ยุทธนาวี ของ วิกฤตการณ์ปากน้ำ

วันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) หมู่เรือรบฝรั่งเศสมาถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเวลา 17.00 น. โชคเข้าข้างฝรั่งเศสเมื่อฝนตกเกือบหนึ่งชั่วโมง พอแสงสุดท้ายเริ่มจางหายเรือรบเหล่านั้นก็แล่นเข้าสู่เจ้าพระยาโดยมีเรือกลไฟนำร่องฌองบัปติสต์เซย์ (Jean Baptist Say) เรือสินค้าเป็นเรือนำร่อง ติดตามด้วยเรือแองกงสตัง และเรือโกแมตเป็นขบวนเรียงตามกัน เข้าสู่ปากแม่น้ำ เมื่อเวลา 18.30 น. ทหารในป้อมพระจุลจอมเกล้าก็เริ่มยิงเพื่อเป็นสัญญาณเตือน 2 นัด แต่เรือรบฝรั่งเศสก็ยังคงแล่นเรื่อยมาอย่างเดิม ในนัดที่สามสยามได้ใช้กระสุนจริงยิงเตือน กระสุนตกลงในน้ำหน้าเรือฌองบัปติสต์เซย์ เมื่อเห็นฝรั่งเศสเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือน นัดที่สี่จากเรือปืน มกุฎราชกุมาร และ มูรธาวสิตสวัสดิ์ ก็เปิดฉากยิงเมื่อเวลา 18.50 น. เรือแองกองสตองได้ยิงตอบโต้กับป้อมในขณะที่โกแมตยิงสู้กับเรือปืนสยาม มีเรือขนาดเล็กที่บรรจุระเบิดถูกส่งมาพุ่งชนเรือฝรั่งเศสแต่พลาดเป้า การต่อสู้กินเวลาประมาณ 30 นาที

ความแม่นยำในการยิงของฝ่ายสยามน้อยและอาวุธที่ยิงได้ช้ากว่า ตอร์ปิโดระเบิดก่อนเวลาอันสมควร ทุ่นกีดขวางไม่เพียงพอ ในที่สุด พลเรือตรี อูว์มัน ก็พาเรือรบฝ่าการด่านของสยามเข้ามาได้ในความมืด และสามารถจมเรือปืนฝ่ายสยามได้หนึ่งลำ ส่วนอีกลำได้รับความเสียหายจากกระสุนปืน ทหารสยามตาย 10 นาย บาดเจ็บ 12 นาย ฝรั่งเศสได้รับความเสียหายน้อยกว่า ขณะที่ผ่านปากน้ำเรือฌองบัปติสต์เซย์ถูกยิงด้วยปืนใหญ่ ไปเกยตื้นที่แหลมลำพูราย เรือแองกงสตังและเรือโกแมตมีความเสียหายจากรอยกระสุนปืนแต่ก็แล่นผ่านไปได้ถึงกรุงเทพ จอดทอดสมออยู่ที่สถานทูตฝรั่งเศส[2] ทหารฝรั่งเศสตาย 3 นาย บาดเจ็บ 2 นาย เรือโกแมตถูกยิงได้รับความเสียหายมากกว่าเรือแองกงสตัง ป้อมของสยามไม่ได้รับความเสียหาย

ฝ่ายสยามเตรียมที่จะนำเรือพระที่นั่งมหาจักรีมาต่อสู้ แต่ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ[5]

ใกล้เคียง

วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2549 วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975 วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป วิกฤตการเงิน ค.ศ. 1907