เขาต้องการ[309] และกำหนดการห้ามเผยแพร่สารสนเทศที่อาจกระทบภารกิจของทหาร[310] เขายังสั่งให้หัวหน้าส่วนราชการทุกคนรายงานต่อเขา[311]

วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 กอ.รส. ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตและสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายงานต่อ กอ.รส. เพื่อควบคุมเนื้อหาออนไลน์[312]

รัฐบาลรักษาการแถลงว่า ไม่ได้รับการปรึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจของกองทัพ ทว่า กองทัพแถลงว่าท่าทีดังกล่าวมิใช่รัฐประหาร[313]

ทว่า ในเย็นวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ ประกาศผ่านการประกาศทางโทรทัศน์ว่า กองทัพควบคุมประเทศแล้ว[314] เป็นรัฐประหารต่อรัฐบาลรักษาการอย่างเป็นทางการ และมีการจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองขึ้น หลังรัฐประหารเมื่อเวลา 16:30 น. ผู้ประท้วง กปปส. แสดงความยินดีต่อการรัฐประหารในครั้งนี้ และรอท่าของแกนนำ แต่ระหว่างที่รอนั้นก็มีประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอนตัวออกจากสถานที่ดังกล่าว จนในที่สุดทั้งกลุ่ม นปช. และกลุ่ม กปปส. ก็ถอนตัวออกจากพื้นที่ตามคำสั่ง[315]

คสช.จับสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมือง หลังเชิญตัวมายังสโมสรทหารบกที่ถนนวิภาวดีรังสิตแล้วถูกนำตัวไปกักขังที่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์[316] ภายหลัง คสช.สั่งห้ามออกนอกเคหสถานเวลาค่ำคืนระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 5.00 น.[317] ทั้งออกประกาศฉบับที่ 11/2557ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ และ คสช.ได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่[318]

สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เปิดเผยว่า ตนพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ถอนรากถอนโคนอิทธิพลของทักษิณและพันธมิตรนับแต่การชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 เขากล่าวว่า ได้ติดต่อเป็นประจำผ่านแอพไลน์ ก่อนรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ติดต่อเขาว่า "คุณสุเทพ คุณกับมวลมหาประชาชน กปปส.เหนื่อยเกินไปแล้ว ต่อไป ขอเป็นหน้าที่กองทัพบกที่จะทำภารกิจนี้แทน" และกองทัพได้รับข้อเสนอของ กปปส. หลายอย่าง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร[319] ด้านโฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว แหล่งข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ "อารมณ์เสียมาก"[320]

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ผู้จัดการรายวัน เขียนว่า รัฐประหารรอบนี้จะต้องไม่เพียงหยุดความขัดแย้งทางการเมืองชั่วคราว ต้องถอนรากถอนโคน "ระบอบทักษิณ" และต้องประคองอยู่ใน "ช่วงเปลี่ยนผ่าน" โดยมี คสช. หรือองค์การสืบทอดอยู่ในอำนาจอีกอย่างน้อย 5 ปี[321]

ใกล้เคียง

วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2549 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975 วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา วิกฤตการเงิน ค.ศ. 1907 วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิกฤตการณ์การเมืองไทย_พ.ศ._2556–2557 http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2014/02/0... http://www.abc.net.au/news/2014-02-04/an-us-warns-... http://english.cntv.cn/20140202/100036.shtml http://www.china.org.cn/world/2013-12/04/content_3... http://bangkok.coconuts.co/2014/01/29/10000-police... http://bangkok.coconuts.co/2014/01/29/thailands-po... http://bangkok.coconuts.co/2014/03/17/afp-new-thai... http://america.aljazeera.com/opinions/2013/12/the-... http://www.aljazeera.com/news/asia-pacific/2014/01... http://www.aseanaffairs.com/thailand_news/politics...